ละลานตาผ้าทอทั่วธานี ด้วยพระบารมีแห่งองค์พระแม่ไทย
นานมาแล้ว ฉันเคยสงสัยว่า ทำไมเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎร จึงฉลองพระองค์ด้วยแพรพรรณอันดูหรูหรา ทั้งที่เสด็จฯ ไปในพื้นที่ชนบทหรือถิ่นทุรกันดาร ซึ่งดูไม่ทะมัดทะแมง ไม่เหมาะกับสถานที่ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่เหมาะสมนั่นเอง จนกระทั่งเมื่อหลายปีก่อน ฉันได้ทำงานเกี่ยวกับผ้าไทย ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทย จึงได้กระจ่างแก่ใจว่า พระองค์ฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยเพื่อรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวบ้าน ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๓
“ข้าพเจ้าจึงสังเกตดูเมื่อไปที่ไหนทุกแห่งตามเสด็จ จะเห็นว่าชาวอีสานนี้นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ ข้าพเจ้าก็บอกว่า ขอให้ฉันสักตัวได้ไหม เขาบอกว่าเอาไปทำไมของคนบ้านนอกคอกนา คนรวย ๆ เขาไม่ใส่กันหรอก ก็บอกกับเขาว่าสวยจริง ๆ ไม่ได้แกล้งยกยอ เพราะเป็นของสวยงาม เขาก็เลยยินดี เขาบอกว่าถ้าจะใส่จริงฉันจึงจะทำให้ บอกว่าทำเถอะแล้วจะใส่ เขาก็ช่วยกันทำมา ข้าพเจ้าก็ให้เงินก้นถุงก่อน เพราะว่าชาวบ้านจนเท่าไร ความโลภโมโทสันไม่มีเลย
เขาบอกฉันว่าจะให้นะ ฉันไม่ได้ต้องการเงิน ก็บอกกับเขาว่า เงินอันนี้เป็นเงินก้นถุงจะได้ให้เจริญยังไง เขาถึงได้ยอมรับ ไม่อย่างนั้นเขาโกรธ
ก็ตัดใส่ พยายามถ่ายรูปออกไปโฆษณา เขาเห็นเขาก็มีกำลังใจก็เลยบอกว่าทอให้มากขึ้นนะ แล้วจะขอซื้อจะหาตลาดให้ อันเป็นการเริ่มต้นของมูลนิธิศิลปาชีพ”
ย้อนเวลานับแต่ก้าวแรกบนผืนแผ่นดินไทย
แม้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินตาม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระชนกที่ไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนต์เจมส์ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่พระชนม์ได้ ๑๓ ชันษา ทว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กลับทรงตระหนักถึงคุณค่าของมรดกแห่งความเป็นไทยมาตลอดระยะเวลายาวนาน
พระองค์เลือกฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทย นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เสด็จฯ กลับประเทศไทยในฐานะพระคู่หมั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ขณะมีพระชนมพรรษา ๑๗ พรรษา และในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม ชาวไทยต่างปลื้มปิติที่ได้เห็นภาพอันประทับใจไม่รู้ลืมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฉลองพระองค์แบบไทยสีงาช้าง ฉลองพระองค์ปักไหมทองพระภูษายกทอง ครั้นถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงพระภูษายกทองและทรงสะพัก
ก่อเกิดชุดไทยพระราชนิยม ชุดไทยประจำชาติ
พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก มีพระราชดำริว่า สตรีไทยไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นชุดประจำชาติเหมือนสตรีชาติอื่น ๆ เช่น อินเดียมีส่าหรี หรือญี่ปุ่นมีกิโมโน จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าจากประวัติศาสตร์การแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักโบราณ และออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่าง ๆ โดยผสมผสานระหว่างรูปแบบการแต่งกายสตรีไทยในอดีตกับการตัดเย็บในปัจจุบันที่ง่ายต่อการสวมใส่และมีความเหมาะสมกับยุคสมัย ระหว่างเสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น
