ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เก็บข้อมูล เพื่อจัดทำหอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร หอประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหอประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เก็บข้อมูล เพื่อจัดทำหอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร
หอประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหอประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

IMG_04016201

      เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ นางนิพัทธ์ เกษาพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  พร้อมด้วยนางสาวจรินทร เสโตบล หัวหน้างานวิจัย เผยแพร่ และสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม และบุคลากรเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์และหอประวัติ นิทรรศการต่าง ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค้นคว้า รวบรวมองค์ความรู้ในการจัดทำหอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร, หอประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหอประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามโครงการศึกษา ค้นคว้า พัฒนาระบบสารสนเทศและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร และจัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา แหล่งความรู้ในระดับภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง สำหรับสถานที่ศึกษาดูงานครั้งนี้ประกอบด้วย

[ngg_images source=”galleries” container_ids=”96″ override_thumbnail_settings=”0″ thumbnail_width=”240″ thumbnail_height=”160″ thumbnail_crop=”1″ images_per_page=”30″ number_of_columns=”0″ ajax_pagination=”0″ show_all_in_lightbox=”0″ use_imagebrowser_effect=”0″ show_slideshow_link=”1″ slideshow_link_text=”[Show slideshow]” order_by=”sortorder” order_direction=”ASC” returns=”included” maximum_entity_count=”500″ display_type=”photocrati-nextgen_basic_thumbnails”]

      @ หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร กาญจนบุรี ตั้งอยู่บริเวณวัดเทวสังฆารามพระอารามหลวง (วัดเหนือ) โดยจังหวัดกาญจนบุรี คณะสงฆ์และทุกภาคส่วนร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี ในโอกาสที่ทรงพระชันษาครบ ๘ รอบ ๙๖ ปี และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา การศึกษาอบรม การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาและที่พักผ่อนของประชาชน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖

     @ พิพิธภัณฑ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กาญจนบุรี
ศึกษาพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต.ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน กาญจนบุรี…สถานที่กระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังคงมีซากและร่องรอยที่เชื่อกันว่า เป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า

     @ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี หอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยการถ่ายทอดแนวพระราชดำริและพระราชจริยวัตรอันงดงามของทั้ง ๔ พระองค์ ภายใต้แนวคิด “การส่งต่อจิตวิญญาณแห่งการพยาบาลของครอบครัวมหิดล” ในรูปแบบเทคโนโลยีที่พลิ้วไหว อ่อนโยน สร้างความซาบซึ้ง อบอุ่น อิ่มเอิบหัวใจ

     @ หอพระราชประวัติพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม กับแนวคิด ฟ้า  รุ้ง ดิน ธาตุ “ฟ้า” สื่อถึง “เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช” รูปแบบเงียบสงบ เรียบง่าย ร่ายเรียงเรียนรู้และซึมซับเรื่องราว พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ ผ่านพระราชดำรัส รูปภาพ ข้อความ สื่อเสียง และวัตถุจัดแสดง อันถือเป็นสิ่งแสดงความคิดและจิตวิญญาณของพระองค์ ส่วนฝ้าเพดานกลางห้องมีประติมากรรมห้อยลอยอยู่ด้านบน เมื่อกระทบกับแสงธรรมชาติ จะเกิดผลึกสีรุ้งปรากฏขึ้น พื้นด้านล่างใต้ประติมากรรมมีบ่อน้ำแห่งปัญญา เป็นที่รองรับน้ำพระราชหฤทัยจากด้านบน เสมือนฝนที่นำความชุ่มฉ่ำแผ่ไปทั่งทั้งแผ่นดิน

     @ ห้องพระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บรมราชกุมารี ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ ชมพระสาทิสลักษณ์ วาดโดยอาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต และพระฉายาลักษณ์เกี่ยวกับพระราชประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนถึงการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ตลอดจนพระราชนิพนธ์ เครื่องเคลือบดินเผา และภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สมดั่งสมัญญาองค์ “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน

     @ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปทุมธานี ศึกษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลต่าง ๆ แถบบันทึกพระสุรเสียง แถบวีดิทัศน์ พระบรมฉายาลักษณ์ ฯลฯ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

     @ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชมพระราชประวัติพระกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญด้วยพระวิริยอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถ เพื่อพระราชทานความผาสุกร่มเย็นแก่พสกนิกรทั่วประเทศ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

     การศึกษาดูงานเพื่อเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ได้รับมุมคิด รูปแบบ การบริหารจัดการ วิธีการนำเสนออันหลากหลาย ทั้งในแบบพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิม และสมัยใหม่โดยการผสานเทคโนโลยีเข้ากับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดตั้งหอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร, หอประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหอประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อไป