สงกรานต์ เทศกาลนี้ไม่ได้มีแค่ไทย

สงกรานต์ เทศกาลนี้ไม่ได้มีแค่ไทย

     ในเดือนเมษายนมีเทศกาลที่สำคัญอยู่อีกหนึ่งเทศกาล ซึ่งคนไทยทั้งประเทศถือเป็นวันขึ้นปีใหม่และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ และยังเป็นวันที่หลายคนรอคอย เพราะเป็นวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน จึงเป็นโอกาสดีในการเดินทางกลับบ้านเพื่อทำบุญกับครอบครัว นั่นก็คือ “เทศกาลสงกรานต์” โดยจะมีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันเพื่อคลายความร้อนในช่วงเดือนเมษายน อีกทั้งยังสร้างความสนุกสนานให้กับคนทุกเพศทุกวัยเพราะหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้าย ซึ่งหมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีใดราศีหนึ่ง แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ คือ ในเดือนเมษายน เรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” เพราะถือว่าเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นปีใหม่ และการตั้งต้นวันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ ๑๓ เมษายนนั้น เป็นไปตามธรรมเนียมของอินเดียฝ่ายเหนือ วัฒนธรรมนี้ได้แพร่ขยายมาในดินแดนใกล้เคียง ทั้งศรีลังกาและสุวรรณภูมิ เทศกาลสงกรานต์จึงไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลเดียวกัน ได้ยึดถือมาเป็นประเพณีปฏิบัติของตน แต่อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ

สงกรานต์ไทย

11425596
      วันสงกรานต์ของไทยกำหนดไว้ ๓ วันด้วยกัน คือ วันที่ ๑๓ ถึง ๑๕ เมษายนของทุกปี วันที่ ๑๓ เมษายน วันมหาสงกรานต์ หรือวันส่งท้ายปีเก่า เป็นวันทำความสะอาดใหญ่ ชำระล้างร่างกายและจิตใจให้ใสสะอาด เริ่มมีการเล่นสาดน้ำเป็นวันแรก  วันที่ ๑๔ วันกลาง หรือวันเนา เป็นวันที่มักมีการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านมากมาย เช่น ขนทรายเข้าวัด การก่อเจดีย์ทราย สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้ วันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุด้วย วันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันเถลิงศก หมายถึง วันขึ้นศกใหม่ เป็นวันทำบุญตักบาตรต้อนรับปีใหม่ และยังนิยมทำกิจกรรมที่การกุศลอื่น ๆ เช่น การปล่อยนกปล่อยปลา อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการขอขมา และขอพรปีใหม่เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ตลอดจนจัดให้มีการสรงน้ำพระ สงฆ์น้ำพระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง

สงกรานต์ลาว

11425598

     เทศกาลสงกรานต์ลาว จะจัดขึ้น ๓ วัน วันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปและรับสิ่งใหม่เข้ามา วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” วันแห่งครอบครัว มีญาติพี่น้องมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ใหญ่ และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” หรือวันปีใหม่ จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยพรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาร ซึ่งคือนางสงกรานต์ของลาว นอกจากนี้ยังมีการละเล่นอื่นๆ อีกด้วย เช่น เล่นสะบ้า เล่นงูกินหาง เป็นต้น

     สำหรับเทศกาลสงกรานต์ของประเทศลาวที่โด่งดังนั้นก็คือ เทศกาลสงกรานต์หลวงพะบาง ซึ่งในเมืองนี้ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกันมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในหลายจังหวัดที่มีชายแดนติดกันระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับประเทศไทยก็มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ร่วมกันอีกด้วย อย่างสงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดินที่จังหวัดนครพนม ถือเป็นการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

สงกรานต์กัมพูชา

11425595

      เทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชา เป็นประเพณีโบราณเรียกกันว่า “โจลชนัมทเมย” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเช่นเดียวกันประเทศไทย โดยจะจัดตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ ๑๓-๑๕ หรือ ๑๔-๑๖ เมษายน

      เทศกาลสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจะมีกิจกรรมคล้าย ๆ กับไทย คือ มีการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน โดยจะแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น ๓ วัน วันแรกชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว พ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน อาจจะมีการให้ของขวัญกันเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย ในช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่างๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล

สงกรานต์ในพม่า

11425597

     ประเพณีสงกรานต์ของประเทศพม่ามีความเป็นมายาวนานโดยในอดีตนั้นประเทศพม่าได้มีการประกอบพิธีสงกรานต์ ตามความเชื่ออยู่ ๓ ประการ ได้แก่
๑. พิธีชำระสระเกศของพระราชา มีกำหนดเจ็ดวันครั้งไปจนถึงเดือนละครั้ง เรียกว่า “ปกติสงกรานต์”
๒. พิธีสรงสนานชำระสระเกศาของพระมหากษัตริย์เพื่อความรุ่งเรืองของแผ่นดิน เสริมดวงพระชะตาหรือเพื่อขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยต่างๆ ของบ้านเมือง เรียกว่า “พระสงกรานต์อย่างกลาง”
๓. พิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อบูชาเทวดานพเคราะห์ในวันก่อนที่จะจัดให้มีพิธีรับเครื่องราชสักการะ ซึ่งมักจะเป็นวันเถลิงศกหรือไม่ก็เป็นวันบรมราชาภิเษก เรียกว่า “พระมหาสงกรานต์ใหญ่” หรือ “วันเรียกพระสงกรานต์”

     ชาวพม่าเรียกเทศกาลสงกรานต์ว่า “ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เหย่มะแวด่อ” โดยทางการจะประกาศเป็นวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนประกอบกิจกรรมตามประเพณี ซึ่งชาวพม่าถือว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการสร้างบุญกุศล จึงนิยมเข้าวัดทำบุญ รักษาศีล และยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมการขจัดปัดเป่าและชำระล้างมลทินทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายและสระผมให้สะอาดหมดจดในช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายราศีเก่าและเข้าสู่ราศีใหม่หรือปีใหม่ รวมทั้งปัดกวาดทำความสะอาดบ้านช่อง เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป และเปิดรับสิ่งใหม่ที่เป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีประเพณีการจัดอาหารคาวหวานไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีลักษณะคล้ายกับธรรมเนียมทางภาคเหนือของไทยเรียกว่า การ “รดน้ำดำหัว”

      ในปัจจุบันนี้ หากพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงสงกรานต์ที่ประเทศไทยเป็นอันดับแรก และคนไทยหลาย ๆ คนก็มักจะคิดว่าเทศกาลนี้มีเพียงแค่ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ทั้งที่จริงแล้ว “สงกรานต์” เป็นประเพณีร่วมของคนที่นับถือพระพุทธศาสนา และผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบอาเซียนเช่นกัน

นาย ธีรวัฒน์ ศรีจันทร์ นิสิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๑ เมษายน ๒๕๕๙

ที่มา
http://www.oceansmile.com/Lao/Festival.htm
http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php?id_count_inform=11165
http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4858
http://www.tkpark.or.th/