ประเพณีและความเชื่อ พิธีมัดมือปีใหม่กะเหรี่ยง

ประเพณีและความเชื่อ พิธีมัดมือปีใหม่กะเหรี่ยง

      ผ่านมาแล้วกับเทศกาลปีใหม่ หลาย ๆ ท่านอาจมีกิจกรรมในวันขึ้นปีใหม่มากมาย หากเป็นผู้คนในเมืองก็จะมีการทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคลและมีการเฉลิมฉลองเพื่อความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีประเพณีปีใหม่ของหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ชนเผ่ากะเหรี่ยงมีประเพณีที่เรียกว่า พิธีมัดมือปีใหม่กะเหรี่ยง

     ประเพณีปีใหม่กะเหรี่ยงจะจัดขึ้นในราวเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้านหรือตามที่ผู้นำหมู่บ้านกำหนด ในแต่ละหมู่บ้านอาจมีวันปีใหม่ไม่ตรงกัน     ส่วนใหญ่จะจัดหลังฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบปี แต่ก็มีบางหมู่บ้านที่มีการเริ่มต้นเก็บเกี่ยวกันหลังจากวันขึ้นปีใหม่ผ่านพ้นไป

ความเป็นมา

          ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าต้องบูชาผีและวิญญาณ ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมเลี้ยงผีเกิดขึ้น ในพิธีกรรมนั้นตามประเพณีแล้วจะเริ่มทำพิธีที่บ้านผู้นำเป็นหลังแรกแล้วจึงจะไปทำพิธีให้กับชาวบ้าน ซึ่งกว่าจะครบทุกหลังคาเรือนอาจใช้เวลาหลายวันหลายคืน ในทุก ๆ หลังจะมีการหมักเหล้า  ต้มเหล้าจากข้าวสุก ฆ่าไก่หรือแกงหมูเป็นอาหาร จากนั้นมีการดื่มเหล้ากันตามประเพณีแล้วจึงมีการมัดข้อมือด้วยฝ้ายดิบพร้อมกับมีคาถาอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข และนอกจากนี้ยังมีพิธีการรินเหล้าและนำเนื้อไก่เพื่อมาบวงสรวงต่อผีและวิญญาณอีกด้วย

พิธีมัดมือปีใหม่

050125608

          พิธีมัดมือขึ้นปีใหม่หรืองานทำขวัญประจำปีของกะเหรี่ยงเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มฤดูกาล  การเพาะปลูก หลังจากงานมัดมือปีใหม่จะเป็นการถางไร่และเตรียมที่นาสำหรับการเพาะปลูก ก่อนวันทำพิธีชาวกะเหรี่ยงจะทำข้าวเหนียวต้มเตรียมไว้ จะมีการฆ่าควายที่รวมเงินกันซื้อมาแล้วแบ่งกันมาทำอาหาร เนื้อควายจะไม่ใช้ในพิธีกรรม สำหรับพิธีมัดมือปีใหม่หรือทำขวัญนั้นเริ่มด้วยพ่อแม่นำตะกร้าใส่สิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าโพกหัวของแม่บ้านซึ่งเป็นของใหม่ ไก่ เหล้า ข้าวเหนียวต้ม เป็นต้น ไปวางไว้ที่หัวบันไดข้างหนึ่ง มือหนึ่งจับไก่ ๒  ตัว  เป็นไก่ตัวผู้กับตัวเมียไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ มือข้างหนึ่งใช้ไม้คนหม้อข้าวเคาะหัวบันไดพร้อมทั้งสวดมนต์ เมื่อเสร็จแล้วก็ไปอีกข้างหนึ่งของหัวบันได จากนั้นยกตะกร้าเข้ามาในบ้าน เคาะและสวดมนต์ตรงด้านหัวนอนของพ่อบ้านและแม่บ้าน สวดเสร็จก็ฆ่าไก่เอามาลวก ถอนขนออกแล้วเอาไปย่างไฟให้หอมเพื่อนำไปทำกับข้าว เมื่อทำกับข้าวเสร็จก็จัดอาหารลงบนขันโตก อาหารบนขันโตกประกอบด้วย ข้าว กับข้าว ข้าวปุ๊ก ข้าวเหนียวต้มที่แกะออกแล้ว และเหล้า ๑ ถ้วย  จากนั้นเอาเส้นฝ้ายทีมีความยาวประมาณ ๑๓-๑๕  นิ้วมาวางพาดบนขันโตกให้ถูกข้าวกับแกงและขนม เส้นฝ้ายนี้มีจำนวนเท่าสมาชิกของครอบครัว จากนั้นพ่อบ้านทำพิธีด้วยการเอาไม้คนหม้อข้าวเคาะขันโตก แล้วสวดมนต์เรียกขวัญมากินอาหาร  พอสวดเสร็จพ่อบ้านหรือแม่บ้านเอาด้ายขวัญผูกข้อมือลูกทุกคนเริ่มผูกจากลูกคนเล็กไปยังลูกคนโตพร้อมทั้งสวดมนต์เรียกขวัญให้อยู่กับตัว เมื่อผูกเสร็จพ่อบ้านกับแม่บ้านจะผลัดกันผูกพร้อมทั้งสวดมนต์ให้แก่กัน จากนั้นพ่อบ้านจะยกถ้วยเหล้าขึ้นและเทลงไปพอเป็นพิธี แล้วสวดมนต์ให้ผีลงมาดื่มสุราถ้วยนั้น ตลอดจนขอให้ปกป้องดูแลรักษาโรคภัยให้แก่สมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลรวมถึงการทำมาหากินสะดวก ปลูกพืชได้ผลดี พอสวดเสร็จทุกคนก็ดื่มเหล้าด้วยกัน และรับประทานอาหารในขันโตกร่วมกันเป็นอันเสร็จพิธี พอตกกลางคืน จะมีการดื่มเหล้าและร้องเพลงกัน การร้องและการดื่มนี้จะต้องวนเวียนไปจนครบทุกบ้าน กล่าวแต่คำอันเป็นมงคลแก่ชีวิต พิธีมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ มีเรื่องความเชื่อและกฎเกณฑ์ที่ควรปฏิบัติเกี่ยวข้องอีกมากมายมีความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละหมู่บ้าน และแตกต่างตามความเชื่อของหมอผีแต่ละคน แต่มีความเชื่อที่สำคัญคือ หากเดือนที่กำหนดจะมีงานมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ เกิดเหตุการณ์ไม่ดีไม่งามในหมู่บ้าน เช่น มีคนตาย มีเสือเข้ามากินสัตว์เลี้ยงในบ้าน มีหนุ่มสาวได้เสียกัน เป็นต้น ก็ต้องยกเลิกหมดถือว่าการเตรียมการครั้งนี้ไม่ดี ทำต่อไปไม่เกิดผลดีต่อคนในหมู่บ้าน ต้องเลื่อนไปจัดในเดือนต่อไปหรือหากจัดพิธีไปแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นภายหลัง จะถือว่าพิธีที่จัดไปแล้วนั้นใช้ไม่ได้เช่นกันต้องจัดพิธีขึ้นใหม่       