นานาชาติจึงได้มีโอกาสตื่นตาตื่นใจกับพระสิริโฉมของสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศไทยที่ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม และกลายเป็นต้นแบบของชุดไทยประจำชาติ ทั้งหมด ๘ แบบ
นอกจากนี้ยังมีพระราชเสาวนีย์ให้ดีไซเนอร์ชั้นนำของฝรั่งเศส ปิแอร์ บัลแมง และช่างปักเสื้อชื่อดังแห่งยุคฟรองซัวส์ เลอซาจ เพิ่มความงดงามตระการตาให้ชุดไทยพระราชนิยมและชุดราตรีแบบตะวันตกสำหรับฉลองพระองค์ โดยทรงแนะนำให้ผสมผสานลวดลายแบบไทยโบราณเข้ากับวิธีปักของห้องเสื้อชั้นนำของยุโรป ครั้งนั้นมีการใช้ไหมเงิน ไหมทอง ผสมเข้ากับพลอยสีและลูกปัดเป็นครั้งแรก
จากผ้าทอฝีมือชาวบ้าน สู่ราชีนีแห่งผ้าไทย
“นับแต่ได้ตามเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ข้าพเจ้าค้นพบด้วยความภาคภูมิใจว่า คนไทยของเรานี่เป็นผู้ที่มีความสามารถ เพียงแต่ได้โอกาสก็จะสร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมออกมาได้เสมอ”
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๓
พระองค์ทรงฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนาผ้าทอไทยทั่วทุกภูมิภาค ขอยกตัวอย่างผ้าทอบางชนิด บางท้องถิ่น ที่ฉันเก็บรวบรวมไว้จากแหล่งต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายปี ได้แก่ นิตยสาร หนังสือ ตลอดจนการการลงพื้นที่ด้วยตัวเอง การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ ที่สำคัญคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เมื่อติดต่อขอรับข้อมูลโดยตรงจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ผ้าใยกัญชง แม่ฮ่องสอน
“ได้เสด็จฯ ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รู้เกี่ยวกับต้นกัญชง มีความเสียใจที่ทางกฎหมายว่าเป็นยาเสพติด ว่าเป็นต้นกัญชา ที่จริงมีการปลูกมาตั้งแต่ปู่ตาทวด และได้นำมาทอเป็นเสื้อผ้า โอกาสดีที่อเมริกันมิชชันนารีขึ้นไปสอนศาสนาอยู่กับชาวเขา เห็นชาวเขาใส่ผ้ากัญชงบาง ๆ ได้สอนให้เลี้ยงแกะผสมกับกัญชง ทำให้ผ้ามีความอบอุ่น”
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๒
จากพระราชดำรัสนี้เอง ทำให้รัฐบาลหันมาส่งเสริมกัญชง จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ทั้งนี้จากการศึกษาค้นคว้าของกรมวิชาการเกษตร ระบุข้อดีของการปลูกพืชกัญชงเชิงเศรษฐกิจว่า ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เพราะสามารถแปรรูปได้ถึง ๒๕,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ อย่างในรูปของกระดาษ สิ่งทอ ยา อาหาร วัสดุก่อสร้าง พลาสติก น้ำมันและประโยชน์ทางการเกษตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศแต่ละปีเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท กัญชงปลูกอายุเพียง ๗๕ – ๙๐ วันก็สามารถนำมาทำประโยชน์ ทำกระดาษหรือสิ่งทอได้ แทนที่จะใช้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งต้องปลูก ๖ – ๒๐ ปี นับเป็นการลดการนำเข้า เป็นการพึ่งพาตนเองและเมื่อมีเกินพอ สามารถจำหน่ายให้ต่างประเทศได้อีกด้วย
ผ้าดอกจอก ผ้าฝ้ายแท้หนานุ่ม ภาคกลาง
