ความสำคัญของงาน…มากกว่าคำว่าหน้าที่
คุณค่าและความหมายที่มี…มิใช่เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต
– พอใจในสิ่งที่มี ดีในสิ่งที่เป็น
– ให้เพราะอยากให้ ไม่ใช่ให้เพราะอยากได้
– สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดีเสมอ
– สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น
– ความสำคัญอยู่ที่เราทำอะไร ไม่ใช่ทำกับใคร หรือทำที่ไหน
– เพียงจิตใจเข้มแข็ง ร่างกายก็แข็งแกร่ง
– เมื่อใจเป็นหนึ่ง ย่อมไร้ซึ่งอุปสรรค
– อุปสรรค ปัญหา ความผิดพลาด ล้มเหลว คือขุมพลังอันยิ่งใหญ่
…ฯลฯ
หลากหลายข้อความคมคายที่เคยเขียนเคยแต่งไว้ในยามสภาวะอารมณ์และเหตุการณ์อันแตกต่าง ค่อย ๆ ไล่เลียงปรากฏขึ้นในจิตใจ ตลอดการฟังการบรรยาย “คุณธรรม จริยธรรม นำสังคมสามัคคี + มีสุข” โดยดร.ปรีชา เรืองจันทร์ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร
“มัวมองหาในสิ่งที่ขาด จึงพลาดในสิ่งที่มี” ประโยคแรกที่กัดกินเข้าไปถึงทรวงใน คนเราส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้จริง ๆ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอยู่ตลอดเวลา แค่ตัวเองไม่พอ ยังสั่ง บังคับ บัญชา ชี้นิ้ว ให้คนรอบข้างเป็นไปด้วย บ้างก็มองเห็นแต่ข้อบกพร่องของคนอื่น ความดีทำแทบตายก็ไม่เข้าตา ตรงกันข้ามบางคนก็บอกว่าทำไมตัวเองไม่มีดีอะไรเลย ในขณะที่คนอื่นได้ดีกันทั้งนั้น
ครั้งหนึ่งฉันเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ นิสิตปริญญาโทสาขาวิชาการสื่อสาร MCM รุ่น ๒ ขึ้นเวทีกล่าวอวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทยให้แก่รุ่นน้อง (ประมาณว่าอาวุโสสุดแล้ว) ฉันได้ทีคายความอัดอั้นตัน ใจออกมาเป็นชุด จนน้อง ๆ ท้วงว่า “เขาให้ขึ้นไปกล่าวอวยพรนะพี่”
“คนส่วนใหญ่คาดหวังว่า จบปริญญาโทแล้ว ชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องก้าวหน้า ต้อง…อะไรอีกมากมาย สำหรับตัวเองแล้วนั่นเป็นเพียงฉากหน้า ไม่ใช่การพิสูจน์ศักยภาพของผู้ที่จบปริญญาโท ตอนที่ตัวเองเรียนมีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งที่สำคัญ แต่เมื่อเรียนจบ กลับลาออกจากตำแหน่งนั้น มาเป็นเพียงนักประชาสัมพันธ์ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าขอทำงานอย่างมีความสุข เท่าที่กำลังตัวเองมี และมั่นใจว่าจะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองที่ได้รับการประสิทธิ์ประสาทมาพัฒนางาน พัฒนาองค์กรได้ดีกว่าการเป็นหัวหน้าคนอื่น และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทุกวันนี้มีความสุขกับการทำงาน อุปสรรค ปัญหาใดใด หนักหนาแค่ไหนก็มิอาจขวางกั้นความมุ่งมั่นที่บางครั้งดูจะบ้าบิ่นด้วยซ้ำ ที่สำคัญผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง ได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน”
“เพื่อน ๆ ของพี่ทำงานดี ๆ กันทั้งนั้นเลยเน๊าะ” ฉันหันขวับทันทีที่ได้ยินประโยคนี้ อยากจะบอกว่าน้องเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า งานดีไม่ได้หมายความว่ามีตำแหน่งใหญ่โต หรืออยู่ในองค์กรที่มีชื่อเสียงนะ แต่หมายถึงการทำงานในตำแหน่งหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และที่สำคัญมีความสุข
“สิ่งที่วิเศษเหนือกว่าเทคโนโลยีและเครื่องมือก็คือมนุษย์ เพราะเครื่องจักรที่ดีที่สุดในโลกคือ ผลผลิตของมนุษย์ หาใช่ร่วงหล่นลงมาจากฟ้าแต่ประการใดไม่” ธนินท์ เจียรวนนท์
อย่าลืมว่าน็อตตัวเล็ก ๆ เพียงตัวเดียวก็เป็นฟันเฟืองทำให้เกิดพลังขับเคลื่อน
จงค้นหาและพอใจในสิ่งที่มี ทำให้ดีในสิ่งที่เป็น
…………………………………………….
