มัดหมี่Xเทนเซล

โครงการสร้างอัตลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นถิ่นสู่การเป็นสินค้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

Discover 360° Exhibition

มัดหมี่Xเทนเซล

รายละเอียดโครงการ

มัดหมี่

วิถีชีวิตของผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดมักจะใช้เวลาว่างหลังจากการงานของตน เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และ ทอผ้า ผ้าที่ได้นั้นจะใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในพิธีกรรม และศาสนา โดยลวดลายที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ ฯลฯ

ผ้ามัดหมี่ ถือเป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ มัดหมี่เส้นพุ่ง มัดหมี่เส้นยืน และ มัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน สำหรับในจังหวัดพิษณุโลกนั้น นิยมทอผ้ามัดหมี่เส้นพุ่ง มีวิธีการทำคือ ใช้เชือกมัดกลุ่มเส้นด้ายเป็นปล้อง ๆ ตามแบบลวดลาย ก่อนนำไปย้อมสี จากนั้นแกะเชือกที่มัดกลุ่มเส้นด้ายออก บริเวณที่มัดจะไม่ติดสีที่ย้อม ทำให้เกิดลวดลายขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของคำเรียกว่า “มัดหมี่” เมื่อได้เส้นด้ายที่เกิดลวดลายแล้วจึงนำไปผ่านวิธีการต่าง ๆ จนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการทอ ผู้ทอจะต้องนำเส้นด้ายที่ผ่านการมัดและการย้อมสีแล้วนั้น มาเรียงทอขัดสานกันบนเครื่องมือที่เรียกว่ากี่ทอผ้าทีละเส้น จนกระทั่งได้เป็นผืนผ้าในที่สุด

เสน่ห์ของผ้ามัดหมี่ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในวงกว้างก็คือ ลักษณะเฉพาะของผืนผ้าที่มีรอยซึมของสีต่าง ๆ ซึ่งวิ่งไปตามเส้นใยในบริเวณที่ไม่ได้ถูกมัด เมื่อนำไปทอจะเกิดลักษณะความเหลื่อมล้ำของสีบนเส้นด้ายให้เห็น ต่างไปจากผ้าทอมือชนิดอื่น ๆ นับเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไทยที่เรีกยว่ามัดหมี่โดยแท้ ผ้ามัดหมี่แต่ละชิ้นนั้นมักไม่มีการซ้ำกัน ถึงแม้ว่าจะทำขึ้นด้วยการสีสันและลวดลายเดิมก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าทุกขั้นตอนของการประดิดประดอย ล้วนเกิดจากฝีมือของคนทั้งสิ้น ความพิเศษนี้เองทำให้เราสามารถพูดได้ว่าผ้ามัดหมี่แต่ละผืนมีเพียงชิ้นเดียวในโลก

เทนเซล

เส้นใยเทนเซล (Tencel) ที่ใช้ในโครงการฯ นับเป็นนวัตกรรมของเส้นใยที่ได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมสิ่งทอในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วิวัฒนาการของเทนเซล (Tencel) เริ่มมาจากนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ทำการทดลองผลิตเส้นใยจากเซลลูโลสของต้นไม้ได้สำเร็จ และผลิตเป็นเส้นใยเชิงอุตสาหกรรมได้จริงภายใต้บริษัท Courtaulds Fibres โดยตั้งชื่อเส้นใยชนิดนี้ว่าไลโอเซลล์ (Lyocell) จากนั้นได้มีการพัฒนาเส้นใยชนิดนี้ต่อมาอีกหลายครั้ง และมีการซื้อขายเทคโนโลยีไปในหลากหลายประเทศ เช่น ออสเตรีย รัสเซีย ฯลฯ ต่อมาราวปี ค.ศ. 1972 ผู้เชี่ยวชาญจากโรงงานเส้นใย Enka ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเส้นใยไลโอเซลล์ให้ดีขึ้น และตั้งชื่อว่าเทนเซล (Tencel)

เทนเซล (Tencel) ได้ชื่อว่าเป็นเส้นใยรักษ์โลก ด้วยเหตุที่ว่า ขั้นตอนการผลิตนั้นใช้ตัวทำละลายที่ไม่มีพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นำมาละลายเซลลูโลสจากเยื่อไม้โดยไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของเซลลูโลส จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการปั่นให้ออกมาเป็นเส้นด้ายด้วยกระบวนการที่ปลอดภัย กลายเป็นเส้นใยที่มีความละเอียด นุ่ม เงางาม เส้นใยเหนียว ระบายอากาศได้ดี นอกจากนั้นตัวทำละลายในกระบวนการผลิตยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 99.5% อีกด้วย

มัดหมี่เทนเซล

การพัฒนาผ้าทอในโครงการสร้างอัตลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นถิ่นสู่การเป็นสินค้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่พัฒนาผ้าทอร่วมกับกลุ่มทอผ้า จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าฝ้ายแกมไหมซำรัง กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง และกลุ่มแม่บ้านผารังหมี อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้เส้นใยฝ้ายและเส้นใยเทนเซล ลักษณะของผ้าทอเป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคมัดหมี่เส้นพุ่ง แบบหมี่คั่น คือ มีการทอสลับกันระหว่างการทอขัดสานธรรมดา การควบเส้นด้าย 2 สี ก่อนนำไปทอ การมัดหมี่ และการทอด้วยเทคนิคขิด รายละเอียดลวยลายและรูปแบบการสร้างลายของแต่ละกลุ่มทอผ้ามีดังนี้

กลุ่มทอผ้าฝ้ายแกมไหมซำรัง

กลุ่มทอผ้าฝ้ายแกมไหมซำรัง ใช้ด้ายเส้นยืนเป็นฝ้าย และด้ายเส้นพุ่งใช้เทนเซล มีลวดลายมัดหมี่ 2 ลาย คือ ลายขอการเวกและลายแม่น้ำ ทอสลับเทคนิคขิด การขัดสานธรรมดาและการควบเส้น

กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง

กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง ใช้ด้ายเส้นยืนเป็นฝ้าย และด้ายเส้นพุ่งใช้เทนเซล มีลวดลายมัดหมี่ 4 ลาย คือ ลายดอกดิน ลายช่อมะปราง ลายหมากนวลและลายผักแว่น ทอสลับการขัดสานธรรมดาและการควบเส้น

กลุ่มแม่บ้านผารังหมี

กลุ่มแม่บ้านผารังหมี ใช้ด้ายเส้นยืนเป็นฝ้าย และด้ายเส้นพุ่งใช้เทนเซลย้อมสีธรรมชาติ ประกอบด้วยสีจากเปลือกประดู่ ใบมะม่วง ใบสักและขมิ้น ใช้เทคนิคการทอขัดสานธรรมดาและการควบเส้น