พิพิธภัณฑ์ผ้า

พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
ตั้งอยู่ที่ อาคารอเนกประสงค์ ประกอบไปด้วย 

     ผ้าทอไทย ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวไทย ที่นำ “ฝ้าย” ผลผลิตของประเทศมาผลิตเป็นผ้าทอมือลวดลายต่าง ๆ มีเสน่ห์ในตัวเอง สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละภาค ทำให้คนไทยในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ผ้าทอไทยและใส่ใจกับภูมิปัญญาชาวบ้านมากยิ่งขึ้น

     สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีวิสัยทัศน์ กว้างไกล เล็งเห็นถึงการเพิ่มศักยภาพผ้าทอไทยยกระดับสู่เวทีระดับโลก จึงเกิดโครงการอันเนื่องมาจากในพระราชดำริหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการ “ร้านจิตรลดา” โดยในปี พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยนเรศวรเล็งเห็นความสำคัญของการสานต่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้านผ้าทอที่นับวันจะเลือนหายไปตามกาลเวลา การริเริ่มรวบรวมผลิตภัณฑ์จากผ้าประเภทต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงร่วมกับโครงการ “ร้านจิตรลดา” เป็นโครงการเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สนับสนุนงบประมาณเกิดเป็น “พิพิธภัณฑ์ผ้า” ม.นเรศวร จัดแสดงผ้าฝ้าย และผลิตภัณฑ์จากโครงการ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542 โดยได้จัดแสดงฉลองพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่ ม.นเรศวร มาจนถึงทุกวันนี้

     นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผ้าและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีการอพยพเข้ามาและมีอยู่เดิมในเขตภาคเหนือ ผ้าโบราณ ที่มีการนำมาใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิ กลุ่มไทครั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศลาวเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 นิทรรศการวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา และการรวบรวมผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากแหล่งต่าง ๆ ภายในประเทศมาจำหน่ายภายในพิพิธภัณฑ์

      “พิพิธภัณฑ์ผ้า”  คือ สิ่งที่สะท้อนความมีเสน่ห์ เอกลักษณ์ที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตและแนวคิด ต่าง ๆ สื่อความหมายลงบนผืนผ้า แต่กว่าที่จะมาเป็นผืนผ้าแต่ละผืน จุดเริ่มต้นของกระบวนการต่าง ๆ ม.นเรศวร ได้มองเห็นถึงความสำคัญการนำเสนอ แหล่งความรู้ที่สอดคล้องกับวิวัฒนาการในการดำรงชีวิตของมนุษย์ กว่าจะมีมาเป็นผ้า จึงเป็นแนวคิดในการจัดตั้ง

ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย

27066501

ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานฝีมือจากแหล่งต่าง ๆ ในประเทศ และของที่ระลึกมหาวิทยาลัยนเรศวร
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการผ้า

1.ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา

chitralada1

chitralada

27066502

     จัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ , ผ้ายกลายโบราณ ซึ่งโปรดให้โครงการศิลปาชีพอนุรักษ์ไว้ , ของที่ระลึกสำหรับข้าราชบริพาร , ของที่จัดทำในวาระ 72 พรรษามหาราช ,จัดแสดงผ้าไหมและผ้าฝ้ายจากร้านจิตรลดาโครงการผ้าจิตรลดา ร้านจิตรลดาในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของท่านผู้หญิงมณีรันต์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ผู้รับสนองพระราชดำริ ดำเนินงานในโครงการศิลปาชีพ เพื่อให้เป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ฝีมือชาวนา ชาวไร่ทั่วประเทศที่ได้รับการอบรมเพื่อประกอบอาชีพเสริม เป็นการเพิ่มรายได้นอกฤดูทำนาทำไร่ รายได้ที่เหลือจากจ่ายค่าตอบแทน นำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงใช้ในการฝึกอาชีพต่อไป ผลิตภัณฑ์ที่ร้านจิตรลดานำมาเผยแพร่ และจำหน่ายมีทั้งงานทอ ถัก ปัก เย็บ และงานประดิษฐ์ต่างๆ นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมการทอผ้าฝ้ายด้วยมืออย่างกว้างขวาง เพราะผ้าฝ้ายใช้ประโยชน์ได้มากส่วนผ้าไหมนั้นมีทั้งการทอผ้าไหมพื้น ผ้าไหมยก และผ้าไหมยกดิ้น รวมทั้งยังสนับสนุนการทอผ้าพื้นบ้านอีกด้วย

