พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ผ้าทอไท-ยวน

พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง

ผ้าทอไท-ยวน

อัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ของบรรพบุรุษ

ผ้าทอไทยวน ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนโยนก เชียงแสนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิดของตนที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การทอผ้าจกถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มชนที่มีเชื้อสายไทยวนโยนก ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ผ้าจกนั้นถือกันว่ามีคุณค่ามาก ด้วยเทคนิคการทอจก ต้องใช้ความสามารถ และความอุตสาหะของช่างทอสูง ชาวไทยวน จึงนิยมใช้ผ้าในโอกาสพิเศษเท่านั้น ในอดีตผู้หญิงไทยวนจะต้องฝึกหัดทอผ้าขึ้นใช้เอง ทั้งผ้าซิ่นและผ้าที่ใช้ในวิถีชีวิต ผู้หญิงชาวไทยวนทุกคนจะต้องทอผ้าซิ่นตีนจกให้เป็น เพราะมีค่านิยมว่า การทอผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และผู้หญิงคนใดที่มีความสามารถทอผ้าจกได้ ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติของกุลสตรีเหมาะสมที่จะออกเรือนไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนได้ ผ้าทอไทยวนจึงมีความเกี่ยวข้อง และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทยวนตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวไทยวนจะทอผ้าไว้ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามประเพณี วัฒนธรรมและศรัทธาความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา ผ้าบางชนิดทอขึ้นเพื่อใช้เพียงครั้งเดียวในชีวิต บางชนิดก็เป็นผ้าที่ใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนา บางชนิดก็ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าปรกหัวนาค เป็นผ้าที่ทอขึ้นใช้คลุมหัวนาคในขณะที่แห่นาคไปบวช ผ้าที่ใช้เป็นผ้าไหว้ ที่ฝ่ายหญิงจะเตรียมไว้ก่อนวันแต่งงานเพื่อขอขมาต่อพ่อ แม่สามี หรือญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามี ย่ามจกที่ทอขึ้นเป็นพิเศษมีลวดลายที่วิจิตรงดงามใช้ถวายพระภิกษุไว้ใช้ใส่สัมภาระต่างๆ หรือผ้าที่ทอไว้สำหรับคลุมศพในเวลาที่เสียชีวิต หรือคลุมโลงศพในงานศพ เป็นต้น

ผู้หญิงชาวไทยวนมีความสามารถในการทอผ้า เมื่อมีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็ได้นำภูมิปัญญาศิลปะการทอผ้าจกที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวไทยวนเมืองเชียงแสนที่มีอยู่ในสายเลือดติดตัวมาด้วยดังเช่นกลุ่มไทยวนที่ได้ตั้งถิ่นที่อยู่อย่างเป็นหลักแหล่งที่จังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะที่บ้านคูบัว ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณ 200 กว่าปีล่วงมาแล้ว ก็ได้มีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าจกที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมธรรมของชาวไทยวน จนกลายเป็นผ้าทอพื้นเมืองแห่งบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงจวบจนปัจจุบันนี้

ชาวไทยวนราชบุรี มีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่มีความพิเศษที่แสดงถึงเอกลักษณ์ที่เด่นชัดโดยเฉพาะ ผ้าซิ่น ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายหลักของสตรี ผ้าซิ่นในชีวิตประจำวันของสตรีไทยวนที่สำคัญ เช่นซิ่นตีนจก ซิ่นตา ซิ่นซิ่ว (ซิ่นสีเขียว) ซิ่นแล่ โดยโครงสร้างผ้าซิ่นจะประกอบด้วยผ้า 3 ส่วน แต่ละส่วนคือผ้าคนละชิ้นที่นำมาเย็บประกอบกัน ผ้าซิ่นทุกประเภทของชาวไทยวนต้องมีหัวซิ่น โดยหัวซิ่นจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวเย็บต่อกับผ้าสีแดงซึ่งอยู่ติดกับตัวซิ่น (ผ้าสีขาว และผ้าสีแดงจะต้องเป็นผ้าคนละผืนนำมาเย็บติดกันจึงจะถูกตามเอกลักษณฎ์ดั้งเดิมของผ้าซิ่นชาวไทยวนแต่โบราณ) ส่วนตัวซิ่นก็จะมีลักษณะแตกต่างกันตามชนิดของซิ่น เช่นซิ่นตีนจก ตัวซิ่นจะทอเป็นผ้ายกมุกลายต่างๆ ซิ่นตาตัวซิ่นทอเป็นพื้นสีแดงจกดอกประกอบเป็นระยะพุ่งด้วยสีดำเป็นแถบพื้น ซิ่นแล่ทอเป็นพื้นสีดำตลอดทั้งตัวซิ่นมีแถบสีแดงเชื่อมต่อกับตีนซิ่น หรือซิ่นซิ่วทอเป็นผ้าพื้นยกดอกสีเขียวตลอดทั้งตัวและทอจกคั่นระหว่างตัวซิ่นกับตีนซิ่น เช่นนี้เป็นต้น ส่วนตีนซิ่นเป็นส่วนที่นำมาต่อกับตัวซิ่นซึ่งเป็นส่วนล่างสุด ผ้าทอไทยวนที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดคือ การต่อตีนซิ่นด้วยผ้าที่ใช้กรรมวิธีการจก จึงเรียกว่า ผ้าซิ่นตีนจก


พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง

ผ้าทอไท-ยวน