ขันหมากเบ็ง : วัฒนธรรมของผู้นอบน้อม ในสังคมลาว

ขันหมากเบ็ง : วัฒนธรรมของผู้นอบน้อม ในสังคมลาว

26459

      หากใครได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวในเขตวัฒนธรรมลาว ไม่ว่าจะเป็นในท้องที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือของไทย ทางภาคเหนือหรืออดีตเรียกว่าอาณาจักรล้านนา และโดยเฉพาะในเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในช่วงเย็นของวันพระน้อยหรือวันโกน จะพบว่ามีการทำกรวยดอกไม้จำหน่ายในท้องตลาด ภาษาลาวเรียกของที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นนี้ว่า “ขันหมากเบ็ง”

     “ขันหมากเบ็ง” ทำจากใบตอง เป็นรูปกรวยคว่ำหลายๆ อัน ตรึงให้เป็นชุดเดียวกันด้วยไม้กลัด ที่ส่วนปลายประดับด้วยดอกไม้เล็กๆ หรืออาจแซมด้วยดอกไม้หลากสีในซอกหลืบของกรวยก็ได้ คำเรียกว่า ขันหมากเบ็งนี้ น่าจะมีพัฒนาการมาจากเดิมที่มีการนำสิ่งของไปมอบหรือสักการะสิ่งศักดิ์ หรือบูชาครู โดยบรรจุลงในขัน ซึ่งหากจะมองในแง่ความหมายของคำโบราณว่า ขัน น่าจะมีพัฒนาการจากการที่ผู้คนรู้วิธีพับใบไม้ทำเป็นกรวยเพื่อเป็นภาชนะวักน้ำหรือเพื่อบรรจุสิ่งของ ภายหลังเกิดพัฒนาการด้านโหละ แล้วมีการทำภาชนะใช้ตักหรือใช้บรรจุ กลายเป็นรูปทรง “ขัน” ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน จนคำเรียกขันที่ประดิษฐ์จากใบไม้หรือเครื่องจักสานได้เลือนหายไปจากภาษาของคนทั่วไป ยังเหลือแต่นำมาเรียกขันหมากเบ็ง ขันกะหญ่อง เป็นต้น

     คำว่า หมาก เป็นเสียงเพิ่มเพื่อสื่อความว่าเป็นชิ้นหรืออัน ดังจะพบว่ามีการใช้ หมากจก (จอบ) หมากหัวใจ (หัวใจ) ส่วนคำว่า เบ็ง เป็นคำที่เลือนเสียงไปจากคำบาลีว่า เบญ หรือ เบญจ แปลว่า ห้า รวมความจึงหมายถึง ขันห้า นั่นเอง การใช้ขันหมากเบ็ง มีปรากฏในแถบลุ่มน้ำโขง ชี มูล รวมถึงลุ่มน้ำกก ปิง วัง ยม และน่าน ยิ่งเห็นชัดมากยิ่งขึ้นถ้าหากจะเปรียบเทียบกับคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำตาปี เพราะพื้นที่สองลุ่มน้ำหลังนี้ จะไม่มีวัฒนธรรมของการทำขันหมากเบ็ง และไม่เรียกขันหมากเบ็ง

     ดังกล่าวมาในย่อหน้าต้น เป็นการฉายภาพให้เห็นตามพื้นที่ แต่ถ้ากล่าวตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้คน ก็หมายถึงกลุ่มคนที่มีขนบวัฒนธรรมลาว ที่นับถือผีหรือพุทธศาสนาคละเคล้ากันไปนั่นเอง ในอาณาเขตของสยามประเทศในอดีต มีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมดำรงอยู่ร่วมกัน เมื่อสังคมได้วิวัฒนาการไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ของใช้ตามคตินิยมบางอย่างได้เริ่มเสื่อมสูญ เช่นเดียวกับการประดิษฐ์ขันหมากเบ็งของคนไทย (ที่มีวัฒนธรรมลาว) ก็ลดน้อยลงไปมากเพื่อเทียบกับอดีตเมื่อ 30 ปีให้หลัง คงเหลือก็เฉพาะในชนบทบางแห่ง

     การใช้ขันหมากเบ็งนั้น ใช้เพื่อประกอบในพิธีทางความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นทางพุทธศาสนา เช่น ใช้ประกอบเป็นเครื่องบูชาในกัณฑ์เทศน์ บูชาพระสงฆ์ พระพุทธรูป สถูป เจดีย์หรือธาตุ หรือทางลัทธิความเชื่อด้านอื่น เช่น ทำเพื่อมอบแด่หมอมนตร์ที่รักษาอาการเจ็บป่วย มอบแด่แม่หมอที่ทำหน้าที่นางเทียมหรือร่างทรง เป็นต้น แต่เดิมนั้น ไม่มีการทำขันหมากเบ็งขาย เนื่องจากทุกครัวเรือนจะทำกันเอง ต่อมารูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในสังคม มีความรีบเร่ง แต่ยังมีผู้ประสงค์จะใช้งาน การทำเพื่อขายจึงค่อยๆ เกิดขึ้น จนกลายเป็นสินค้าหาซื้อได้ในร้านค้า

