One day Trip บ้านยายคำ บุรีรัมย์…หนึ่งเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนโดยมัคคุเทศก์น้อย เตรียมออกแบบผ้าทอลวดลายดอกดิน หนึ่งเดียวที่นี่

One day Trip บ้านยายคำ บุรีรัมย์…หนึ่งเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนโดยมัคคุเทศก์น้อย
เตรียมออกแบบผ้าทอลวดลายดอกดิน หนึ่งเดียวที่นี่

0812602

      เมื่อวันที่ ๑ – ๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยบุคลากร จัดโครงการ “การศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดีโดยใช้ท้องถิ่นเป็นฐาน” ให้แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านยายคำ ตำบลบ้านยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ ชอบทำดี ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ศึกษานิเทศก์ และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธีเปิด

0812603
     โรงเรียนบ้านยายคำ นับเป็นโรงเรียนแห่งที่ ๓ ในจำนวน ๑๐ แห่งของโรงเรียนนำร่องจากทั่วประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยววิถี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชุมชน ผ่านการฝึกอบรมเรียนรู้กระบวนการ จากนั้นเป็นการลงพื้นที่สืบค้นข้อมูล จนถึงการปฏิบัติจริง ฝึกเป็นมัคคุเทศก์ต้อนรับ นำเที่ยวในท้องถิ่นของตัวเอง รูปแบบ One day Trip บ้านยายคำ บุรีรัมย์ เริ่มตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ น. ชมปราสาทหินพนมรุ้ง ต่อด้วยการศึกษา เรียนรู้สวนพฤกษศาสตร์ดอกดิน รู้จักตำนานบ้านยายคำ ในรูปแบบ บ-ว-ร (บ้าน วัด โรงเรียน) จากนั้นนำเที่ยววัดเจริญนิมิตร ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านยายคำ นมัสการหลวงปู่เป็น เรียนรู้พุทธประวัติผ่านภาพแกะสลักรอบอุโบสถ พร้อมชมกุฏิไม้ ๕๑๔ เสา ตกเย็นชมวีถีชีวิตในหมู่บ้าน เช่น การทำขนม การทอผ้า ศิลปะประดิษฐ์ แวะถ่ายภาพ สูดกลิ่นไอของธรรมชาติ ณ สวนหมาก ท้องนา และลำห้วย กระทั่งเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ร่วมรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น เช่น แกงไก่ดอกดิน, แกงไก่กะทิ, ผัดดอกดินน้ำมันหอยหรือผักตามฤดูกาล, น้ำพริกผงปลาแห้ง หรือน้ำพริกแมงดา น้ำพริกปลาทู พร้อมดอกดินลวก หน่อไม้ลวก หรือผักตามฤดูกาล, ปลานิลเผาเกลือ, ขาหมูขึ้นชื่อ รับประทานกับข้าวหอมมะลิของบ้านยายคำ ปิดท้ายด้วยขนมหวาน ได้แก่ ขนมมุก, ขนมนมสาวหรือขนมเทียน พร้อมชมการแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านยายคำ

     ทั้งนี้บ้านยายคำมีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือ การปลูกดอกดิน แล้วนำมาประกอบอาหาร ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ทางกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจึงเตรียมต่อยอด โดยการออกแบบผ้าทอลายดอกดิน ให้เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ นับเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับชาวบ้านยายคำได้อีกทางหนึ่งด้วย