“หล่อหลอมดวงใจใส่ผืนผ้า”
หนึ่งบทพิสูจน์หัวใจคนไทย เข้าถึง เข้าใจ “ความพอเพียง”
ท่ามกลางความโศกเศร้า อาลัย ของคนไทยทั้งแผ่นดิน
ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดภาพคนยื้อแย่งกันซื้อเสื้อสีดำ ราคาเสื้อที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว คำเหยียดหยามต่อว่าผู้ที่ไม่สวมใส่ชุดดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดยูนิฟอร์มหลากสีสันขององค์กร ว่าไม่รักในหลวง
บางคนไม่กล้าออกนอกบ้าน ไม่กล้าเดินออกไปซื้อของหน้าปากซอย เพราะไม่รู้ว่าจะถูกถ่ายรูปแล้วนำไปโพสต์เป็นประเด็นหรือไม่
คือความจริงที่ชวนสลดหดหู่ สะเทือนใจ สะท้อนในหัวอกยิ่งนัก รัฐบาลเองก็คงคาดไม่ถึง ไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับ ยังดีที่ออกประกาศมาแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
นี่คนไทยคงลืมไปแล้วกระมังว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นแบบอย่างแห่งความพอเพียง
หลอดยาสีพระทนต์จะทรงรีดจนเรียบหมด
ฉลองพระองค์จะทรงใช้เฉลี่ย ๕ – ๖ ปี ฉลองพระองค์เก่าสุดทรงใช้ถึง ๑๒ ปี
ฉลองพระบาทผ้าใบราคาไม่กี่ร้อยบาทที่ไม่เคยเปลี่ยนยี่ห้อเลยตลอด ๖๐ ปี
ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสาวรีย์ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พระองค์เสวยข้าวผัดกับไข่ดาวเหมือนกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ
เศรษฐกิจพอเพียง…จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้
แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน
ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ณ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
เหมือนฟ้าบันดาล สวรรค์เป็นใจ ช่วงบ่ายวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ เจ้านายของฉันโทรศัพท์มาปรึกษาว่า เราจะทำโครงการย้อมเสื้อสีดำให้ฟรี ให้ช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ด้วย เพราะเจ้านายก็มีความรู้สึกไม่แตกต่างจากฉันเลย อีกไม่กี่นาทีต่อมาข้อความประชาสัมพันธ์ถูกส่งไปยังฝ่ายออกแบบ เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันใช้สื่อโซเชียลอันทรงอานุภาพให้เป็นประโยชน์ การโพสต์แบนเนอร์บนเฟซบุ๊กของหน่วยงานและแท็กไปยังทุกคนในองค์กร ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว มีข้อความเข้ามาชื่นชม แจ้งความประสงค์ว่าจะนำเสื้อมาย้อม เจ้านายแจ้งกลับมาว่ากระแสแรงมาก มีผู้แจ้งความประสงค์มา ๓๐๐ คนแล้ว
ฉันเน้นย้ำด้วยข่าว บทกลอน และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน ขอเชิญชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรและชาวพิษณุโลกเข้าร่วมโครงการ “หล่อหลอมดวงใจใส่ผืนผ้า” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมแสดงความไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการนำเสื้อที่มีอยู่มาย้อมเป็นสีดำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น พร้อมร่วมลงนามไว้อาลัย และรับริบบิ้นดำ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ – ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๕.๓๐ น. ณ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ร่วมหล่อหลอมดวงใจใส่ผืนผ้า ตามปรัชญาพอเพียงเคียงการให้
ด้วยตระหนักพอประมาณความจริงใจ อีกร่วมไซร้สืบสานภูมิปัญญา
ชาวสองแควรวมใจให้พร้อมภักดิ์ นำเสื้อจักที่มีมิซื้อหา
ย้อมเปลี่ยนเป็นสีดำล้วนนำพา น้อมวิญญาอาลัยใจผูกพัน
เช้าวันที่ ๑๗ ตุลาคม วันทำงานวันแรกของสัปดาห์ เจ้าหน้าที่แต่ละคนจึงสาละวนกับการตระเตรียมข้าวของต่าง ๆ นอกจากสีย้อมผ้าแล้ว ยังต้องมีอุปกรณ์อีกมากมาย อีกฝ่ายแบ่งกันจัดทำซุ้มลงนามแสดงความไว้อาลัย พร้อมมุมจัดทำริบบิ้นดำให้แก่ผู้ที่นำผ้ามาย้อม ลองผิดลองถูกกันไป แม้จะดูฉุกละหุก แต่ทุกคนตั้งใจ อิ่มใจ มีความสุขอย่างล้นเหลือ สถานที่ยังจัดได้ไม่สวยงาม เรียบร้อยดั่งใจ แต่กิจกรรมของเราต้องเดินหน้าไป ยังไม่ทันบ่ายโมง น้องยังก่อไฟไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ มีคนหิ้งถุงผ้าเดินมาแล้ว มาไกลจากต่างอำเภอด้วย เราให้การต้อนรับขับสู้ เชิญชวนลงนาม พลางเย็บประดิษฐ์ริบบิ้นดำ ไม่นานกระบวนการย้อมผ้า แปรเปลี่ยนผ้าสีต่าง ๆ ให้เป็นสีดำก็เริ่มขึ้น ด้วยความกระฉับกระเฉง แคล่วคล่องของทีมงาน เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ผู้คนเริ่มทยอยมา สนุกสนานกับการเริ่มต้นนำเสื้อมาแช่น้ำเปล่าเพื่อให้เส้นใยขยายตัวสามารถดูดซับน้ำสีดำได้ดี จากนั้นนำไปต้มกับน้ำย้อมผ้าสีดำที่ผสมเกลือแกงหรือเกลือทะเลเพื่อให้สีติดทนนาน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก็ได้เสื้อตัวใหม่ สีดำต่างเฉดกันออกไป บ้างก็มองเห็นเน้นลวดลายได้อย่างโดดเด่น สวยงาม มีบางตัวที่ไม่เป็นไปตามที่คิด แต่แน่นอนว่าแต่ละคนไม่ได้ถือมาแค่ตัวเดียว