     อย่างไรก็ดี ขันหมากเบ็งไม่ได้มีขายทุกย่านร้านตลาด ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการของการตอบสนองและความต้องการ เมื่อมีกลุ่มคนใช้ที่มีกำลังซื้อหรือมีความต้องการใช้ที่มากพอ จึงมีการทำขาย หากความต้องการใช้ไม่มีวาระที่แน่นอน และจำนวนผู้ต้องการใช้มีไม่มาก ขันหมากเบ็งก็จะไม่มีขายในตลาดท้องถิ่นนั้น ตัวอย่าง เช่น ในตลาดประเทศ สปป.ลาว ตามเมืองใหญ่หรือย่านที่มีผู้คนหนาแน่น จะมีขาย หากเป็นชนบทห่างไกลออกไป การอยู่ของผู้คนไม่หนาแน่น หรือการตั้งครัวเรือนอยู่กันอย่างประปราย ในร้านค้าก็จะไม่มีผู้ทำมาขาย เช่นเดียวกันกับชาววัฒนธรรมลาวที่อยู่ในประเทศไทย ความนิยมใช้ขันหมากเบ็งยังคงมีอยู่ แต่วาระการใช้ไม่ถี่มากเท่ากับประชาชนในประเทศ สปป.ลาว โดยคนไทยจะใช้ในวาระเข้าพรรษา ออกพรรษา หรือการนำไปมอบให้กับบุคคลสำคัญที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ หรือมีบ้างที่นำไปถวายพระในวันพระ

     ไม่ว่าวาระของการใช้ขันหมากเบ็งจะมีความถี่ห่างต่างกัน หรือการนำไปมอบหรือถวายต่างบุคคลกัน แต่ก็มีลักษณะร่วมกันคือ ผู้มอบเป็นฝ่ายแสดงออกถึงความนอบน้อม กล่าวอีกประการก็คือ ผู้มีความนอบน้อมเท่านั้นที่จะนำขันหมากเบ็งไปถวาย/ มอบ/ ให้ แด่สิ่งเหนือธรรมชาติ หรือกับบุคคลที่เคารพนับถือ ดังนั้น หากพบเห็น “ขันหมากเบ็ง” ที่ใด นั่นย่อมหมายถึงได้เกิดการกระทำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมลาว เช่น เห็นขันหมากเบ็งตกแต่งหัวบันไดธรรมมาสน์ วางอยู่บนฐานใกล้เจดีย์ เป็นต้น แสดงว่าต้องมีคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคน หรือคนทั้งชุมชนทำ แล้วนำไปใช้

    ในแง่ของวัฒนธรรมนั้น ความประณีตบรรจงที่แสดงออกในรูปของการประดิษฐ์คิดทำภาชนะบรรจุดอกไม้ไปมอบให้ผู้อื่น ส่อแสดงถึงภาวะของระดับวัฒนธรรม จากระดับความเป็นมนุษย์ชนเผ่าที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ผันไปสู่ความเจริญที่มีความซับซ้อนทางความคิด-ความเชื่อ ซึ่งส่งผลสู่การแสดงออกที่เป็นรูปแบบ ทั้งทางขนบ หรือแบบแผนทางประเพณี

     นอกจากนี้ ยังชวนให้นึกย้อนมองไปสู่เบื้องลึกและเบื้องหลังของการทำ ตลอดจนการใช้งานขันหมากเบ็งนี้ว่า การทำนั้นก็ย่อมต้องอาศัยความพิถีพิถันประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ ครั้นเมื่อนำไปใช้ก็ยิ่งมองได้ว่า เป็นการใช้เพื่อแสดงออกถึงความนอบน้อม แสดงออกถึงการคารวะ การเคารพบูชา ไม่มีพิธีกรรมใดที่นำขันหมากเบ็งไปใช้เพื่อการประหัตประหาร หรือทำลายล้างกัน

     ประเพณี พิธีกรรม ความคิด-ความเชื่อ ที่เกิดจากฐานความเป็นผู้นอบน้อมนี้ เป็นเครื่องช่วยหล่อหลอมคนหลายท้องที่ ที่มีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมเดียวกัน ก่อให้เกิดเป็นภาพรวม คือหมู่คนที่อุดมไปด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี ครอบคลุมทั้งดินแดนประเทศ สปป.ลาว ประเทศไทย และรวมทั้งผู้คนในสิบสองพันนา ที่เคยมีสาแหรกแบบแผนทางประเพณีร่วมกันมา ขันหมากเบ็ง จึงมิได้เป็นเพียงกรวยบรรจุดอกไม้ที่ปราศจากความหมายอย่างไร้คุณค่า ในทางตรงกันข้าม กลับมีนัยทางวัฒนธรรมที่แฝงเร้นอยู่ทั้งในกระบวนการทำและการนำไปใช้อีกด้วย.

ขอบคุณที่มา อ.วีระพงศ์ มีสถาน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.fahchaiyo.com/culture.php