2.ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไทครั่ง

taikrung2555

ดูห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไทยครั่งเสมือนจริงที่นี่ //www.nuac.nu.ac.th/thaikrang/

    จัดแสดงวัฒนธรรมและผ้าโบราณของกลุ่มไทครั่งซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศลาวเมื่อสมัยราชกาลที่ 3 และมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือตอนล่าง ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าจนถึงปัจจุบัน ชาวไทครั่งทอผ้าใช้เองในชีวิตประจำวัน และอุทิศในพระพุทธศาสนาเช่น ตุง(ธง) ผ้าปกหัวนาค และผ้าห่อคัมภรี์ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าทอไทครั่งจะให้สีสันที่เข้ม ร้อนแรง โดยใช้สีตัดกัน ส่วนใหญ่จะเน้นที่สีแดงครั่งตัดกับสีเหลือง สีส้มหมากสุก สีคราม หญิงชาวไทครั่งมักจะนุ่งซิ่นเป็นเอกลักษณ์ และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยจะนุ่งซิ่นตีนจกไปร่วมพิธี เพราะซิ่นตีนจกเปรียบเสมือนสิ่งสำคัญที่มีความหมายสื่อถึงอำนาจลี้ลับในธรรมชาติ

3.ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไททรงดำ กับเอกลักษณ์การนุ่งห่มด้วยสีดำ และวัฒนธรรมการนับถือผี

thaidam

     จัดแสดงผ้าของกลุ่ม “ไททรงดำ” สัมผัสเอกลักษณ์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสีดำ พร้อมข้าวของเครื่องใช้ และหลากหลายพิธีกรรมความเชื่อของกลุ่มชนไททรงดำหรือไทดำ ลาวซ่งดำ ลาวโซ่ง กลุ่มชนที่อพยพจากเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัย กรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ 3 มาอาศัยอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น พิษณุโลก, พิจิตร, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ลพบุรี, นครปฐม, เลย เป็นต้น

     ร่วมศึกษาวัฒนธรรมผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อฮี, เสื้อก้อม, เสื้อไท, ผ้าซิ่นลายแตงโม, กางเกงขาสั้น, ผ้าเปียว (ผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยง), หมวก รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋า, ย่าม, ที่นอน, หมอน, มุ้ง และภาชนะสารพัดชนิด เช่น กระแอบ, ขมุก, ปานเผือน, ปานเสน, ข้าไก่ไค่, ตะข้องอีเบ็ด, โฮ่, กะเหลบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่สืบทอดกันมา เช่น งานเสนเรือนหรืองานเลี้ยงผี ได้แก่ ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ผีบรรพบุรุษ โดยจะต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอยู่ตลอดเวลา และจะมีพิธีใหญ่ที่เรียกว่าเสนเรือน ๒-๕ ปีต่อครั้ง เพื่อให้ผีปกปักรักษาคนในครอบครัว

4.ห้องนิทรรศการหมุนเวียน

page4


จัดแสดงนิทรรศการผ้าในรูปแบบลักษณะหมุนเวียน

5. ห้องสมุด

book
ข้อมูลเกี่ยวกับผ้าในรูปแบบของหนังสือ บทความ งานวิจัย วีดิทัศน์และซีดีรอม
เข้าเยี่ยมชม ฟรี เบอร์ติดต่อ  055961207