จัดโครงการ “การอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์
ในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง”
ให้แก่ ๘ โรงเรียนนำร่องในเขตภาคเหนือตอนล่าง
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ในฐานะเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาส่วนภูมิภาค จัดโครงการ “การอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ ในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัลปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก วัตถุประสงค์เพื่อเป็นกิจกรรมนำร่องเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล จัดการข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยมีโรงเรียนประถมศึกษา/มัธยมศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีประชุมเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกัน ผลการประชุมพบว่า โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายมีความสนใจอยากจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว แต่ยังขาดทักษะการวิเคราะห์โจทย์ในการเก็บข้อมูล วิธีการเก็บ และจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ
ดังนั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ ในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง จึงมีความจำเป็น เพราะเป็นการอบรมเพื่อให้แนวคิด/เครื่องมือในการทำความเข้าใจชุมชน วิเคราะห์ชุมชน ผ่านวิธีการเก็บข้อมูลอย่างง่าย แก่ตัวแทนโรงเรียนในเครือข่าย เพื่อให้ตัวแทนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำทักษะการวิเคราะห์ วิธีการเก็บข้อมูล และจัดการข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับกลุ่มเรียนรู้ในโรงเรียนได้ อีกทั้งยังมีความสามารถในการนำเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา (อย่างง่าย) ไปปรับใช้ให้เข้าพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและชุมชนได้อย่างภาคภูมิ
การอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยครู อาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน ๙ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนร่มเกล้าเขาค้อ เพชรบูรณ์, โรงเรียนบึงสามพันวิทยาคม เพชรบูรณ์, โรงเรียนนครไทย พิษณุโลก, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ นครไทย พิษณุโลก, โรงเรียนชาติตระการ พิษณุโลก, โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ตาก, โรงเรียนบ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ สุโขทัย และโรงเรียนอนุบาลท่าปลา (ชุมชนร่วมจิต) อุตรดิตถ์ มีวิทยากรบรรยายให้ความรู้และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องมือ วิธีการเก็บข้อมูลท้องถิ่นและการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกัน
กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสังคม-วัฒนธรรม ๔ ภูมิภาค ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมีความมุ่งหวังจะพัฒนาฐานข้อมูลทางสังคม-วัฒนธรรม ในเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมประเด็นทางวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นชาติพันธุ์วิทยา เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย และ/หรือการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยทางด้านชาติพันธุ์ ประเด็นที่เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม อาทิ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ เอกสารโบราณ และ/หรือข้อมูลด้านคติชนวิทยา โดยหวังจะให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคลังข้อมูลทางสังคม–วัฒนธรรมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
ความเห็นล่าสุด