“ทำอะไรให้ใส่ใจเข้าไปด้วย”
“ทำงานให้ได้งานและได้ใจ”
คำกล่าวของดร.ปรีชา เรืองจันทร์ที่โดนใจฉันอย่างแรง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ฉันมีโอกาสได้เป็น best practice ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติงานการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ประเด็นความรู้ “การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ และบุคลิกภาพที่ดีในการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์” ฉันบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในด้านการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ โดยนำเสนอเทคนิค กระบวนการ แรงบันดาลใจ ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จด้านการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ ในหัวข้อ “บันได ๑๐ ขั้น สู่การเป็นคนเขียนข่าวคุณภาพ” บันไดขั้นแรกของฉันคือ เอาใจใส่ในงาน “ทำงานต้องมีใจรัก ต้องรักงานที่ทำ” ประโยคที่เราได้ยินจนชินหู ประมาณว่ามันแน่อยู่แล้ว แต่สำหรับฉัน แค่ใจรักไม่พอ ทำงานทุกครั้งต้องเอาใจใส่เข้าไปในงานด้วย
เริ่มจากการเขียนข่าวที่ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฏี 5W 1H เท่านั้น ไม่ใช่แค่เขียนข่าวไปวัน ๆ ตามหน้าที่ให้เสร็จ ๆ ไป แต่ต้องให้สำเร็จ ด้วยการเติมเสน่ห์ แต้มความน่าสนใจ นั่นหมายความว่าต้องหาข้อมูลเพิ่ม ต้องมีวิสัยทัศน์ หรืออาจต้องมีคลังข้อมูล ความรู้อยู่ในตัว รวมทั้งการหาข่าวจากคนในองค์กรหรือผู้เกี่ยวข้อง ต้องเดินเข้าหาจริง ๆ เพราะบางทีมีงานเขาไม่บอก เราไม่รู้เลย บางงานรู้เอาวันจัดแล้ว ต่อมาคนในองค์กรเริ่มชิน มีงานอะไร เดินเอาข้อมูล รูปภาพมาให้เสร็จสรรพ เพราะฉันไม่สามารถไปทำข่าวได้ทุกงาน จนเดี๋ยวนี้รู้ใจกันไปแล้ว ใครไปทำอะไร ที่ไหน ต้องมีติดไม้ติดมือมาฝาก อย่างน้อย ๆ หยิบอะไรมาไม่ได้ ก็ถ่ายรูปคำกล่าวมาให้ นับได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ในองค์กรของตัวเอง เพียงแค่นี้การเขียนข่าวทุกครั้งของเราก็จะเปี่ยมด้วยพลังแห่งปัญญา ความสุข และความภาคภูมิใจ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอคำชมหรือการตอบรับจากสื่อมวลชน จริงอยู่ว่าเหล่านี้คือบทพิสูจน์ความตั้งใจ ผลตอบรับจากความมุ่งมั่น แต่สำหรับฉันนั่นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น เพราะความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว
เวลามีคนถามว่า ทำไมข่าว บทความของพี่ จึงได้ออกอากาศ ได้ตีพิมพ์ตลอดเวลา อย่างต่อเนื่อง คำตอบง่าย ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวของฉันก็คือ “เพราะพี่เอาใจใส่ในงาน”
ยังไม่หยุดแค่นั้น “พี่จะทุ่มเททำไมนักหนา เงินเดือนก็น้อย น้อยกว่าคนไม่ทำงานบางคนเสียอีก ไม่ได้อะไรตอบแทน แถมบางครั้งยังโดนด่าด้วยซ้ำ”