ผ้าดอกจอกเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ๑๐๐ % เนื้อหนา นุ่ม มีคุณสมบัติซับน้ำได้ดี มีลวดลายยกขอบเป็นสัน เพื่อให้เกิดเป็นตาสี่เหลี่ยม เป็นกระทงเล็ก ๆ ทั้งผืน เหมือนเวลาที่เห็นดอกจอกลอยอยู่ในน้ำ เห็นเป็นช่อง ๆ บางคนบอกว่าลักษณะคล้ายขนมรวงผึ้ง ชาวต่างประเทศเรียกผ้าดอกจอกว่า Honey Comb มีการทอกันที่จังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา ผ้าชนิดนี้อาจจะเลือนหายไป หากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถไม่ทรงอนุรักษ์ไว้
เส้นทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้าดอกจอกเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๘ มีน้ำท่วมภาคกลาง จังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยานาล่มเสียหายมาก พระองค์โปรดฯ ให้ตั้งโครงการทอผ้าฝ้ายด้วยมือในภาคกลางขึ้น โดยมีท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นหัวหน้าคณะรับผิดชอบในเรื่องการหาครูให้การอบรมชาวบ้าน และรับสิ่งที่ที่สำเร็จออกสู่ตลาด จัดจำหน่าย หารายได้กลับคืนสู่ผู้ผลิต
ครั้งหนึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค พร้อมคณะได้ไปตรวจงานและรับสิ่งทอ มีชาวบ้านคือ นางทับ อภิวันท์ นำผ้าตัวอย่างที่เคยทอไว้มาให้ดู และในผ้าตัวอย่างเหล่านั้นมีผ้าลายดอกจอกอยู่ด้วย ทางคณะสนใจผ้าดอกจอก เนื่องจากเห็นว่าเป็นผ้าที่ใช้ทำผ้าเช็ดตัวได้ดี สมควรจัดสอนให้กลุ่มทอผ้าของโครงการฯ ทอขึ้น แต่นางทับไม่สามารถสอนได้ ทางครูผู้สอนคือนายสงคราม เสนาธรรม จากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงจัดอบรมสอนให้ โดยเปลี่ยนจากการทอผ้าด้วยกี่มือมาเป็นกี่กระตุก ทำให้ได้ผลงานรวดเร็วกว่าและมีหน้าผ้ากว้างกว่าด้วย สำหรับกลุ่มทอผ้าที่ชำนาญในการทอผ้าดอกจอก คือกลุ่มทอผ้าวัดสระแก้ว จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นกลุ่มแรกในโครงการ ตามมาด้วยกลุ่มทอผ้าวัดน้ำเต้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อผ้าดอกจอกออกสู่ตลาด ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก เพราะฝ้าย ๑๐๐ % ซับน้ำได้เป็นอย่างดี และผู้ที่นิยมซื้อหาผ้าฝ้ายทอมือจากร้านจิตรลดา ซึ่งเป็นร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโครงการในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็ให้ความสนใจ และตื่นเต้นในประโยนช์ใช้สอยของผ้าฝ้ายทอมือที่สามารถทำเป็นผ้าเช็ดตัวได้ นอกจากนี้ร้านจิตรลดายังนำผ้าดอกจอกมาตัดเป็นเสื้อแบบกิโมโน เพื่อเป็นเสื้อคลุมจากห้องน้ำ หรือเป็นเสื้อตัวสั้นเพื่อสวมใส่ในเวลาอากาศเย็นอีกด้วย
ฉันโทรศัพท์ติดต่อขอสัมภาษณ์กลุ่มทอผ้าสมาชิกศิลปาชีพวัดน้ำเต้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ คุณพายัพ บุญเหลือ ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า
“เราทอผ้าดอกจอกตลอดทั้งปี มีเรื่อย ๆ แต่ช่วงที่มีคนสั่งมากที่สุดคือ ปีใหม่และสงกรานต์ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ รวมถึงช่วงวันแม่ ร้านจิตรลดาจะให้เราทอผ้าดอกจอกสีขาวเพื่อนำไปปักดอกมะลิ สมาชิกจำนวน ๑๑ คนยังคงทอผ้าทุกวันหลังจากว่างเว้นจากการทำนาและเก็บดอกโสนขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง”
“ดีใจที่พระราชินีทรงมองเห็น ห่วงใย และให้อาชีพชาวบ้านธรรมดา ๆ อย่างเรา ดีใจที่ได้ทำงานที่รัก แม้ความรู้จะร้อย แต่ก็สามารถสร้างงาน ส่งเสริมลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียนสูง ๆ”
