Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 




 รูปแบบการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ไทนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันทุกกลุ่ม นั่นคือ ในอดีตหญิงชาวไทใช้เพียงผ้าผืนพันอก นุ่งผ้าถุง และโจงกระเบน ส่วนชาย นิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนทั้งแบบสั้นและแบบยาว เสริมด้วยการผูกผ้าขาวม้าบริเวณเอว และพาดบ่า จากนั้นเมื่อมีวัฒนธรรมการสวมเสื้อ จึงเกิดรูปแบบของเสื้อที่ยังคงมีความคล้ายคลึงกันเช่นเดิม คือ เสื้อแขนกระบอก คอกลม หรือบางกลุ่มอาจผ่าด้านหน้าและติดกระดุม ทั้งนี้ถึงแม้ว่ารูปแบบของเครื่องแต่งกายจะคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังมีลักษณะของความแตกต่างที่ระบุความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้ เช่น ลวดลายและสีสัน
                สำหรับชาติพันธุ์ไทครั่ง สีที่แสดงความเป็นชาวไทครั่งก็คือ สีแดงที่ย้อมจากครั่ง โดยลักษณะการแต่งกายของไทครั่ง ได้แก่ สตรีชาวไทครั่งมักสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีพื้น แขนกระบอก คอตั้ง หรือ คอกลม ผ่าด้านหน้า ติดกระดุม ซึ่งเสื้อดังกล่าวมี 2 แบบ ได้แก่ เสื้อแขนกระบอกยาวสีน้ำเงิน เรียกว่า “เสื้อดำ” ใช้ในโอกาศที่ออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน เช่น ทำไร่ ทำนา หาของป่า ฯลฯ และ เสื้อแขนกระบอกสั้นสีขาว เรียกว่า “เสื้อขาว” ใช้ในโอกาสที่อยู่กับบ้าน ประกอบพิธีกรรม หรือไปวัด โดยเสื้อทั้งสองแบบนั้นมีความพิเศษที่บริเวณสาบเสื้อ ริมเสื้อรอบตัว และตะเข็บเสื้อ เย็บด้วยด้ายสีแดงที่ย้อมจากครั่ง นอกจากนั้น วัฒนธรรมไทครั่งยังมีการนำด้ายสีแดงฝั้นเป็นเกลียวเย็บติดที่สาบกระดุม โดยทิ้งชายด้านบน และ ด้านล้านล่าง ให้ยาวเลยขอบออกมาประมาณ 5 เซ็นติเมตร ซึ่งลักษณะดังกล่าวนอกจากเพื่อความสวยงามแล้วยังแฝงเอาความเชื่อว่าจะทำให้อายุยืนยาวเอาไว้ด้วย

 

ชนิดของเครื่องแต่งกายที่เรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดของชาติพันธุ์ไทครั่ง ได้แก่ “ผ้าซิ่น” โดยหญิงไทครั่งนิยมนุ่งซิ่นที่เรียกว่า ซิ่นตีนจก แบบซิ่นตีนแดง คือ มีการวางลายบริเวณตีนจกให้มีส่วนของชายผ้าเป็นผ้าพื้นสีแดงความกว้างประมาณ 15 – 25 เซ็นติเมตร

                 สำหรับชายชาวไทครั่ง ในชีวิตประจำวันมักนุ่งโจงกระเบน นุ่งผ้าโสร่งตามะกอก ผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ ผ้าม่วงโรง สวมเสื้อผ้าฝ้าย เช่นเดียวกับแบบของสตรี โดยผ้าทุกชนิดฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ทอ และ
ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวไทครั่งก็คือผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งผู้ทอจะผ้าซิ่นชนิดนี้ตัวซิ่น นิยมทอด้วยเส้นไหมซึ่งผ่านการมัด ให้เป็นลวดลายแล้วทอสลับกับการขิดซึ่งเป็นลายเส้นตั้ง จากนั้นต่อด้วยตีนจกซึ่งทอด้วยฝ้าย ส่วนใหญ่นิยมทำพื้นเป็นสีแดง และทำลวดลายทรงเรขาคณิตซึ่งจะไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกแดงนี้บางครั้งก็ มีการทอตัวซิ่นเป็นผ้าไหมมัดหมี่ล้วนไม่สลับกับขิดก็ได้
รูปแบบของผ้าซิ่นไทครั่ง ที่หญิงชาวไทครั่งนิยมทอและนำมาสวมใส่เพื่อแสดงความเก่งกาจในด้านการทอมี 4 ชนิดด้วยกัน ดังนี้

  1. ผ้าซิ่นหมี่โลด ตัวซิ่นใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอแบบต่อเนื่อง โดยไม่นำเอาเทคนิคอื่นเข้ามาผสม นิยมทำเป็นลายหมี่สำเภา หมี่จรวด หมี่โคม
  2. ผ้าซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่ สลับกับการทอด้วยเทคนิคขิด สำหรับการมัดหมี่นิยมทำเป็นลายนาค ลายหงส์ ส่วนลายขิดนิยมทำเป็นลายดอกจันทร์ ดอกแก้ว ขิดฟันปลา
  3. ผ้าซิ่นหมี่น้อย ใช้เทคนิคการมัดหมี่ ทอสลับด้วยการขัดสานธรรมดา ทำให้เกิดลายริ้ว เป็นแนวขนานกับลำตัว นิยมทอลายนาค ลายขอ
  4. ผ้าซิ่นก่าน เป็นซิ่นสองตะเข็บ นิยมทอเส้นยืนและเส้นพุ่งเป็นสีดำ ใช้เทคนิคการจกด้วยฝ้ายหรือไหมเป็นหลัก โดยซิ่นก่านยังแยกประเภทออกเป็นซิ่นซิ่วได้ โดยมีลักษณะแตกต่างที่บริเวณตัวซิ่น คือ “ซิ่นซิ่ว” จะทอลายขิดขวางกับลำตัวด้วยสีเขียว (ซิ่วในภาษาลาว หมายถึง สีเขียว) ซิ่นก่านนี้ส่วนที่เป็นหัวซิ่นนิยมใช้ผ้าฝ้ายหรือไหมกว้างประมาณ 1 คืบ ทอเป็นลายริ้วขนานกับลำตัว ด้วยสีแดง สีเหลือง สีขาว หรืออาจจะมีการทอสลับกับการทอขิดด้วย

     

 

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย(ออนไลน์), แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/ethnic/Content/Information/laokhrang.html