ฉันก็ได้แต่ยิ้ม เพราะถ้าคนถามคิดแบบนี้ก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะตอบ เพราะสิ่งที่ฉันได้รับกลับคืนมิอาจมองเห็นเป็นรูปธรรม มันคือความสุขใจ อิ่มใจ ภูมิใจ และใครจะว่าบ้าฉันก็ไม่โกรธ ยิ่งโดนด่า โดนตำหนิ ยิ่งผิดพลาด ล้มเหลว ฉันก็ยิ่งมุ่งมั่น ทุ่มเทมากกว่าเดิมหลายเท่า มันคือขุมพลังอันน่าทึ่ง สิ่งที่ฉันได้รับและสัมผัสมิอาจบรรยายเป็นถ้อยความได้ อย่างน้อย ๆ ฉันเชื่อว่าความผิดพลาดเกิดจากการทำงาน กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ กล้าเปลี่ยน ถ้าไม่อยากผิด ไม่อยากพลาด กลัวถูกตำหนิ กลัวความล้มเหลว ก็ทำแบบเดิมต่อไปละกัน
ฉันยังจำคำพูดของพี่ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เจ้านายคนแรกของฉันได้ดี “ในการประชุมประจำเดือนของคนทำงาน ต้องมีเรื่องพูดคุย ปรึกษาปัญหา ข้อเสนอแนะ ถ้าไม่มี นั่นแสดงว่าคุณไม่ทำงาน”
จงรู้ตัวว่าทำอะไร จงมีใจในสิ่งที่ทำ
…………………………………………….
“ศรัทธาในงานที่ทำหรือยัง”
“สะสมในสิ่งที่ดี อย่าให้เสียศักดิ์ศรีความเป็นคน”
“เราทำงานให้พระราชา ต้องให้พระราชามีความสุข”
จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ตากับยายปลูกฝังไว้ว่า เรียนจบแล้วให้สอบเป็นข้าราชการ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อีกทั้งพ่อและแม่ของฉันเองก็เป็นข้าราชการ แถมเป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ดีด้วย แต่คนรุ่นใหม่อย่างเรา ร่ำเรียนมาทางด้านนิเทศศาสตร์ จะให้เป็นข้าราชการที่ฝังหัวว่ามีภาพลักษณ์แบบเช้าชาม เย็นชาม ก็ดูจะไม่ท้าทาย ไม่สนุก ไม่เร้าใจ เรียกว่ารู้สึกต่อต้านคำสอนดังกล่าวเลยก็ว่าได้
เมื่อชีวิตผ่านร้อน ผ่านหนาว กรำศึกมาอย่างรอบด้าน สุดท้ายใครจะเชื่อว่า ฉันมาลงเอยที่งานราชการ แม้จะไม่ใช่ข้าราชการโดยตรง แต่ก็เป็นผู้สนองงานพระราชา ทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาท ตามสถานะพนักงานราชการ ปฏิบัติงานอย่างเต็มความรู้ ความสามารถ
ดุจคำสอนของท่านว.วชิรเมธี
งานไหน ๆ ไม่สำคัญเท่างานนี้ พระพุทธเจ้าเวลาทำงาน ทรงรับสั่งว่า “ฉันทำงานเหมือนราชสีห์” ราชสีห์เวลาจับหนูมันจะโดดตะครุบด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ด้วยศักยภาพทั้งหมด เช่นเดียวกัน เวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมไม่ว่าจะแสดงให้พระมหากษัตริย์ แสดงให้มหาเศรษฐี แสดงให้โสเภณีฟัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฉันใช้ศักยภาพเท่ากัน ไม่เคยลดน้อยลงเลย” พระพุทธเจ้าแสดงธรรมระดับมืออาชีพ ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงรับนิมนต์โสเภณีคนหนึ่งชื่อ นางอัมพปาลี วันนั้นพวกกษัตริย์ลิวฉวี เดินทางไปนิมนต์พระพุทธเจ้า พากันนั่งราชรถขาวไป ๗ คันรถ พอไปถึงก็ทูลนิมนต์พระพุทธองค์ไปเสวยที่พระตำหนัก พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่ารับนิมนต์หญิงโสเภณีไว้แล้ว แม้ว่าเหล่ากษัตริย์จะยินดีจ่ายแบบไม่อั้นก็ไม่สำเร็จ กระทั่งไปต่อรองกับหญิงโสเภณี โดยกษัตริย์ทั้ง ๗ ยินดีสละทรัพย์สินทั้งเมืองที่ครอบครองอยู่เพื่อแลกกับการยกสิทธิ์นิมนต์พระพุทธเจ้าให้ก็ไม่เป็นผล