“ภูมิใจที่ได้สร้างผลงาน เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ได้สืบสานภูมิปัญญาไทย”
ความดีใจ ความภาคภูมิใจนี่เองจะเป็นพลังสำคัญให้ผ้าที่หาชมได้ยากอย่างผ้าดอกจอกดำรงอยู่ต่อไป
***ภาพประกอบ ผ้าดอกจอกจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
ศูนย์ศิลปาชีพในพื้นที่ความมั่นคง พิษณุโลก
คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักศูนย์ศิลปาชีพ หรือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่ถ้าบอกว่าจังหวัดพิษณุโลกมีศูนย์ศิลปาชีพเชื่อว่าเป็นข้อมูลใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คน เรื่องนี้ทำให้ฉันย้อนความทรงจำไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา และนี่คือบทความที่ฉันเขียนไว้ในช่วงนั้น
เช้าตรู่ของวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ ฉันพร้อมด้วยเพื่อนร่วมงานอีก ๓ คน มุ่งหน้าสู่บ้านเทอดชาติ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ด้วยระยะทางเกือบ ๒๐๐ กิโลเมตร ก็ถึงศูนย์ศิลปาชีพภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งในช่วงท้ายของการเดินทาง เล่นเอาฉันเกือบสำรอกอาหารเช้าเสียแล้ว ด้วยเส้นทางที่ขึ้น-ลงเขา บวกกับแนวโค้ง แต่ถึงอย่างไรพวกเราก็มาถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
ทันทีที่มาถึงเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ แม้จะไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า เนื่องด้วยอุปสรรคเรื่องของโทรศัพท์ นำโดยร้อยตรีประกอบ มั่นอ้น รองหัวหน้าศูนย์ฯ พาเราไปชมอาคารสถานที่ ซึ่งประกอบด้วยอาคารทรงงาน ๑ หลัง โรงฝึกงาน ๓ หลัง ร้านค้าศิลปาชีพ ๑ หลัง พร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ยินเสียงกระทบฟันหวี ไม่ได้เห็นลีลาการเหยียบไม้สลับตะกอเพื่อให้เกิดลวดลาย เนื่องจากเหล่าสมาชิกต้องออกไปทำไรทำนาตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามพวกเราได้สัมผัสเส้นไหมที่จัดส่งมาหลายสิบลัง รอการแปรสภาพให้กลายเป็นผืนผ้า ได้ชมผืนผ้าฝ้ายลวดลายเอกลักษณ์ของศูนย์ ได้แก่ ลายลูกแก้ว และลายหมากนัด (ลายสับปะรด) ซึ่งเป็นลวดลายที่ทอยากที่สุด เนื่องจากต้องใช้ถึง ๘ ตะกอ เราจึงพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก รวมไปถึงผ้าไหมพื้นหลากสี
รองหัวหน้าศูนย์ฯ เล่าให้ฟังว่า ทั้งหมดนี้เป็นผ้าที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโปรดฯ ให้ชาวภูขัดทอขึ้น โดยผ่านการฝึกอบรม พัฒนาฝีมือ และนำทูลเกล้าฯ ถวาย สร้างรายได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขุด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้น เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๘ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ ทรงเปิดโครงการศูนย์ศิลปาชีพภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๙ ซึ่งปัจจุบันนอกจากสมาชิกจำนวน ๒๕๗ คน จะสามารถทอผ้าได้แล้ว บางรายยังสามารถทอผ้าขายได้เอง มีการพัฒนาปรับปรุงสร้างสรรค์ลวดลายสีสันใหม่ ๆ ทั้งผ้าพื้น จก ขิด และมัดหมี่ ซึ่งนับว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน ทั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะเสด็จฯ เยี่ยมชาวภูขัดฯ ประมาณปีละ ๑ ครั้ง เพื่อทรงติดตามดูผลงาน ที่สำคัญเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับสมาชิกในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
