อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเชียงคาน

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และองค์กรด้านการท่องเที่ยว
อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเชียงคาน

290659 2906591 2906592

     ชุมชนถนนสายวัฒนธรรมบ้านไม้เก่าริมโขง เขตเทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิมมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจมาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก

    สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย หรือ อพท.๕ จัดโครงการ “การสร้างภาพลักษณ์จุดหมายปลายทาง (Destination Branding) และกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนถนนสายวัฒนธรรม บ้านไม้เก่าริมโขงและพื้นที่เชื่อมโยง” ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อการบูรณะ ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อรักษาไว้ซึ่งแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

     ประกอบด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน เพื่อสงวนรักษาให้มีคุณค่าที่ยั่งยืนในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งงานฝีมือต่าง ๆ โดยมีการดำเนินงานดังนี้

     วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมเชียงคาน ริเวอร์ เมาเทน รีสอร์ท จัดการประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายท่องเที่ยว คนในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยายเรื่อง การเชื่อมโยงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่การสร้างตราสินค้าอย่างยั่งยืน พร้อมการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม

     วันที่ ๒๓ – ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล พร้อมด้วยบุคลากรสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน ถนนสายวัฒนธรรม ได้แก่ บ้านไม้เก่า, อาหารพื้นถิ่น, อาหารเลื่องชื่อ มะพร้าวแก้ว, ศิลปะการแสดง, ภูมิปัญญาการนวดยองเส้น, งานฝีมือตัดกระดาษ จักสาน, พิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์, การทำผ้าห่มนวมฝ้าย รวมถึงร้านอาหาร จุดชมทิวทัศน์ จุดถ่ายรูป ตลอดจนพื้นที่เชื่อมโยง คือ แก่งคุดคู้และชุมชนไททรงดำบ้านนาป่าหนาด

    จากนั้นเป็นการรวบรวม สกัด กลั่นกรองข้อมูล สู่การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมและพื้นที่เชื่อมโยงอันมีศักยภาพและทรงคุณค่า