เราทุกคนก็เช่นกัน เวลาทำงาน งานของเราต้องสำคัญที่สุด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ เพราะถ้าเราทำให้ดีที่สุด ผลงานที่เราทำนั้นจะประกาศศักยภาพของเราไปตลอดชีวิต
รินใจใส่งาน หลักการเชิงพุทธ เมื่อครั้งท่านว.วชิรเมธีเดินทางไปเมืองจีน ได้ไปเห็นกำแพงเมืองจีนที่มีอายุยืนมากถึงสองพันกว่าปี จึงถามมัคคุเทศก์ว่า “ทำไมกำแพงที่นี่ถึงทนมาก” มัคคุเทศก์บอกว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงโปรดให้ปั้นอิฐแต่ละก้อนด้วยวิธีพิเศษ แล้วทุกคนที่ปั้นอิฐจะต้องจารึกชื่อตัวเองไว้ที่ก้อนอิฐ เมื่อเผาเสร็จแล้วจึงเอาไปก่อเป็นกำแพง ฝนตกแดดส่องถ้าอิฐของใครสึกหรอ เอาคนปั้นที่มีชื่อเขียนติดไว้ไปตัดหัว แล้วเอาศพฝังไว้ใต้ซากกำแพงเมือง”
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนจึงตั้งใจบรรจงอิฐอย่างสุดความสามารถ เพราะกลัวตายจึงตั้งใจปั้นจริง ๆ อิฐทุกก้อนจึงอยู่คงทนมาถึงทุกวันนี้ ถ้าเราทำงานได้เหมือนคนปั้นอิฐของจิ๋นซีฮ่องเต้ งานของเราจะเป็นงานที่ดีที่สุด ลูกค้าที่มาเจอหน่วยงานเราจะได้ประทับใจกลับไป อย่าทำงานเหมือนลวกก๋วยเตี๋ยว ลวก ๆ เอาละ สุกบ้างไม่สุกบ้าง เอาไปให้มันลวกปากลูกค้าต่อ ทำงานต้องทำให้ดี ต้องประณีต ประณีตหมายถึงรินใจใส่งาน ถ้ารินใจใส่งานจะได้งานชิ้นเอกทุกเรื่องทุกครั้งไป
สำหรับฉันแล้วแน่นอนว่า การทำงานของปุถุชนทั่วไปไม่ได้มีชีวิตเป็นเดิมพันเหมือนคนปั้นอิฐของจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่ย่อมมีเหตุผลอยู่ในตัว เช่น ข้าราชการ ทำงานสนององค์ราชา ทำให้ราชามีความสุข และประชาชนมีความสุขให้สมกับที่ประชาชนจ่ายภาษีมาเป็นเงินเดือนของเรา และด้วยเหตุผลที่สำคัญที่สุดนั่นคือ คุณค่าความเป็นคน
“ฉันไม่ได้มองตนเองว่าเป็นเด็กยากจนข้นแค้นที่บังเอิญไต่เต้าขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ แต่มองตนเองว่าเป็นใครสักคนที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง และจะต้องทำจนสุดความสามารถ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ” คำกล่าวของ โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรหญิงอันดับหนึ่งของโลก
“เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ ที่มิได้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แปะติดอยู่บนโต๊ะทำงาน แต่กลายเป็นจิตวิญญาณของฉันไปเสียแล้ว ฉันสามารถสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ให้องค์กรได้อย่างงดงามท่ามกลางความขาดแคลน
ฉันเคยคิดว่าคนเราทำงานอย่างมีความสุขนอกจากรักในงานที่ทำแล้ว ต้องศรัทธาในงาน องค์กร และผู้บังคับบัญชาด้วย…แต่ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ดำดิ่งสุดสุด…พยายามท่องไว้ว่า เมื่อรัก ศรัทธาเจ้านายและหน่วยงานไม่ได้ ก็ยังมีงานที่ตัวเองรักเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
“สาเหตุที่ทำให้คนล้มเหลวนั้น เป็นเพราะคนที่ล้มเหลวทุกคนไม่ได้ตระหนักว่า ขณะที่เขาล้มเลิกความตั้งใจนั้น เขากำลังอยู่ใกล้ความสำเร็จเพียงใด” โธมัส แอลวา เอดิสัน
เมื่อหัวใจเป็นหนึ่ง ย่อมไร้ซึ่งอุปสรรค
…………………………………………….