นอกจากการทอผ้าแล้ว ยังทรงส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรตลอดเวลา ทำให้ราษฎรในโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
นี่คือบทความที่ฉันเขียนขึ้นช่วงกลางปี ๒๕๔๖ น่าเสียดายที่ภาพถ่ายได้สูญหายไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว จะล่วงเลยมากว่า ๑๐ ปีแล้ว แต่ยังคงประทับใจ อยู่ในความทรงจำและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก
ผ้าแพรวา ถิ่นอีสาน
ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าเธอทุกพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมายังตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่อำเภอคำม่วง
นางคำใหม่ โยคะสิงห์ ชาวบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้หนึ่งที่เฝ้ารอรับเสด็จฯ
“พอรู้ว่าจะเสด็จฯ ทุกพระองค์ ฉันก็อยากไปเข้าเฝ้าฯ นอนคิดอยู่ทั้งคืน อยากนำผ้าแพรวาไปถวาย ถามดูก็ไม่มีใครทอได้ ไปหาซื้อก็ไม่มีใครขาย เพราะมีน้อย ไม่มีการทอแล้ว ๖๐๐ – ๗๐๐ หลังคาเรือนมีผ้าแพรว่าไม่ถึง ๑๐ ผืน ฉันชวนเพื่อนคนแก่ไปด้วยกันหลายคน ยืมชุดภูไทสไบแพรของเขามาแต่ง เตรียมของถวายกัน…
…พระราชินีหยุดตรงหน้าฉัน ชมผ้าสไบแพรวาที่ฉันห่มว่า ผ้าสวยดีนะมีอีกมั้ย ฉันตอบว่าไม่มีเจ้าคะ อยากได้หรือเจ้าคะ ทรงรับสั่งว่า อยากได้ จะใส่เอง”
นับจากวันนั้น คุณแม่คำใหม่ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผ้าแพรวา พร้อมยกเส้นไหมพระราชทานจำนวน ๖ กิโลกรัม เพื่อนำกลับไปทอ และนี่คือจุดเริ่มต้นของผ้าแพรวา
“ฉันรับไหม ๖ กิโลกรัมมาอย่างหนักใจช่วงนั้น จะทอยังไงหนอ…เอามานอนคิดทั้งคืน ตื่นเช้าก็เดินไปถามชาวบ้านหาคนที่ทอได้ ซึ่งก็มีแต่คนแก่ ๆ ที่พอจะทอได้บ้าง ก็ให้ช่วยกัน ๓ – ๔ คน บอกเขาไปว่า พอเสร็จแล้วจะพาไปถวายในวัง พูดไปทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าวังอยู่ที่ไหน เพื่อน ๆ ก็ตาโตอยากไปเที่ยวในวัง เกิดการร่วมใจช่วยกันทอขึ้นมา”
ระหว่างนั้นนางคำใหม่พร้อมเพื่อนอีก ๒ คน มีโอกาสเรียนวิชาการย้อมผ้า ๒ วัน ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ นำความรู้กลับมาย้อมไหมพระราชทาน ๖ กิโลกรัม กับเวลาอีกหลายเดือน ได้เป็นผ้าสไบแพรวางดงามถึง ๑๖ ผืน และก็ได้มีโอกาสนำไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถึงพระราชวังไกลกังวลจริง ๆ
“ภูมิใจเหลือเกิน ภูมิใจอย่างเต็มเปี่ยม ผ้าแพรวาพลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ้าพระองค์ท่านไม่ทรงสนับสนุน ผ้าแพรวาก็คงไม่มีและไม่โด่งดังเหมือนอย่างทุกวันนี้”
ผ้าจวนตานี แดนใต้
ผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานีนี้ จัดเป็นผ้าของชนชั้นสูงและมีราคาแพง เดิมเป็นที่นิยมมากในจวนปัตตานี แต่ได้ยกเลิกการทอไปเมื่อประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้วิธีนำเข้าจากรัฐกลันตันและตรังกานูของมลายูแทน จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าวยากหมากแพง การติดต่อมีอุปสรรค ผ้าลีมานำเข้าจึงไม่มี และหันมาทอผ้าชนิดนี้กันใหม่ จุดเด่น สีสันสวยงาม สะดุดตา เชิงผ้าจะมีสีแดงเข้ม มีลวดลายวิจิตร
