มหัศจรรย์แห่ง “การให้” บนคราบน้ำตา…ความโศกเศร้า สูญสิ้น ที่เพรียกหา “น้ำใจ”
เช้าวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ความทรงจำเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ปรากฏบนเฟซบุ๊กของตัวเอง
ให้เพราะอยากให้ ไม่ใช่ให้เพราะอยากได้
…ครั้งหนึ่งนำของฝากไปให้น้อง ๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ทำอยู่บ่อย ๆ อยู่ดีดีมีคนทักว่า พี่ให้เค้าแล้วเค้าเคยให้พี่บ้างหรือเปล่า เราชะงัก ไม่ใช่เห็นด้วยกับคำพูดนี้ แต่ชั่งใจตัวเองว่า เราให้เค้าเพราะต้องการที่จะได้หรือเปล่า ก็ได้ข้อสรุปว่า ไม่ ปกติเวลาซื้อของฝากใคร ปัจจัยสำคัญคือทุนทรัพย์ และอย่างที่ ๒ คือ อยากซื้อให้
เดี๋ยวนี้คนเราให้เพราะต้องการได้รับกลับคืน เคยฟังเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่พายายข้ามถนน เพราะบังเอิญมองเห็นครูกำลังเดินมา ทำให้เด็กได้รับคำชม และยังได้คะแนนความประพฤติอีก…เราพาคนแก่หรือผู้ด้อยโอกาสข้ามถนนเพราะกลัวเค้าถูกรถชนไม่ใช่หรือ เรานำกระเป๋าสตางค์ไปคืนเจ้าของเพราะกลัวเค้าจะลำบากและเดือดร้อนใจ ใช่หรือไม่…
ที่ผ่านมาคนไทยเราเริ่มคุ้นชินกับสังคมแห่งการหมางเมิน ตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ ไปจนถึงแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น และที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ คนไทยแตกความสามัคคี มีความร้าวฉาน โกรธแค้น ถึงขั้นทำร้ายกันเอง
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ น. คือกาลสำคัญ อันเป็นจุดเปลี่ยนของคนไทยและประเทศชาติ ประชาชนคนไทยมีความรู้สึกเดียวกัน คือ โศกเศร้า อาดูร สุดวิปโยค อาลัย ต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคาลัย ทว่า…ท่ามกลางความความจริงอันแสดโหดร้ายนี้ ได้ก่อเกิดความงดงามขึ้นในสังคมไทย
คนไทยเริ่มหันหน้าเข้าหากัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การให้ การแบ่งปันทะลัก หลั่งไหล ชโลมทั่วผืนแผ่นดินไทย ด้วยพระองค์คือศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ทุกคนต่างเต็มใจทำความดีเพื่อในหลวง และเดินตามรอยพระยุคลบาทผู้ทรงให้ปวงชนชาวไทยเสมอมา
“พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยตลอดเวลา เรามีความสุข จนกระทั่งบางครั้งเราลืมพระองค์ไปด้วยซ้ำ ต่อไปนี้จะขอตั้งมั่นทำความดี และจะสามัคคีกัน จะไม่ทะเลาะกัน” หนึ่งคำสัมภาษณ์พร้อมน้ำตาปนเสียงสะอื้นของผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมพระบรมศพ เรียกน้ำตาของฉันให้ซึมเอ่อตามไปด้วย
เหล่านี้ทำให้ฉันมั่นใจว่าเนื้อแท้ของคนไทยนั้นคือความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจ รู้จักให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ ก่อนหน้านี้อาจจะบรรเทาเบาบางเจือจางไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่แก่นของมันยังคงอยู่ มิได้เลือนหายไป และพร้อมจะปรากฏให้เห็นได้ตลอดเวลา
……………………………………………..
การให้นับเป็นหนึ่งในหลักธรรมหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้ว่าจะผ่านมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว แต่ทุกหลักธรรมยังคงมีความร่วมสมัย สามารถปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ดังเช่น สังคหวัตถุ ๔ หลักธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน เป็นเหตุให้ตนเองและหมู่คณะก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ประกอบด้วย
- ทาน ให้ปันสิ่งของแก่คนที่ควรให้
- ปิยวาจา เจรจาด้วยถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวาน
- อัตถจริยา ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์
- สมานัตตตา วางตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน
……………………………………………..
นิทานเรื่อง การให้คือต้นทางแห่งความสุข
รถโดยสารกำลังวิ่งข้ามภูเขาไปยังอีกตำบลหนึ่ง วิวทิวทัศน์สวยงามน่าประทับใจยิ่ง ชายหญิงคู่หนึ่งจึงเปลี่ยนใจไม่เข้าตำบลที่เป็นจุดหมายปลายทาง ขอลงจากรถเพื่อไปชมวิวข้างทาง แล้วคิดว่าจะเดินไปยังตำบลที่เป็นจุดหมายปลายทางเอง คนขับก็จอดให้ชายหญิงคู่นี้ลงตามคำขอ และขับรถต่อไป เพียง ๒ นาทีหลังจากนั้น ชายหญิงคู่นี้ก็ได้ยินเสียงก้อนหินใหญ่กำลังตกลงมาจากหน้าผา และตกลงไปทับรถโดยสารเสียงดังสนั่น ชายหญิงรีบวิ่งไปดูที่เกิดเหคุ ทุกคนเสียชีวิตหมด
หากคุณเป็นชายหญิงคู่นี้ คุณคิดอย่างไร
“เราโชคดีจังที่รอด!”
ไม่ใช่! ชายหญิงคู่นี้คิดว่า “เราไม่น่าลงจากรถคันนี้เลย ถ้าเราไม่ลง รถก็คงไม่จอด และคงไม่มีใครเสียชีวิต”
……………………………………………..
จะมีใครสักกี่คนที่คิดได้เช่นนี้
ศาสตราจารย์เอลิซาเบต ดันน์ และคณะ ทำการทดสอบทฤษฏีที่ว่า ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับการให้หรือการรับ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง ๖๓๐ คน ผลการศึกษาพบว่า คนที่ (รู้จัก) ให้มีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ (รู้จัก) ให้ เพราะการให้ทำให้ผู้ให้มองตัวเองในแง่ดีมากขึ้น และการให้ทำให้ผู้รับหรือสังคมมองผู้ให้ในแง่ดีมากขึ้น
(ข้อมูลจากหนังสือถอดรหัสความคิดเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า โดย รศ.ดร.ชัยณรงค์ วงศ์ธีรทรัพย์)
………………………………………………
ให้ท่านท่านจะให้ ตอบสนอง
นบท่านท่านจะปอง น้อมไหว้
รักท่านท่านควรครอง ความรักเรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้ แด่ผู้ทรชน
โคลงโลกนิติ
……………………………………………….
การให้จึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตก็ว่าได้ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “…คนเราจะอยู่สุขสบายแต่คนเดียวไม่ได้ ถ้าคนที่อยู่ล้อมรอบมีความทุกข์ยาก ควรต้องแบ่งเบาความทุกข์ยากของเขาบ้าง ตามกำลังและความสามารถเท่าที่จะทำได้”
การให้จึงมีคุณค่าและพลังอันยิ่งใหญ่เสมอ
ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ขอบคุณ: รูปภาพจากเว็บไซต์
ความเห็นล่าสุด