“ทำออกมันเบา ทำเอามันหนัก”
“ทำให้มันเบา คิดเอามันหนัก”
เพียงแค่ช่วยพาผู้สูงอายุลงบันได ให้อาหารแก่หมาจรจัด ช่วยถือของ เก็บกระเป๋าสตางค์คืนเจ้าของ…ฯลฯ ก็รู้สึกดี มีความสุขแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระหว่างนั่งรอพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร มีนิสิตมายกมือไหว้และแนะนำตัวว่ามีความเกี่ยวพันกับฉันอย่างไร ฉันถามว่ามาหาหมอเหรอ น้องตอบว่ามาทำงานจิตอาสาดนตรีในสวน ของชมรมจิตอาสาพระนเรศวร ไม่ได้มาเก็บชั่วโมง เก็บคะแนนใดใดทั้งสิ้น มาด้วยใจ โดยจะมาออกบูธทุกวันจันทร์กับพุธ มาเล่นดนตรีร้องเพลงเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้คนไข้และญาติ พร้อมมีน้ำผลไม้บริการฟรีด้วย สมาชิกชมรมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เป็นข้าราชการบำนาญที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฉันเห็นมีนิสิตอยู่ ๒ คนเท่านั้น เสียงขับกล่อมจึงเป็นเช่นเสียงสวรรค์ ดุจมวลดอกไม้สุดระรื่นชื่นใจยิ่งนัก
วันนั้นฉันถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงเฟสบุ๊ค “สุขใดไหนเล่าเท่าการให้ เพียงพบเห็นก็อิ่มเอม ปริ่มเปรมใจ โดยมิหวังสิ่งตอบแทน…ผู้ให้คือผู้ได้รับ”
ความดีทำได้โดยไม่ต้องรอ ไม่ต้องรอให้มีเงินเหลือใช้ เป็นมหาเศรษฐี มีชื่อเสียง เพราะการให้ไม่ได้หมายถึงให้ทรัพย์สินเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว การให้ด้วยหัวใจนั้นยิ่งใหญ่เหนือพรรณนา
“ความดีของใจอยู่ที่ความลึกซึ้ง ความดีของมิตรภาพอยู่ที่ความรัก ความดีของคำพูดอยู่ที่ความซื่อสัตย์” เล่าจื๊อ จอมปราชญ์แห่งลัทธิเต๋า
“จิตใจที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นหน่อของเมตตาธรรม จิตใจที่รู้อับอายเป็นหน่อของคุณธรรม จิตใจที่โอนอ่อนผ่อนตามเป็นหน่อของจริยธรรม จิตใจที่รู้ผิดรู้ชอบเป็นหน่อของสติปัญญา” เม่งจื๊อ ปราชญ์เมธีแห่งแผ่นดินจีน
การทำความดีไม่ใช่ให้ใครมากำหนดหรือมองเห็น เชิดชู แต่หมายถึงการมีความสุขในสิ่งที่ทำ ทำอย่างเต็มที่ เต็มใจ เต็มความสามารถ ไม่เบียดเบียน สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
…………………………………………….
“มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้”
ศูนย์หน้าหรือดาวยิงคงไม่สามารถทำประตูได้ถ้าไม่มีเพื่อนร่วมทีมชงลูกฟุตบอลส่งให้,ผู้บังคับบัญชาที่เก่งกาจปราดเปรื่องเพียงใดหากไร้ลูกน้องหรือทีมงานก็มิอาจทำให้ความคิดกลายเป็นความจริงได้, จริงอยู่ต้นไม้ใหญ่ยืนยงได้ด้วยรากแก้ว แต่อย่าลืมว่ารากฝอยคอยยืนหยัดส่งเสริมให้ผลิดอกออกผล เก่ง กล้า แกร่ง แค่ไหนก็มิอาจทำการณ์ใหญ่สำเร็จได้เพียงหนึ่งสมอง สองมือ
ครั้งหนึ่งของการทำงานในบริษัทผลิตรายการวิทยุ ตำแหน่งพนักงานเขียนบทสารคดีซึ่งไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนกในภายหลัง วันหนึ่งผู้จัดการคงมองเห็นอะไรบางอย่าง จึงเดินตรงมาที่โต๊ะทำงานของฉันแล้วกล่าวประมาณว่า “อย่าน้อยใจไปเลยนะ ว่าเราทำงานแล้วไม่มีคนเห็น ไม่มีใครรู้ จงภูมิใจว่าเราคือพลังสำคัญของความสำเร็จในเบื้องหน้า” ประโยคนี้ยังก้องอยู่ในหัว แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า ๒๐ ปีแล้ว
“ไม่มีมนุษย์คนใดไม่ต้องการความช่วยเหลือ ดอกบัวยังต้องอาศัยก้านใบค้ำชู รั้วแถบหนึ่งต้องมีเสาค้ำอย่างน้อย ๓ ต้นคนเก่งคนหนึ่งต้องมีผู้ช่วยอย่างน้อย ๓ คน” เหมา เจ๋อตุง ประธานาธิบดีลำดับที่ ๑ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
“ชื่อเสียง คือ เงาของกิเลสที่ยืนอยู่ในความสว่าง” คาลิล ยิบธาน มหากวีเอกชาวเลบานอน
สิ่งนี้ยังเตือนใจฉันได้อีกว่า “อย่าชื่นชมเพียงสิ่งที่เห็น เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น”
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฉันเขียนถึงผู้ชายคนนี้ด้วยหลากหลายอารมณ์ ความรู้สึก ทั้งชื่นชม เคารพยกย่อง แกมประหลาดใจ เชื่อว่าในโลกนี้มีน้อยคนนักหรืออาจไม่มี เช่นเขาคนนี้ แรนดี เพาซ์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน…จากบทหนึ่งของหนังสือเดอะลาสต์เลกเชอร์ที่เขาฝากไว้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนบนบนโลกใบนี้ โดยที่ไม่รู้ร่างกายหรือวิญญาณของเขาอยู่ ณ แห่งหนใด
บทที่ ๑๓ ผู้ชายในรถเปิดประทุน เช้าวันหนึ่ง นานพอควรหลังจากที่ผมรู้ผลว่าเป็นมะเร็ง ผมได้รับอีเมลจากรอบบี โคแซค รองอธิการบดีฝ่ายความก้าวหน้าของคาร์เนกีเมลลอน เธอเล่าเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง เธอเล่าว่า ขณะที่เธอขับรถกลับบ้านหลังเลิกงานเมื่อคืนก่อน มีผู้ชายขับรถเปิดประทุนอยู่ข้างหน้า คืนนั้นเป็นคืนที่อากาศอุ่นสบาย มีบรรยากาศแสนสวยงามของช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ชายคนนั้นเปิดหลังคารถและลดกระจกลงทุกด้าน แขนของเขาพาดออกมานอกหน้าต่างด้านคนขับ และนิ้วของเขาเคาะตามจังหวะเพลงจากวิทยุ เขาโยกศีรษะไปมาตามจังหวะเพลง ขณะที่ลมพัดเส้นผมเขาปลิวไสว รอบบีเปลี่ยนช่องจราจรและขับรถเข้าไปใกล้ขึ้น จากด้านข้าง เธอสังเกตว่าชายคนนี้มีรอยยิ้มบาง ๆ เกลี่ยอยู่บนใบหน้า เป็นรอยยิ้มแบบไม่รู้ตัวของคนที่อยู่ตามลำพังเป็นเป็นสุขกับความคิดของตัวเอง รอบบีคิดว่า “โอ้โฮ นี่คือสุดยอดของคนที่มีความสุขกับวันนี้และเวลานี้อย่างแท้จริงเลยนะนี่” รถเปิดประทุนคันนั้นเลี้ยวที่มุมหัวถนนและรอบบีก็ได้เห็นหน้าชายคนนั้นเต็มตา “อุ๊ยตายแล้ว!” เธออุทานกับตัวเอง “นั่นแรนดี เพาซ์นี่!”
