การโกนศีรษะไว้ทุกข์ ธรรมเนียมราชประเพณีโบราณ
เมื่อเปลี่ยนรัชกาล…ผลัดแผ่นดิน
นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา คนไทยต่างพร้อมใจกันน้อมถวายความจงรักภักดีและแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการแต่งกายชุดสีดำ ติดริบบิ้นสีดำ สวมปลอกแขนสีดำ แต่นอกจากนี้แล้ว ทราบหรือไม่ว่า หากเป็นในอดีตนั้น การไว้ทุกข์ยังมีอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินั่นคือ การโกนศีรษะ
ธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
การไว้ทุกข์ด้วยการโกนศีรษะนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อกันว่าสืบทอดมาจากธรรมเนียมของอินเดีย ซึ่งจะโกนศีรษะไว้ทุกข์เมื่อญาติผู้ใหญ่และพระมหากษัตริย์สวรรคต
ดังข้อความสันนิษฐานตอนหนึ่งในสาส์นสมเด็จ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
“…หม่อมฉันได้อ่านเรื่อง ราชประวัติของพระเจ้าอักบาร์มหาราช วงศมุงคล ที่ครองอินเดียเป็นรัชกาลที่ ๒ พบแห่งหนึ่งว่า เมื่อพระชนนีพันปีหลวงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอัคบาร์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามก็โกนพระเกศาไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมอินเดียด้วยความเคารพ ประเทศไทยเราโกนหัวไว้ทุกข์ หม่อมฉันไม่ทราบว่าได้มาจากไหน พึ่งมาปรากฏแน่ใจว่าได้มาจากอินเดีย”
สืบต่อมาในราชวงศ์จักรี
การโกนหัวไว้ทุกข์ในแผ่นดินราชวงศ์จักรีนั้นปรากฏแรกเริ่มเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จสวรรคต โดยราษฎรทั้งชายและหญิงจะต้องโกนผมเดือนละครั้งจนกว่าจะถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ ผู้ที่ละเมิดอาจส่งผลให้ต้องอาญาหลวงได้ทีเดียว นอกจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังปรากฏพระบรมราชโองการพิเศษในงานพระบรมศพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๔๖ ที่ให้ราษฎรต้องโกนหัวไว้ทุกข์ เว้นเสียแต่ผู้ที่ไว้ผมมวย ผมเปีย ผมจุก และองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธรรมเนียมเดิมในงานพระบรมศพ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” โดยให้โกนศีรษะเฉพาะพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ลำดับขั้นพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทไปจนถึงข้ารับใช้ทั้งชายหญิง ในสังกัดกรมพระราชวังบวรเท่านั้น ส่วนราษฎรทั่วไปให้งดเว้น
การเปลี่ยนแปลง ยกเลิกการโกนศีรษะไว้ทุกข์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาบที่ ๔ ทรงประกาศว่า ราษฎรไม่ต้องโกนศีรษะเพื่อไว้ทุกข์ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาประเพณีนี้ได้ถูกยกเลิกอย่างถาวร ในสมัยรัชกาลที่ ๖
ดังความตอนหนึ่งจากประกาศในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
เมื่อแผ่นดินราชจักรีวงศ์ได้ล่วงมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น สยามประเทศได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงประเพณีและธรรมเนียมในราชสำนักครั้งใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสของอารยประเทศที่ถาโถมเข้ามา เป็นต้นว่า เครื่องแต่งกาย กิริยามารยาท รูปลักษณ์บ้านเมือง รวมไปถึงพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เล็งเห็นว่าประเพณีการโกนหัวไว้ทุกข์นี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรจากธรรมเนียมนี้แล้ว ยังถือเป็นเครื่องล้าสมัยและถ่วงความเจริญของบ้านเมืองที่กำลังรุดไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลัง จึงได้มีพระราชดำรัสให้ยกเลิกธรรมเนียมนี้เสียดังประกาศในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีใจความว่า
“อนึ่ง ตามโบราณราชประเพณีในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – ผู้เขียน) ได้ทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์เช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียทีเดียว”
ดังนั้นนับแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เป็นต้นมา ประเพณีการโกนหัวไว้ทุกข์จึงคงเหลือแต่เพียงความทรงจำ คงเหลือไว้แต่เพียงการแต่งกายไว้ทุกข์ที่ยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้
เกร็ดการแต่งกายไว้อาลัยจากอดีตถึงปัจจุบัน
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ที่ชื่อ ‘สีไว้ทุกข์ในสมัย ร.5’ ว่า แต่เดิม ‘สี’ ของเครื่องแต่งกาย ที่ใช้สำหรับไว้ทุกข์มี 3 สี 1) สีดำ 2) สีขาว และ 3) สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่
‘สีดำ’ ใช้สำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
‘สีขาว’ ใช้สำหรับผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
‘สีม่วงแก่’ หรือ ‘สีน้ำเงินแก่’ ใช้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ญาติกับผู้ตายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในบางโอกาสหากผู้ตายมีความสำคัญทางจิตใจมาก แม้ผู้ไว้ทุกข์จะมีฐานันดรศักดิ์ หรืออายุมากกว่าผู้ตาย ก็อาจไว้ทุกข์ด้วยการสวมชุดขาวได้บ้างเป็นกรณีพิเศษ
จนถึงปัจจุบันธรรมเนียมไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ของสยามประเทศไทย ด้วยการแต่งกายด้วยชุดขาวและการโกนผม ได้เปลี่ยนแปลงเป็นการแต่งกายด้วยชุดดำ พร้อมทั้งยกเลิกการโกนผมไปตามเงื่อนไขของแต่ละยุคสมัย
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะแต่งกายด้วยสีขาว สีดำ สีเทา สีน้ำเงิน สีม่วงแก่ หรือสีในโทนใกล้เคียงกัน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การโกนศีรษะ หรือร่วมแรงร่วมใจ แสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ความอาลัย ผ่านความดีในรูปแบบใด เชื่อว่าหัวใจของคนไทยหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร รวบรวมและเรียบเรียง วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
จาก
- นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ ๙๖๖ ประจำวันที่ ๒๐ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
- http://lofficielthailand.com
- https://www.silpa-mag.com
- http://www.prachachat.net
ความเห็นล่าสุด