วันอนุรักษ์มรดกไทยเทิดไท้องค์วิศิษฏศิลปิน
เดือนเมษายนนอกจากจะเป็นเดือนที่มีวันสำคัญอย่างเช่น วันคล้ายวันสวรรณคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดยาวที่เด็ก ๆ รอคอยแล้วยังมีวันสำคัญอยู่อีกวันหนึ่งคือ “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าวันทั้งสองที่ได้กล่าวมานั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร เดิมทีวันที่ ๒ เมษายนนั้นเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพียงอย่างเดียว ต่อมารัฐบาลได้มีมติประกาศให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ทั้งนี้เป็นเพราะทั้งเหล่าคนธรรมดาสามัญชน ตลอดจนข้าราชการ นักการเมืองต่างตระหนักในพระปรีชาสามารถในด้านศิลปวัฒนธรรมและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์สนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงานวัฒนธรรมของชาติเสมอมา โดยเฉพาะทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ ทั้ง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและศาสนา
การดำเนินงานวันอนุรักษ์มรดกไทย เริ่มขึ้นตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นต้น โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านอนุรักษ์มรดกไทย โดยได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้รับการทูลเกล้าฯถวายพระสมัญญาว่า “ เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ” และเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ วันศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็ได้ทูลเกล้าฯถวายพระสมัญญา “ วิศิษฏศิลปิน ” แด่พระองค์ท่าน ซึ่ง มีความหมายว่าทรงมีพระอัจฉริยะภาพและทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา ทรงมีคุณูปการต่อเหล่าศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของชาติ และยังทรงเป็นเมธีทางด้านวัฒนธรรม คือทรงเป็นปราชญ์ที่มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ
วันอนุรักษ์มรดกไทยในแต่ละปีจะมีการจัดกิจกรรม นิทรรศการ และการแสดงต่าง ๆ ขึ้นมา โดยเน้นเกี่ยวกับงานพื้นบ้านกับการสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น การสาธิตงานช่างพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน การเสวนาการแข่งขันตอบปัญหา อีกทั้งยังมีการเปิดพิพิธภัณฑ์โบราณสถาน-อุทยานประวัติศาสตร์ให้เข้าชมฟรี อีกทั้งบางแห่งก็ยังได้ฉายภาพยนตร์ รวมถึงรณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถาน และศาสนสถาน เป็นต้น
กิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในแต่ละปีล้วนแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัยและเหตุการณ์บ้านเมือง แต่ยังเน้นในเรื่องของการสร้างสำนึกและปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาร่วมมือกันอนุรักษ์และทำนุบำรุงวัฒนธรรมประเพณีตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยที่ถูกแบ่งไว้เป็น ๖ ข้อ ดังนี้
๑. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
๒. เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี
๓. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
๔. เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
๕. เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง
๖. เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนเปลี่ยนทิศทางไป
ในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี ๒๕๕๙ นี้สถานอารยธรรมโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรสวรร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลก และมหาวิทยาลัยพิษณุโลก จัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙ ณ ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก และหอประชุมอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี คุณย่าประสาท รักเลี้ยง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก
กิจกรรมประกอบด้วยการวางพานพุ่มถวายราชสักการะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, การแสดงรำถวายพระพร โดยภาควิชาศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, กิจกรรมทางวัฒนธรรม/การประกวดการแสดงศิลปวัฒนธรรม, ลานอาหารไทย ตลาดย้อนยุคเมืองพิษณุโลก ทั้งนี้สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินร่วมจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ, นิทรรศการเส้นสายชาติพันธุ์สู่การพัฒนาผ้าทอร่วมสมัย ได้แก่ การนำเสนอผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยการออกแบบลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก และงานวิจัยพัฒนาผ้าทอร่วมสมัย ระยะที่ ๒: แปรรูปผ้าทอเป็นกระเป๋า ตลอดจนการเดินแฟชั่นโชว์ชุดสีสันเส้นสายลวดลายชาติพันธุ์
ด้วยความเปลี่ยนแปลงจากทั้งสภาพของสังคมและผู้คนจึงทำให้มรดกไทย วัฒนธรรมไทยบางอย่างได้เปลี่ยนไป อีกทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะรักษาไว้ซึ่งมรดกไทยอันล้ำค่าเหล่านี้ไว้ จึงทำให้มรดกอันทรงคุณค่าของไทยบางส่วนได้ถูกทำลายไป ดังนั้นการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยจึงมีความสำคัญ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเพราะเมืองไทยของเราเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์เอาไว้มากมาย ทั้งศิลปะ หัตถกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ตลอดจนการดำเนินชีวิต และประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นมรดกอันทรงคุณค่าซึ่งควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่ต่อไป
นายธีรวัฒน์ ศรีจันทร์ นิสิตฝึกงาน สาขาวิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙
ที่มา
http://goo.gl/VQTnOf , https://goo.gl/hDAVi0 , http://goo.gl/E3eFPy , http://goo.gl/ezIKSV
http://www.chula.ac.th/th/archive/32965 , http://www.chula.ac.th/th/archive/33112
ความเห็นล่าสุด