ไม้จันทน์หอม จากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ไม้จันทน์หอม จากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
สู่งานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

1411593

     ในขณะที่คนไทยทั่วสารทิศเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยหัวใจของความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทางสำนักพระราชวังเองก็มีหน้าที่ในการจัดเตรียมพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งหนึ่งข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่คนไทยได้รับรู้จากสื่อต่าง ๆ ก็คือ การคัดเลือก จัดเตรียมไม้จันทน์หอม จากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

      เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ผู้แทนจากสำนักพระราชวัง พร้อมด้วยหัวหน้าโหรพราหมณ์ และคณะได้เดินทางไปสำรวจและคัดเลือกไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นทางอุทยานฯ กุยบุรีได้จัดเตรียมไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพไว้ ๑๙ ต้น เพื่อให้คณะผู้แทนจากสำนักพระราชวังคัดเลือก หลังจากคณะเข้าไปสำรวจแล้วได้คัดเลือกไม้จันทน์หอมไว้ ๔ ต้น คือลำดับที่ ๑๑, ๑๒, ๑๔ และ ๑๕ พร้อมทั้งกำหนดพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม ในวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ โดยใช้ฤกษ์เวลา ๑๔.๐๙ ๑๔.๓๙ น.

รู้จักไม้จันทน์หอม ไม้ชั้นสูง
     จันทน์หอม เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei Drumm. มีชื่อวงศ์ว่า STERCULIACEAE มีชื่อสามัญว่า Kalamet และยังมีชื่อ เรียกอื่นอีกไม่ว่าจะเป็น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว จันทน์พม่า จันทน์หอม (เต็ม สมิตินันท์, ๒๕๒๓)

      ไม้จันทน์หอมเป็นไม้คนละชนิดกับจัน หรือจันอิน-จันโอ (Diospyros decendra Lour.) และเป็นคนละชนิดกับไม้กฤษณา (Aquilaria malaccensis) ซึ่งบางท่านก็เรียกว่าไม้หอมเช่นกัน จึงควรมีการศึกษาและพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะการใช้ประโยชน์แตกต่างกัน โดยเฉพาะในรูปของสมุนไพรซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ

      ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓๐ เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยต่ำ ๆ หรือเป็นพุ่มกลมค่อนข้างโปร่ง พบขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ กัน ตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป เว้นแต่ทางภาคเหนือ และอาจพบขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขา หินปูน พบในจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ในต่างประเทศพบในพม่า และอินเดีย

     ลำต้น มีลักษณะเปลาตรง เปลือกสีเทาอมขาวหรือเทาอมนำตาล แตกเป็นร่องเปลือกชั้นในเมื่อถากใหม่ๆจะมีสีขาว ทิ้งไว้แห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

     เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบตบแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอม และเครื่องสำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย

     โดยทั่วไปเป็นพืชหายาก ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นแหล่งอนุรักษ์สายพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้จันทน์หอม โดยพบเป็นหมู่ไม้ขนาดใหญ่ เปลาตรง

     จากข้อมูลที่เรียบเรียงโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เทคโนธานี แจกแจงถึงเรื่อง “ไม้จันทน์หอม” ไว้ สรุปได้ว่า… เป็นไม้ที่คนโบราณถือว่าเป็นไม้ชั้นสูง เนื้อไม้มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ พิธีสำคัญ ๆ ของราษฎรที่จัดเป็นวาระพิเศษ อย่าง “ดอกไม้จันทน์” ที่ใช้ในงานเผาศพ ในอดีตเกือบทั้งหมดจะทำจากไม้จันทน์หอม เพราะถือว่ามีสีขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม เป็นการให้เกียรติกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แต่ในยุคปัจจุบันมีการใช้วัสดุอื่น ๆ ทำด้วย และจากประโยชน์ของไม้จันทน์หอม ทำให้ชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าใช้เนื้อไม้ซึ่งเรียก กาละแมะ มาฝนกับฝาหม้อดินจนเป็นน้ำข้น ๆ ใช้ทาหน้าจะมีกลิ่นหอมแก้สิวฝ้า ทำให้หน้านวล ละเอียด ซึ่งในด้านสมุนไพรนั้น น้ำมันที่กลั่นจากเนื้อไม้ใช้เข้ายาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย

     มีการสันนิษฐานว่าราว ๆ ๑,๕๐๐ ปีก่อน มนุษย์ยังไม่มีการฉีดยาศพ หรือฉีดฟอร์มาลีน และวิธีการที่จะรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ดั้งนั้นในการประกอบพิธีฌาปนกิจศพ จึงใช้ไม้จันทน์มาเป็นส่วนในการประกอบพิธี เพื่อบรรเทากลิ่นศพ

     ในอดีตเคยมีรายงานว่าในเมืองไทยมีจันทน์หอมขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งในภาคตะวันออกและในภาคตะวันตกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันถูกตัดฟันไปจนเกือบหมด จนคนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักว่าจันทน์หอมมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เพียงรู้จักกันก็เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง หรือค้นหาเอามาจากตำรากันเท่านั้น

     ดร.ปิยะ ได้ระบุไว้ว่า “จันทน์หอมเป็นไม้ที่เติบโตได้ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างเร็ว ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และปลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไม้เศรษฐกิจ ใช้ ประโยชน์ในด้านไม้หอมและน้ำมันหอม อาจปลูกลงแปลงขนาดใหญ่เหมือนไม้กฤษณาที่แพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดนครปฐมอีกด้วย” (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/จันทน์หอม)

ทำไมต้องใช้ไม้จันทน์หอมในการประกอบพิธีสำคัญ
      ไม้จันทน์หอม เป็นไม้มีค่าที่หายากชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ใช้ในพระราชประเพณี ตั้งแต่สมัยโบราญมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประเพณีเกี่ยวกับพระบรมศพ โดยเอาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มาสร้างพระรองประดับพระโกศพระบรมศพ ตลอดจนใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้แข็ง ละเอียด กะพี้สีน้ำตาลอ่อน นิยมใช้สร้างบ้าน หรือตำหนักของเจ้านายสมัยก่อน เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำหอม ใช้ทำเครื่องหอม ธูปหอม ตลอดจนเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

      เหตุเพราะไม้จันทน์หอมมีความหอมไม่ว่าจะเป็นหรือตาย จึงเปรียบเหมือนคน เมื่อเกิดมาทำความดี ตายแล้วก็ยังมีความดีอยู่ คนโบราณจึงนำไม้จันทน์หอมมาเผาศพ เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” จนถึงปัจจุบันนี้

      ที่ผ่านมาสำนักพระราชวังได้คัดเลือกไม้จันทน์หอมยืนต้น ที่ป่าเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ไปใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมถึงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกนั้น ก็จะจัดสร้างโดยใช้ไม้จันทน์หอมจากป่านี้ด้วยเช่นกัน

     มาถึงตอนนี้ไม้จันทน์หอมได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

เทิดทูนไท้เหนือหัวใจใส่เกล้า มิอาจเล่าร้อยเรียงเคียงคำได้
ความรู้สึกอัดอั้นเกินบรรยาย เพียรตั้งใจจดจำคำสอนพ่อ
ทำหน้าที่เต็มใจสุดสามารถ เส้นทางอาจพลาดพลั้งอย่าได้ท้อ
สามัคคีทำความดีมีเพียงพอ เพื่อให้พ่อสุขใจในวิมาน

พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_84538, http://www.thairath.co.th, http://www.sahavicha.com, http://pirun.ku.ac.th, http://77jowo.tnews.co.th