Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 

                 ชาติพันธุ์ คือ การมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีนลาว เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมมีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาเดียวกันความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า “ สำนึก” ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์

                 ชาติพันธุ์ไทครั่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นักภาษาศาสตร์จัดให้อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกอีกหลากหลายชื่อ ได้แก่ ลาวครั่ง ลาวภูคัง ลาวเวียง ลาวกา และลาวเต่าเหลือง ทั้งนี้เอกลักษณ์ของสิ่งทอในวิถีชีวิตที่ใช้สีแดงครั่งเป็นหลักเช่นเดียวกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีบรรพบุรุษและภูมิลำเนาเดิมมาจากที่เดียวกัน ที่มาของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์สันนิษฐานได้ ดังนี้

           1. ลาวครั่ง ในปี พ.ศ. 2371 รัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ปราบศึกเจ้าอนุวงศ์ ได้มีกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ตามหัวเมืองน้อยใหญ่ในไทย ชาวไทครั่งก็เป็น กลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนั้น ชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์นี้มีข้อสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่ไทครั่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยนี่เอง ได้มีกลุ่มคนที่มาจากแถบ “ภูคัง” ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมปะปนมาด้วย เนื่องจากได้อพยพมาจากถิ่นดังกล่าวจึงทำให้คนทั่วไปเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ลาวภูคัง” ต่อมามีการออกเสียงผิดเพี้ยนไปจาก “คัง” เป็น “ครั่ง” จึงเกิดชื่อ “ลาวขี้ครั่ง” และ “ลาวครั่ง”

          2. ไทครั่ง ด้วยเหตุที่นักภาษาศาสตร์จัดชนกลุ่มดังกล่าวให้อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได และวัฒนธรรมการย้อมสีเส้นใยฝ้าย และไหม ด้วยครั่งของชนกลุ่มนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า “ไทครั่ง”

           3. ลาวเวียง ชนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “ลาวเวียง” เนื่องจากย้ายถิ่นมาจากแขวงเวียงจันทร์ ประเทศลาว

           4. ลาวกา ถูกเรียกว่า “ลาวกา” เนื่องจากย้ายถิ่นมาจากประเทศลาว และมีอุปนิสัยพูดจาด้วยเสียงอันดังคล้ายกับนกกา สำหรับคำว่าลาวกานี้ เป็นคำเรียกที่กลุ่มชนไม่ยอมรับ

            5. ลาวเต่าเหลือง บางครั่งเรียก “ลาวเต่าเหลือง” เพราะนิสัยของชนกลุ่มนี้ชอบอยู่เป็นอิสระตามป่าเขาเหมือนกับเต่าภูเขาชนิดหนึ่งที่มีกระดองสีเหลือง ซึ่งมีความอดทนต่อสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ (ประจบ ผดุงฉัตร และ สุรีย์พร ผดุงฉัตร, 2553)
ชาวไทครั่งมีการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนกันอยู่หลายครั้งจนกระทั่งเข้าสู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีการปรับเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ชาวไทครั่งได้ย้ายถิ่นเข้ามาตั้งหลักแหล่งถาวรในเขต อ.จรเข้สามพัน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวลาวครั่งอยู่ 3 ชุมชนใหญ่ๆ คือ บ้านสระพังลาน บ้านใหม่คลองตัน และบ้านหนองตาสาม นอกจากนั้นยังมีชาวไทครั่งกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของนายกองแดง ได้พาญาติพี่น้องมาจากทุ่งสัมพะบด อ.หันคา และ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองโคก อ.สระกระโจม จ. สุพรรณบุรี (คนึงนุช, 2537 : 38)

               นอกจากนี้กลุ่มชาวไทครั่งยังได้อพยพเคลื่อนย้ายครอบครัวไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น กลุ่มลาวจากบ้านเก่าคำเวียง (ขามเรียง, คำเดือน) ในเขต อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และไทครั่งใน อ.สองพี่น้อง ก็อพยพโยกย้ายไปบุกเบิกที่ทำกินใหม่ ในเขตพื้นที่บ้านทุ่งตาเปรี้ยว อ.พรหมพิราม และ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก บ้านเกาะน้อยตะวันออก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บ้านโค้งวิไล อ.คลองขลุง จ. กำแพงเพชร อ.บรรณพตพิสัย จ. นครสวรรค์ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท อ.บ้านไร่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี บ้านลำไม้เสา บ้านโกแย้ บ้านหนองปลาไหล บ้านโกสูง บ้านทุ่งมะกรูดี บ้านทุ่งไม้หลง บ้านลำเหย บ้านเสืออีด่าง บ้านรวงมุก อ.กำแพงแสน และบ้านโพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ. นครปฐม

                 ลักษณะโดยทั่วไป ลักษณะโดยทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งมีรูปร่างค่อนข้างไปทางสูงหรือสันทัด ทั้งหญิงและชายผิวค่อนข้องเหลือง ตาสองชั้น ใบหน้าไม่เหลี่ยมมาก จมูกมีสันผมเหยียดตรง ชอบนุ่งผ้าซิ่นคลุมเข่า นุ่งซิ่นหมี่มีดอก ลาวครั่งมีเอกลักษณ์ มีเอกลักษณ์ในเรื่องการย้อมผ้า โดยใช้สีแดงครั่งเป็นสีหลักและใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลต่าง ๆ มีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ มีทั้งฝ่ายเข้านายและฝ่ายเทวดา ซึ่งมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนลาวครั่งเป็นอย่างมากชาติพันธุ์ไทครั่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นักภาษาศาสตร์จัดให้อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะไดกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกอีกหลากหลายชื่อ ได้แก่ ลาวครั่ง ลาวภูคังลาวเวียง ลาวกา และลาวเต่าเหลือง ทั้งนี้เอกลักษณ์ของสิ่งทอในวิถีชีวิตที่ใช้สีแดงครั่งเป็นหลักเช่นเดียวกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีบรรพบุรุษและภูมิลำเนาเดิมมาจากที่เดียวกัน ที่มาของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์สันนิษฐานได้ ดังนี้ในปี พ.ศ. 2371 รัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ปราบศึกเจ้าอนุวงศ์ ได้มีกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ตามหัวเมืองน้อยใหญ่ของประเทศไทย ชาวไทครั่งก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนั้น ชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์นี้มีข้อสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่ไทครั่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยนี่เอง ได้มีกลุ่มคนที่มาจากแถบ “ภูคัง” ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมปะปนมาด้วย เนื่องจากได้อพยพมาจากถิ่นดังกล่าวจึงทำให้คนทั่วไป เรียก คนกลุ่มนี้ว่า “ลาวภูคัง” ต่อมามีการออกเสียงผิดเพี้ยนกันไปจาก “คัง” เป็น “ครั่ง” จึงเกิดชื่อ“ลาวขี้ครั่ง”และ “ลาวครั่ง”

 

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย(ออนไลน์), แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/ethnic/Content/Information/laokhrang.html