จากรายงานเรื่องผ้ากับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ของ ผศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ระบุว่า พบหลักฐานว่ามีผ้าลีมา (จวนตานี) ซื้อขายกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น “ในอดีตคนอิสลามไม่นิยมนุ่งไหม ผ้าไหมจะเป็นผ้าของคนมีเงินคนชั้นสูง ส่วนผ้าฝ้ายสามัญชนคนธรรมดาจะนุ่งห่มกัน เพราะผ้าไหมจะมีราคาแพง แต่ตอนนี้เป็นชนชั้นกลางที่นิยมนุ่งห่ม โดยมีการส่งเสริมให้ผลิตฝ้าย เนื่องจากมีราคาต่ำกว่า ผืนละไม่กี่ร้อย ซึ่งทางจังหวัดได้มีการรณรงค์ให้ข้าราชการสวมใส่ ๑ วันต่อสัปดาห์”
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรผลงานวิจัย เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ และทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ผ้าไหมลีมาสวยงามมาก สมควรที่จะค้นคว้าทดลองต่อไป” ผ้าจวนตานี ที่ถูกปลุกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ยังรอคอยความหวังสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หากสถานการณ์ความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ ชาวบ้านอีกหลายครัวเรือนก็คงต้องลำบากต่อไป
ผ้าจวนตานียังถูกกล่าวถึงในการแต่งกายในวรรณคดีไทย ตัวอย่างเช่น ข้อความที่ตัดตอนมาจากวรรณคดีไทย เรื่องขุนช้างขุนแผน และอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ กล่าวถึงเครื่องแต่งกาย ของตัวละคร เป็นผ้าตานีสองชั้น ชั้นในทำจากผ้าไหมที่ประณีตสวยงามและมีสีสัน ชั้นนอกปักและฉลุเป็นลวดลายสลับซับซ้อน
วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
“ผ้ายกตานี นุ่งพุ่งทอง
สอดสองซับสีดูสดใส
กรองบอกดอกฉลุดวงละไม
เส้นไหมย้อมป้องเป็นมันยับ”
“ศรีประจันครั้นแลเห็นลูกสาว
กูนี้หัวหงอกขาวมันพ้นที่
จะตกแต่ง ไปทำไมมี
คว้าผ้าตานีห่มดอกดำ”
วรรณคดีเรื่องอิเหนา
“ข้าวของตาง ๆ มาวางขาย
แพรม้วนมากมายหลายสี
ยกทองล่องจวนเจ็ดตะคลี
พลอยมณีเพชนิลจินดา”
พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก , 2514: 145 ดาหลัง ตอนมิสาประหมังกุหนิงกับมิสาหยัง สาหรี่ออกตามกุดาวิราหยา ได้เมืองบาหลี บรรยายว่าตัวละครนั้นนุ่งผ้ายกตานี
“นุ่งยกตานีทองช่องไฟ
ห่มสไบชมพูชูศรี
นั่งเอี่ยมเยี่ยมคอยนาที
พอค่ำสองศรีก็ลีลา”
ผ้าจวนตานี หรือผ้าลีมา เป็นผ้าที่มีชื่อเสียงของปัตตานี เป็นผ้ามัดหมี่โบราณประเภท
ผ้าปูม ลักษณะเป็นผ้ายาวหรือผ้าปล่อย คล้ายผ้าขาวม้า ลวดลายในศิลปะแบบชวา-มลายู คล้ายกับลายในเชิงผ้าปูมเขมร มีลวดลายสวย สะดุดตา งามเด่น และมีราคาแพง พบเห็นได้ที่กลุ่มทอผ้าจวนตานี หมู่ที่ ๓ ตำบลทรายขาว อำเภอ โคกโพธิ์ นอกจากนี้ ยังมีการทำผ้าบาติก ผ้าคลุมผมสตรี และหมวกกะปีเยาะห์ในจังหวัดด้วย ส่วนราษฎรอำเภอไม้แก่นทอผ้าฝ้ายลายลูกแก้ว ลายราชวัตร ลายเหลี่ยม ลายพิกุล ลายพุดซ้อน และลายปีกนก
“จากความพากเพียรในการอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่นจากภูมิปัญญาวันนี้ ทำให้กลุ่มทอผ้า พื้นเมืองภาคใต้ลายจวนตานี ได้รับเครื่องหมายตรา นกยูงพระราชทาน คือ นกยูงสีทอง Royal Thai Silk, นกยูงสีน้ำเงิน Thai Silk และนกยูงสีเงิน Clasisc Thai Silk ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นที่สุดสำหรับสมาชิกทุกคน” นัชฎาภรณ์ พรหมสุข จากศูนย์ฝึกอาชีพตำบลทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
