ประเพณีบุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก เป็นบุญประเพณีที่สำคัญของชาวอีสานที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ สมัยโบราณ
จนได้มีการกำหนดไว้ในประเพณี 12 เดือน ควบกับครรลองปฏิบัติของฝ่ายปกครองหรือระบบการปกครองแบบอาญา 4 อีสานโบราณ
ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ในงานบุญบั้งไฟนั้นชาวอีสานจะร่วมแรงร่วมใจกันอย่างพร้อมเพียงและด้วยแรงศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

บั้งไฟปกติจะมี 3 ขนาด คือ บั้งไฟธรรมดา จะใช้ดินประสิวไม่เกิน 12 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นจะใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม
บั้งไฟแสน จะใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัม เมื่อทาบั้งไฟเสร็จแล้วก็จะมีการตกแต่งประดับประดาด้วยกระดาษสีอย่างสวยงาม
ซึ่งเรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า เอ้ ส่วนท่อนหัวและท่อนหางของบั้งไฟจะประกอบเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ส่วนมากจะเป็นรูปหัวพญานาค

เมื่อประดับประดาหรือเอ้เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ การแห่ไปสมทบกับหมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพโดยปกติบั้งไฟไม่ได้ทำเฉพาะหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น
จะบอกบุญไปยังหมู่บ้านที่มีสายสัมพันธ์ต่อกันและหมู่บ้านนั้นจะทำบั้งไฟมาร่วมด้วย เมื่อถึงเวลานัดหมายประมาณ 4-5 โมงเย็น
ทุกขบวนทั้งหมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพและหมู่บ้านแขกจะแห่บั้งไฟเข้าไปบริเวณวัด ขบวนแห่บั้งไฟถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง
เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี ศิลปวัฒนธรรม ความสนุกสนานและความดีงามทั้งหลาย ในขบวนแห่ จะมีการเซิ้งบั้งไฟและการละเล่นต่าง ๆ
ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เช่น การทอดแหหาปลา การสักสุ่ม บางขบวนก็จะมีการเล่นตลกในเชิงเพศสัมพันธ์
แต่ขบวนเซิ้งหลักจะแต่งตัวสวยงามแบบโบราณใส่กระโจมหัวเซิ้งเป็นกาพย์ให้คติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา มีความไพเราะและมีคติธรรมสอนใจ
ถึงแม้จะมีการละเล่นตลกและบทเซิ้งสืบไปในทางเพศสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างสีสันให้กับขบวนแห่ได้อย่างดี
ไม่ถือสาหาความกันแต่อย่างไร ส่วนหมู่บ้านอื่นที่มา บั้งไฟก็จะได้รับการดูแลต้อนรับจากหมู่บ้านเจ้าภาพเป็นอย่างดี
โดยหมู่บ้านเจ้าภาพจะเตรียมข้าวปลาอาหารที่สำคัญคือ ข้าวปุ้น (ขนมจีน) นํ้ายาปลาย่าง (ปลากรอบ) พร้อมสุรายาสูบ (ยาเส้นมวนใบตองกล้วยแห้ง)
ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นคุ้มว่าคุ้มใดสำหรับดูแลหมู่บ้านใด โดยปกติบุญบั้งไฟจะจัดเพียงสองวัน คือ วันรวม ซึ่งเรียกว่า วันโฮม
เป็นวันแห่ขบวนบั้งไฟไปรวมกันและวันจุด คือ วันรุ่งขึ้นของวันโฮม

พอถึงวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านที่เป็นเจ้าภาพทั้งชายหญิงจะแต่งตัวสวยงามตามประเพณีท้องถิ่น ผู้ชายจะใส่ผ้าโสร่งไหม ผู้หญิงจะใส่ผ้าซิ่น (สิ่น) ไหม
นำอาหารคาวหวานที่ดีที่สุดที่นิยมกันในแต่ละท้องถิ่นพร้อมเครื่องไทยทานอื่น ๆ ไปถวายพระที่วัด
หลังจากพระฉันเสร็จจะให้พร จากนั้นชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญจะรับประทานอาหารต่อจากพระเกือบทุกคน รวมทั้งแขกจากบ้านอื่น
บางคนก็จะมารับประทานอาหารที่วัดร่วมด้วย เมื่อทุกอย่างที่วัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำบั้งไฟไปที่ลานจุด ซึ่งทำเป็นร้านหรือค้าง (ฮ้าน)
บนต้นไม้สูงประมาณ 20-30 เมตร เพื่อให้หางบั้งไฟพ้นจากพื้น จากนั้นได้มีการจุดบั้งไฟที่นำมาตามลำดับที่จับฉลากได้
เมื่อบั้งไฟทุกบั้งจุดหมดก็จะถือว่าเป็นการจบสิ้นของงานบุญบั้งไฟปีนั้น

งานบุญบั้งไฟได้สะท้อนให้เห็นปรัชญา ภูมิปัญญาและภูมิความดีอยู่หลายประการ เป็นต้นว่าได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีพของคนในท้องถิ่น
ที่ผูกพันอยู่กับการทำนาข้าวน้ำฝน  ต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็มีความเชื่อว่ามีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ
สามารถบันดาลให้ธรรมชาติเป็นไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้น เมื่อถึงฤดูการทำนา จึงทำบั้งไฟไปจุด เพื่อบอกให้พญาแถนรับรู้
เพื่อพญาแถนจะบันดาลให้ฝนตกลงมาให้มีนํ้าทำนาต่อไป

นอกจากนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการสร้างสัมพันธไมตรีต่อกันของคนในสังคมที่อยู่รอบข้าง โดยมีการบอกบุญไปยังหมู่บ้านข้างเคียง
เพื่อให้นำบั้งไฟมาร่วมและวิธีการสร้างความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน ของคนในหมู่บ้าน โดยมีงานบุญบั้งไฟเป็นสื่อกลาง

ในปัจจุบันพบว่า งานบุญบั้งไฟมีบิดเบือนไปจากเดิมมาก มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อให้บั้งไฟของตนขึ้นสูงที่สุด
จนทำให้เกิดการระเบิดและเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนที่มาร่วมงานครั้งแล้วครั้งเล่า
ดังนั้น จึงเห็นควรที่คนรุ่นหลังจะได้ตระหนักและสืบทอดคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาที่เป็นแก่นแท้ของบรรพบุรุษอีสาน
ที่ได้สรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อความสงบเรียบร้อย ความร่มเย็นเป็นสุขของสังคมตลอดไป

 

ประเพณีบุญบั้งไฟ ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2556

ที่มาของเนื้อหา : https://shorturl.asia/MqYan