
ชนิดของเครื่องแต่งกายที่เรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดของชาติพันธุ์ไทครั่ง ได้แก่ “ผ้าซิ่น” โดยหญิงไทครั่งนิยมนุ่งซิ่นที่เรียกว่า ซิ่นตีนจก แบบซิ่นตีนแดง คือ มีการวางลายบริเวณตีนจกให้มีส่วนของชายผ้าเป็นผ้าพื้นสีแดงความกว้างประมาณ 15 – 25 เซ็นติเมตร
สำหรับชายชาวไทครั่ง ในชีวิตประจำวันมักนุ่งโจงกระเบน นุ่งผ้าโสร่งตามะกอก ผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ ผ้าม่วงโรง สวมเสื้อผ้าฝ้าย เช่นเดียวกับแบบของสตรี โดยผ้าทุกชนิดฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ทอ และ
ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวไทครั่งก็คือผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งผู้ทอจะผ้าซิ่นชนิดนี้ตัวซิ่น นิยมทอด้วยเส้นไหมซึ่งผ่านการมัด ให้เป็นลวดลายแล้วทอสลับกับการขิดซึ่งเป็นลายเส้นตั้ง จากนั้นต่อด้วยตีนจกซึ่งทอด้วยฝ้าย ส่วนใหญ่นิยมทำพื้นเป็นสีแดง และทำลวดลายทรงเรขาคณิตซึ่งจะไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกแดงนี้บางครั้งก็ มีการทอตัวซิ่นเป็นผ้าไหมมัดหมี่ล้วนไม่สลับกับขิดก็ได้
รูปแบบของผ้าซิ่นไทครั่ง ที่หญิงชาวไทครั่งนิยมทอและนำมาสวมใส่เพื่อแสดงความเก่งกาจในด้านการทอมี 4 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
- ผ้าซิ่นหมี่โลด ตัวซิ่นใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอแบบต่อเนื่อง โดยไม่นำเอาเทคนิคอื่นเข้ามาผสม นิยมทำเป็นลายหมี่สำเภา หมี่จรวด หมี่โคม
- ผ้าซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่ สลับกับการทอด้วยเทคนิคขิด สำหรับการมัดหมี่นิยมทำเป็นลายนาค ลายหงส์ ส่วนลายขิดนิยมทำเป็นลายดอกจันทร์ ดอกแก้ว ขิดฟันปลา
- ผ้าซิ่นหมี่น้อย ใช้เทคนิคการมัดหมี่ ทอสลับด้วยการขัดสานธรรมดา ทำให้เกิดลายริ้ว เป็นแนวขนานกับลำตัว นิยมทอลายนาค ลายขอ
- ผ้าซิ่นก่าน เป็นซิ่นสองตะเข็บ นิยมทอเส้นยืนและเส้นพุ่งเป็นสีดำ ใช้เทคนิคการจกด้วยฝ้ายหรือไหมเป็นหลัก โดยซิ่นก่านยังแยกประเภทออกเป็นซิ่นซิ่วได้ โดยมีลักษณะแตกต่างที่บริเวณตัวซิ่น คือ “ซิ่นซิ่ว” จะทอลายขิดขวางกับลำตัวด้วยสีเขียว (ซิ่วในภาษาลาว หมายถึง สีเขียว) ซิ่นก่านนี้ส่วนที่เป็นหัวซิ่นนิยมใช้ผ้าฝ้ายหรือไหมกว้างประมาณ 1 คืบ ทอเป็นลายริ้วขนานกับลำตัว ด้วยสีแดง สีเหลือง สีขาว หรืออาจจะมีการทอสลับกับการทอขิดด้วย

|