เธออี้งไปเลยที่เห็นว่าเป็นผม เธอรู้ว่าผลการตรวจมะเร็งครั้งสุดท้ายล่าสุดของผมเป็นข่าวร้าย เธอบอกว่า เธอรู้สึกประทับใจมากที่เห็นผมมีความสุข สดชื่นกับชีวิต แม้ในเวลาที่ผมอยู่ตามลำพัง ผมก็ยังดูมีความสุขสุด ๆ เธอเขียนว่า “คุณคงไม่มีทางรู้หรอกว่า”การได้เห็นคุณในวันนั้น ทำให้ฉันมีความสุขมากแค่ไหน มันเตือนให้ฉันระลึกรู้ว่าชีวิตคืออะไร” ผมอ่านอีเมลของรอบบีซ้ำหลายครั้ง และมองว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรปฏิกิริยาย้อนกลับจากคนรอบข้าง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคงความสามารถในการมองโลกในแง่ดีตลอดข่วงเวลาที่รักษามะเร็ง เพราะเมื่อคุณอยู่ในอาการป่วยหนัก มีพยาธิสภาพน่าหวาดหวั่น ก็ยากที่จะบอกว่าอารมณ์ที่คุณมีนั้นเป็นของจริงหรือไม่ บางครั้งผมก็สงสัยตัวเองว่ากำลังเสแสร้งต่อหน้าคนอื่นอยู่หรือเปล่า บางครั้งผมก็อาจต้องบังคับตัวเองให้ดูแข็งแรงและร่าเริง ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายคนรู้สึกเป็นหน้าที่ที่จะต้องแสร้งทำเป็นเข้มแข็งเข้าไว้ ผมกำลังทำอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า แต่รอบบีเห็นผมในขณะที่ผมไม่ได้ระวังตัว ผมอยากจะคิดว่าเธอเห็นผมอย่างที่ผมเป็นจริง ๆ แน่นอนว่าบ่ายวันนั้นเธอเห็นผมอย่างที่ผมเป็นจริง ๆอีเมลของเธอมีเพียงย่อหน้าเดียว แต่มีความหมายมหาศาลสำหรับผม เธอเปิดหน้าต่างให้ผมได้มองเห็นตัวเอง ผมยังมีชีวิตอยู่อย่างเต็มร้อย ผมยังรู้ว่าชีวิตคือเรื่องดี ๆ และผมยังโอเคอยู่
และผู้ชายคนนี้ แรนดี เพาซ์ ได้ใช้ชีวิตของเขาอย่างมีความสุขและมีคุณค่าจวบจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
“จงมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างความหวัง จงมองไปข้างหลังเพื่อแก้ไขสิ่งผิด ถ้าไม่มีความหวังก็เหมือนคนสิ้นคิด ถ้าไม่เคยมีความผิดก็เหมือนไม่ใช่คน” นโปเลียน โบนาปาร์ต จักรพรรดิผู้เรืองนามแห่งฝรั่งเศส
…………………………………………….
เกิดมาเป็นคนทั้งที จงใช้ชีวีอย่างรู้ตน รู้ตัว คุ้มค่าและมีคุณค่า
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙
ความเห็นล่าสุด