19 กุมภาพันธ์ 2531 ไทย-ลาวหยุดยิง “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า”

19 กุมภาพันธ์ 2531 ไทย-ลาวหยุดยิง “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า”



เนิน 1428 ที่เคยเกิดปัญหากรณีพิพาทระหว่างไทยและลาวในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นของฝ่ายใด
ภาพถ่ายจากจุดชมวิวอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์ By เทวประภาส มากคล้าย, Via Wikimedia Commons

.

สมรภูมิบ้านร่มเกล้า เป็นกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดน
ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530
เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี
พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร

ด้านกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งกองกำลังหลักเข้าผลักดันกองกำลังลาว ที่เข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง
โดย “ยุทธการบ้านร่มเกล้า” ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พล. อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ. ทบ. (ในขณะนั้น)
ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด

ทหารไทยได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆ ที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก
รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนิน ซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้
ไทยต้องเสียเครื่องบินรบแบบเอฟ-5 หนึ่งลำ และโอวี-10 อีกหนึ่งลำ พร้อมกับชีวิตทหารอีกนับร้อยนายในการศึกครั้งนี้

.

สมรภูมิร่มเกล้า (ภาพจากหนังสือ นักรบเลือดไทย)

.

หลังการสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 นายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวในขณะนั้น
ได้ส่งสาส์นถึง พล. อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอให้หยุดยิง พร้อมตั้งคณะกรรมการพิสูจน์เขตแดน
และติดต่อสหประชาชาติให้ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งพล. อ. เปรมตอบรับ

นำไปสู่การเจรจา และได้ข้อตกลงโดยทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 เวลา 08.00 น.
และถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ 3 กิโลเมตร

ประภาส รวมรส อดีตทหารพรานได้เล่าประสบการณ์การรบ ช่วง “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า” ให้นิตยสารสารคดีฟังว่า
“เราเสียเปรียบเรื่องการสนับสนุนจากปืนใหญ่ บอกตรงๆว่า กองทัพภาคที่ 3 ยิงไม่แม่น รบไม่เก่งเท่ากองทัพภาคที่ 2 ซึ่งรบบ่อยกว่า
การส่งกำลังบำรุงของกองทัพภาคที่ 3 ก็แย่มาก เสบียงส่วนมากไม่ถึงแนวหน้า มีการคอร์รัปชันทุกอย่าง”

“ตลอดการรบเราต้องกินมาม่า หยวกกล้วย มะเขือยาว ดีหน่อยคือเนื้อทอดกับข้าวเหนียว
แน่นอนผมเป็นทหารรับจ้าง โวยวายไม่ได้มากนักเพราะชีวิตราคาถูก” ประภาสกล่าวตัดพ้อ

ด้าน น.อ.ไพโรจน์ เป้าประยูร อดีตนักบินโอวี-10 ที่ถูกยิงตก และโดนจับเป็นเชลยอยู่ในลาว 12 วันก็ได้ให้สัมภาษณ์ภับสารคดีเช่นกัน
โดยอ้างว่าทางกองทัพอากาศได้บันทึกบทเรียนศึกร่มเกล้า “คลาดเคลื่อน”
เช่นกรณีเครื่องของเขาที่ถูกยิงตกนั้นเป็นเพราะความผิดพลาดจากการวางแผนที่ใช้แผนเดิมซ้ำๆ จึงถูกยิงตก
ไม่ใช่เพราะบินวนรอตามที่กองทัพกล่าวอ้าง

“มันเกิดจากความผิดพลาดในการวางแผนที่ใช้แผนเดิมในวันต่อมา เขาดักรออยู่แล้ว
ผมไม่คิดร้องเรียนก็ให้ผิดอย่างนั้น เขาพยายามปกปิดบางอย่าง อาจพยายามปกป้องคนบางคน”  น.อ.ไพโรจน์กล่าว
.

ขอบคุณที่มา :: https://shorturl.asia/uN4Un