พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ผ้าทอไท-ยวน

ผ้าทอไท-ยวน ราชบุรี

ผ้าในวัฒนธรรมไทย-ยวน ราชบุรี

ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ราชบุรี

อัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ของบรรพบุรุษ

ผ้าซิ่นตีนจกไทยวน จังหวัดราชบุรี ถือเป็นงานผ้าทอของชาวไทยวนที่มีลักษณะและเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว มีความละเอียดอ่อนทั้งด้านการเลือกใช้สีสัน และความวิจิตรงดงามของลวดลายที่ประณีต ลักษณะพิเศษของสีสันนิยมใช้สีแดงเป็นพื้น ทั้งแดงสด และแดงคร่ำ เพราะเชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งพลังและความสดใสผ้าซิ่นตีนจกของชาวไทยวน ในจังหวัดราชบุรี ที่พบเห็นโดยทั่วไป มี 3 ลักษณะ ประกอบด้วย


ลักษณะผ้าซิ่นจะมีแถบผ้าจกเฉพาะส่วนตีนซิ่นนำมาเย็บต่อกับตัวซิ่นโดยตัวซิ่นนิยมเป็นผ้าพื้นสีดำหรือสีครามเข้ม หรือตัวซิ่นอาจใช้เทคนิคการทอด้วยวิธียกมุกร่วมด้วย ส่วนหัวซิ่นซึ่งอยู่ส่วนบนสุดเป็นผ้าพื้นสีขาวและสีแดงเย็บต่อกัน โดยให้ผ้าพื้นสีขาวอยู่ส่วนบนสุดของหัวผ้าซิ่นและผ้าพื้นสีแดงอยู่ติดกับตัวผ้าซิ่น ผ้าแถบสีขาวและแถบสีแดงนั้นจะต้องเป็นผ้าคนละผืนนำมาเย็บติดกัน ส่วนตีนซิ่นที่เป็นแถบผ้าจกนั้นทอตกแต่งลวดลายด้วยเทคนิคจกที่ละเอียดงดงามด้วยทักษะฝีมือของช่างทอนิยมใช้เส้นฝ้ายหรือเส้นไหม สีแดง สีดำ สีเหลือง เป็นสีหลัก และสีขาว สีเขียว สีน้ำตาลเป็นสีประกอบ ลวดลายที่นิยมทอจกในส่วนตีนซิ่นของผ้าซิ่นตีนจก ราชบุรี เช่น ลายดอกเซีย ลายหักนกคู่ ลายโก้งเก้ง ลายหน้าหมอน ลายนกคู่กินนาฮ่วมเต้า เป็นต้น และส่วนล่างสุดของตีนซิ่นจะทอเป็นผ้าพื้นลายริ้วสีเหลือง หรือสีเหลืองและสีแดงขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เรียกว่า “เล็บ” หรือ “เล็บเหลือง” ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าซิ่นไทยวน ราชบุรี ผ้าซิ่นตีนจก ที่มีลวดลายงดงามแสดงถึงฝีมือช่างทอ และเอกลักษณ์ของชาวไทยวนลักษณะนี้พบมากในชุมชนชาวไทยวนที่ตำบลคูบัว ตำบลดอนแร่ ตำบลรางบัว จังหวัดราชบุรี

ลักษณะผ้าซิ่นจะมีตัวซิ่น และตีนซิ่นทอด้วยเทคนิคการจก แต่ทอเป็นผ้าคนละชิ้นแล้วนำมาเย็บต่อเป็นผืนเดียวกัน ลวดลายจกที่นิยมทอในส่วนของตัวซิ่นโดยรอบตัวซิ่น เช่น ลายกูด ลายนก ลายมะลิเลื้อย เป็นต้น ส่วนตีนซิ่นยังคงนิยมทอจกด้วยลวดลายเอกลักษณ์ของชาวไทยวนราชบุรีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เช่น ลายดอกเซีย ลายกาบ ลายหน้าหมอน ลายโก้งเก้ง ลายกาบดอกแก้ว ลายโก้งเก้งซ้อนเซ๊ย ลายกาบซ้อนหัก ลายหักนกคู่ และลายแคทราย ส่วนหัวซิ่นมีลักษณะเช่นเดียวกับซิ่นตีนจกโดยใช้ผ้าพื้นสีขาวและสีแดงเย็บต่อกันและนำมาเย็บต่อเป็นส่วนหัวซิ่น ผ้าซิ่นตีนจกที่มีการจกทั้งตัวชนิดนี้ นับว่าเป็นผลงานทางศิลปหัตถกรรมชั้นสูงของช่างทอไทยวนบ้านคูบัว ราชบุรีเลยทีเดียว

ลักษณะผ้าซิ่นชนิดนี้ส่วนของตัวซิ่นทอด้วยวิธียกมุก สลับด้วยการทอแบบมัดหมี่ภาคอีสาน ลักษณะของลวดลายตามแนวขวางตลอดตัวผืนผ้าซิ่น นิยมทอด้วยไหม แต่มีส่วนของตีนซิ่นทอด้วยวิธีจกเหมือนตัวซิ่นตีนจกทั่วไป และส่วนหัวซิ่นจะมีลักษณะเช่นเดียวกับซิ่นตีนจกในเอกลักษณ์ของชาวไทยวน โดยใช้ผ้าพื้นสีขาวและสีแดงเย็บต่อกันและนำมาเย็บต่อเป็นส่วนหัวซิ่นอดีตผ้าซิ่นในลักษณะนี้พบมากในชุมชนชาวไทยวนบริเวณตำบลหนองโพ บางกะโด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี แต่ในปัจจุบันอาจพบได้น้อยมาก


พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง

ผ้าทอไท-ยวน