รู้จักกี่เอว….หนึ่งเอกลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง ณ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

รู้จักกี่เอว….หนึ่งเอกลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง ณ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

เกร็ดงานวิจัย
โครงการสืบค้นตลาดพื้นเมืองกับวิถีชีวิตคนชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก

8425591

8425592

     หมู่บ้านกะเหรี่ยง แค่ชื่อหมู่บ้านข้าพเจ้าก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงอยากจะลองเข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศแบบคนกะเหรี่ยงดูสักครั้ง สิ่งที่ผู้คนสังเกตและรับรู้ได้ด้วยตนเองว่าคนกลุ่มนี้คือชาวเขาหรือกะเหรี่ยงก็คือการแต่งกายของพวกเขาที่เป็นเอกลักษณ์และดูสวยงามมีสีสันน่ามอง การแต่งกายของคนกลุ่มนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปักลวดลายและเพิ่มสีสันให้ดูสดใสเข้ากับบรรยากาศบ้านป่า

      ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เดินทางไปที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งหนึ่ง คือ บ้านป่าไร่เหนือ หมู่ที่ ๓ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะทราบอยู่ก่อนแล้วว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยง เป็นชนชาติเก่าแก่ชนชาติหนึ่งที่มีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเอง เอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นกะเหรี่ยงก็คือ ผ้าทอกะเหรี่ยง หมายถึง ผ้าของชุมชนชาวไทยกะเหรี่ยงที่มีเอกลักษณ์การทอผ้าด้วยกี่เอว การทอนั้นคือผ้าที่ผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลัง ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซี่เล็ก ๆ สอดด้ายพุ่ง และใช้ไม้แผ่นกระแทกเส้นด้ายให้แน่น กลุ่มชนชาติกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีกลวิธีการทอผ้าและรูปแบบของผ้าที่ใกล้เคียงกัน

     จากการที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาข้อมูลกี่เอวจากเวบไซต์ ผ้าทอพื้นบ้านกะเหรี่ยง http://www.otoptoday.com/wisdom พบว่าผ้าทอกะเหรี่ยงมีลักษณะวิธีการทอโดยทำลวดลายบนผ้าซิ่น ตัวซิ่นทอลายมัดหมี่สีแดงอมส้มสลับลายทอยกดอก ตีนซิ่นทอลายจกแล้วเย็บกับตัวซิ่น ส่วนเสื้อทำลวดลายด้วยวิธีการปัก ลวดลายด้านในและด้านนอกจะสวยงามสวมใส่ได้ ๒ ด้าน ชนิดของผ้าจะแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท  
๑) เสื้อผู้ชาย
๒) เสื้อผู้หญิงสีขาว (ไชอั่ว) เป็นเสื้อยาวคลุ่มเข่า ใช้สวมใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยมีประจำเดือน เสื้อสี น้ำเงิน (ไช่โพล่ง) เป็นเสื้อที่แสดงถึงการที่ผู้หญิงแต่งงานแล้ว ตัวเสื้อยาวคลุ่มเข่า คอวี ปัก ลวดลายรอบตัว
๓) ย่าม
๔) ผ้าโพกหัว
๕) ผ้าอื่นๆ
ลวดลายมี ๔ กลุ่มลาย ได้แก่
๑) ลายอ่องกึ้ย
๒) ลายอ่องทา
๓) ลายหนึ่ยไก๊ย
๔) ลายเฉะ

     ผ้าทอกะเหรี่ยงมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อสังคม บ่งบอกสถานภาพทางสังคม แสดงให้เห็นคุณวุฒิทางจริยธรรมและการควบคุมความประพฤติของผู้สวมใส่ควบคู่กับความสวยงามของลวดลาย ทั้งนี้ ได้มีการส่งเสริมให้นำผ้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การนำมาใช้ในการสืบสานประเพณี กินข้าวห่อ การส่งเสริมให้พัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และการส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดความรู้ให้อยู่กับชุมชน ปัจจุบันผ้าทอกะเหรี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม คือ การขาดแคลนช่างทอผ้ากะเหรี่ยงรุ่นใหม่ การหมดความนิยมในการใช้ การขาดความต่อเนื่องและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาผ้าทอ และกลายเป็นแค่สัญลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง

     การทอผ้าด้วยกี่เอว ในปัจจุบันนิยมทอเพื่อเป็นเครื่องใช้เล็ก ๆ เช่น เข็มขัด กระเป๋า สายสะพาย หรือเอาไว้ตกแต่งชิ้นงานต่าง ๆ หากต้องการผ้าชิ้นใหญ่ก็จะต้องนำมาเย็บต่อกัน ข้อดีของการทอผ้าด้วยกี่เอวคือเป็นกี่ขนาดเล็ก พกพาสะดวก ขั้นตอนไม่ซับซ้อน แต่ชิ้นงานที่ทออกมามีความสวยงาม ไม่แพ้กี่เอวขนาดใหญ่

      ข้าพเจ้าเดินทางมา ณ จังหวัดตาก เพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารของชาติพันธุ์ในครานี้ ได้มีโอกาสเห็นการทอผ้าด้วยกี่เอวเป็นครั้งแรก ซึ่งข้าพเจ้าขอบอกไว้เลยว่ากว่าจะได้มาเห็นตาตัวเองนั้น ระยะทางกับเส้นทางค่อนข้างที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาก เนื่องจากอยู่บนเขา รถมาถึงที่หมายแล้วแต่เราก็ไม่สามารถที่จะจอดรถไว้บริเวณหน้าบ้านได้ อากาศก็ค่อนข้างร้อน อีกทั้งกำลังขาของข้าพเจ้าที่ล้ามาก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้การพาตัวเองขึ้นไปถึงที่หมายลำบากมาก ถึงบ้านที่เราตั้งใจจะมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอนั่งพักก่อน ในขณะที่คนอื่น ๆ ขึ้นบ้านไปพูดคุยกับชาวบ้าน

       เป็นที่น่ายินดีว่า ณ หมู่บ้านป่าไร่เหนือแห่งนี้มีการทอผ้ากะเหรี่ยง ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าโพกผม จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป นับว่าเป็นการอนุรักษ์ความเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงไว้ ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันหาได้น้อยมาก ลวดลายผ้าดูสวย สีสดใสเหมาะกับผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านป่ามาก เพราะเสื้อผ้ามีส่วนทำให้หมู่บ้านนี้ดูสดใสมากยิ่งขึ้น ลวดลายที่คนกะเหรี่ยงถักทอออกมามันเป็นลวดลายที่สวยงามมาก ๆ และมีหลายขั้นตอนเลยทีเดียว กว่าจะได้ผ้าที่สวยงามออกมาแต่ละผืน

      เสื้อผ้าสีสันสวยงามแต่ละตัวถูกนำมาวางเรียงรายให้ผู้มาเยี่ยมชมคือพวกเราได้สัมผัสกับลวดลายสวยงามอย่างใกล้ชิด ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าชิ้น ผ้าพันคอ และผ้าโพกผม แต่ละชิ้นถูกจับขึ้นมาเชยชมจากโดยผู้ร่วมเดินทางของข้าพเจ้า ความสวยงามของลวดลายที่โดนใจทำให้ต่างคนต่างก็จับจองสินค้านั้น ๆ กันยกใหญ่ ทุกคนเลือกเสื้อผ้ากันอย่างสนุก มีการหยิบขึ้นมาเทียบตัวเพื่อดูความเหมาะสม เปลี่ยนเสื้อเพื่อใส่ถ่ายรูปก็มี เวลาผ่านไปสักพักทุกคนต่างก็มีของที่จับจองกันคนละชิ้นสองชิ้น แต่…. พี่ที่นำเสื้อผ้าออกมาให้ดูบอกว่าไม่ขายค่ะ ! เอาออกมาเพื่อให้ดูลวดลายเพราะมีลูกค้าจองไว้แล้ว… จากนั้นทุกอย่างเงียบและตามมาด้วยเสียงหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

     เอาเถอะ! ถึงเราจะไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมา แต่เราก็ได้ความรู้เกี่ยวกับผ้าทอของกะเหรี่ยง ได้เห็นวิธีการทอผ้าด้วยกี่เอว ได้เห็นลวดลายของผ้าซิ่น ผ้าโพกผม ที่กำลังถักทอด้วยกี่เอว การมาเยือนบ้านไร่เหนือในครั้งนี้เป็นการศึกษาผ้าทออย่างใกล้ชิดและข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งเหล่านี้คงจะเป็นสิ่งเดียวที่พวกเรานำกลับมาด้วยได้ …. นั่นก็คือ “ความทรงจำดีดี”

นางสาวเพ็ญประภา หมื่นสุดตา
นิสิตฝึกงานภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
๗ เมษายน ๒๕๕๙