หล่อหลอมดวงใจใส่ผืนผ้า นับเป็นกิจกรรมที่ดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงอธิบายไว้ว่า ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้กิจกรรมนี้ยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาด้านการมัดย้อมผ้าอีกด้วย
ระหว่างการบันทึกภาพนิ่ง ภาพวีดีโอ ฉันก็ต้องให้การต้อนรับสื่อมวลชนที่หลั่งไหลกันมาทำข่าว ทั้งบันทึกภาพ สัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
“สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินได้ดำเนินงานเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า พิพิธภัณฑ์ชีวิต โดยสืบสานพระราชปณิธานด้านการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ มาโดยตลอด วันนี้จึงนำองค์ความรู้เรื่องการย้อมผ้ามาให้ประชาชนรู้ว่า การน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการเปลี่ยนของดั้งเดิมที่มีอยู่สู่กระบวนการย้อมเป็นสีดำได้ โดยไม่ต้องซื้อหาใหม่ เป็นการสร้างจิตสำนึกตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน”
“พอรู้ข่าวก็รีบมาเลย ดีใจมาก วันนี้ไม่เพียงแค่ได้เสื้อดำกลับไปสวมใส่เพื่อแสดงความอาลัยเท่านั้น แต่ยังได้ความรู้กลับไปลงมือทำด้วยตัวเองและบอกต่อให้คนอื่น ๆ ด้วย” นางวันดี ไพรัช โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม
“มีความภาคภูมิใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นล้นพ้น อย่างน้อย ๆ ก็ได้ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนเรศวร พระนามของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้ และวันนี้ยังได้เดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านอีกด้วย นับเป็นความปลาบปลื้มยิ่งนัก วันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไปจะชวนเพื่อนมากันเยอะ ๆ” นายนพดล กองคำแก้ว นิสิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ก่อนปิดกิจกรรม “หล่อหลอมดวงใจใส่ผืนผ้า” ในวันแรก มีนิสิตรุ่นพี่หอบเสื้อมากองโต บอกว่าจะย้อมเอาไปให้รุ่นน้องที่คณะใส่
เมื่อฉันโพสต์รูปกิจกรรมลงบนเฟซบุ๊ก ยอดไลท์พุ่งกระฉูด มีหลากหลายข้อความสอบถามถึงชนิดของผ้าที่ต้องเตรียมมา จำนวนหลายชิ้นได้หรือไม่ บ้างก็จะเข้ามาศึกษากระบวนการ ถามรายละเอียดมากมาย จนฉันตอบคำถามแทบไม่ทัน เรียกว่าห่างเฟซบุ๊กไม่ได้เลย ก่อนเลิกงานมีน้องเดินเข้ามาบอกว่า เมื่อสักครู่มีคนโทรศัพท์มาว่า มีเสื้อเป็นพันตัว ต้องการนำมาย้อมแล้วนำไปบริจาคให้คนทั่วไป ฉันจึงบอกว่าให้ไปปรึกษาเจ้านายว่าเราจะมีกำลังพอหรือไม่ ฝ่ายสถานที่ก็วางแผนว่าจะจัดบริเวณให้สวยงามดูดีกว่านี้
ตกดึกน้องคนเดียวกันส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊ก บอกว่า วันพรุ่งนี้จะมีคนนำน้ำสมุนไพรมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มาย้อมผ้า
“หล่อหลอมดวงใจใส่ผืนผ้า” คือการตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อเกิดให้ผลลัพธ์ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒
“วันนี้มีแต่คนมองในหลวงแล้วปลาบปลื้มน้ำตาไหล แต่น้อยคนที่จะพยายามเข้าใจว่าทรงสอนอะไร” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
หรือนี่คือห้วงเวลาแห่งการพิสูจน์หัวใจของคนไทย…ความพอเพียงที่นำไปสู่ความมั่นคง ความเข้าอกเข้าใจ การให้อภัย ที่ทำให้สังคมไทยสงบสุข รอยยิ้ม น้ำใจไมตรีที่ทำให้เมืองไทยไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน พื้นที่ใดล้วนน่าอยู่ ชวนจดจำ คงความประทับใจ…ไทยยังคงความเป็นไทยตลอดไป?
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
ความเห็นล่าสุด