พิธีรินเหล้าเตรียมเหล้า สำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกัน

050125609

      พอตกกลางคืนก่อนวันขึ้นปีใหม่ ผู้นำศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ฮี่โข่” จะทำการเรียกเหล่าชาวบ้านมาชุมนุม ในแต่ละบ้านจะส่งตัวแทนบ้านละหนึ่งคน คือ หัวหน้าครอบครัว (ต้องเป็นผู้ชาย) และต้องนำเหล้าไปด้วย ๑ ขวด เมื่อมาพร้อมกันทั้งหมดทุกคนแล้ว ฮี่โข่จะเริ่มทำพิธีกรรม  พิธีกรรมนี้ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า พิธีกินหัวเหล้า “เอาะซิโค” โดยตอนแรกจะนำขวดเหล้ามารวมกัน ซึ่งฮี่โข่จะเป็นคนทำการอธิษฐาน จากนั้นจะรินเหล้าลงในแก้วให้คนที่มาร่วมพิธีดื่ม วิธีการดื่มคือนำเหล้าของคนที่มาถึงก่อนเทลงแก้วและฮี่โข่จะจิบเป็นคนแรก จากนั้นก็ให้คนต่อไปจิบต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคนที่มาร่วมงาน และวนกลับมาถึงฮี่โข่ดังเดิม ฮี่โข่จะทำการเทลงดินพร้อมอธิษฐานให้พร แด่เจ้าบ้านและครอบครัวเจ้าของขวดเหล้าที่เทลงดินไปแล้ว จากนั้นก็ทำพิธีต่อไปจนครบทุกบ้านที่มาร่วมงาน บางครั้งหมู่บ้านไหนที่มีหลังคาเรือนจำนวนมากอาจทำพิธีถึงเช้าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีกะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งคือกะเหรี่ยงคริสต์
     กะเหรี่ยงคริสต์จะมีพิธีกรรมที่คล้าย ๆ กัน แต่จะทำในแบบศาสนาของตนเอง คือเข้าโบสถ์ อธิษฐานเสร็จ จะรับประทานอาหารรวมกัน จากนั้นจะมีการประมูลราคาข้าวของของแต่ละบ้านที่ หลังจากประมูลราคาสิ่งของเสร็จก็จะมีการจัดกลุ่มแข่งกีฬาพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตกเย็นมีการแสดงละครสร้างความบันเทิง นอกจากนี้มีข้อห้ามสำหรับการดื่มเหล้าคือ ดื่มได้แต่ห้ามดื่มจนเมามายในวันนี้ จากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านของตน ในช่วงนี้จะมีการอธิษฐานทุกคืนจนครบ ๗  คืน จึงจะถือว่าสิ้นสุดพิธีขึ้นปีใหม่

     จึงถือได้ว่าพิธีกรรมขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงนั้นมีความน่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของพิธีกรรมมัดมือมือ พิธีกรรมรินเหล้า รวมถึงความเป็นมาของพิธีกรรมความเชื่อที่จะบูชาผีและนับถือวิญญาณซึ่งเปรียบเสมือนบรรพบุรุษ และยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีอันเด่นชัดที่สืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เพื่อแสดงถึงความเป็นชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงเรื่อยมายังปัจจุบัน และสุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นประเพณีปีใหม่ของผู้คนในเมืองหรือชาวเผ่าใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน ทุก ๆ คนล้วนหวงแหนและร่วมใจอนุรักษ์เอาไว้ตราบนานเท่านาน

 “หวังว่าวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมาทุก ๆ ท่านจะมีความสุขและสนุกสนานกับกิจกรรมในครอบครัวกันถ้วนหน้า”

น.ส. ละอองดาว   โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๔  มกราคม  ๒๕๕๙
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
สุริยา รัตนกุล
ลักขณา ดาวรัตนหงษ์
//goo.gl/BWv1aa 

//goo.gl/k8YtZ1