ภาพและข้อมูลจาก https://www.facebook.com/pg/ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ-นราธิวาส
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24903.0;wap2
พระมหากรุณาพระแม่ไทย
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานผ้าไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถถึงกับเคยรับสั่งว่า “แม้ผ้าถูเรือนก็อย่าละเลย อาจพบลายโบราณ ซึ่งจะสืบไปถึงช่างทอเพื่อสืบสานให้ดำรงอยู่สืบไปถึงช่างทอและเรื่องราวต่าง ๆ ได้”
“บางครั้งมีผู้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า ชาวบ้านบางรายนำผ้ามาถวายเพื่อขอรับพระราชทานเงิน แต่ผ้าชิ้นนั้นถูกแบ่งเป็นสองหรือสามผืน เพื่อให้มีผู้รับพระราชทานเงินได้ถึงสองหรือสามราย ทั้ง ๆ ที่ผู้ทอมีเพียงคนเดียว เมื่อเจ้าหน้าที่สงสัยและนำผ้ามาวางต่อกัน จึงทราบว่าเป็นผ้าชิ้นเดียวกัน แทนที่จะทรงตำหนิว่าชาวบ้านขี้โกง กลับทรงเห็นใจว่าชาวบ้านทำไปเพราะความยากจน ฉะนั้นปัญหาของชาวบ้านทุกปัญหาเป็นสิ่งที่พระองค์จะต้องทรงพิจารณาหาวิธีแก้ไขต่อไป”
สู่พิพิธภัณฑ์ผ้ามหาวิทยาลัยนเรศวร
นอกจากนี้ชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรและชาวพิษณุโลก ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากร้านจิตรลดา อันเป็นโครงการเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรขึ้น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา วิจัย จัดแสดง เผยแพร่ผลิตภัณฑ์และเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทยให้แก่บุคคลทั่วไปได้ศึกษา เรียนรู้ และซาบซึ้งในภูมิปัญญาไทย โดยมีห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา จัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนผ้าฝ้าย ผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ นอกจากนี้ยังมีห้องนิทรรศการอื่น ๆ ได้แก่ นิทรรศการผ้าไทครั่ง, นิทรรศการผ้าไทดำ และนิทรรศการหมุนเวียน จนถึงวันนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าเป็นหนึ่งในเส้นทางการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่พร้อมให้การต้อนรับผู้มาศึกษา เรียนรู้ เยี่ยมชม และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกแห่งวัฒนธรรม
อภิวันท์นบน้อมสดุดี สมเด็จพระราชินีแห่งหล้า
อาจิณพระก่อเกื้อกรุณา ศิลปะพาอาชีพเติมเสริมสร้างงาน
ฟื้นฟูจกยกซิ่นในถิ่นเหนือ อีกเอื้อเฟื้อแพรวาหมี่ศรีอีสาน
ฝ้ายดอกจอกภาคกลางสร้างผลงาน ชาวใต้นั้นสืบสานจวนตานี
เป็นฝีมือคือรายได้ในสยาม เลื่องลือนามทั่วแคว้นแดนไกรศรี
คนไทยชอบต่างชาติชมสมโสภี ดุษฎีศักดาปัญญาไทย
ขอบคุณข้อมูล
๑. หนังสือด้วยพระบารมีสู่ธรรมชาติและชีวิตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ จัดพิมพ์โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
๒. นิตยสารหญิงไทย ฉบับปักษ์แรก เดือนสิงหาคม ๒๕๕๐, ฉบับปักษ์แรกเดือนธันวาคม ๒๕๕๐, ฉบับปักษ์หลัง เดือนมิถุนายน ๒๕๕๕
๓. สูจิบัตรพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
๔. เอกสารจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ต่าง ๆ
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐
ความเห็นล่าสุด