สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรี
ธันวาคม..เดือนแห่งเทศกาลและวันสิ้นปี ทั้งยังเป็นเดือนที่มีความสำคัญสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๒ พระองค์ด้วยกัน คือ วันที่ ๕ ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ส่วนอีกวันหนึ่งคือ วันที่ ๒๘ ธันวาคมเป็น วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมัยที่ฉันยังเด็ก ในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์มักจะกล่าวถึงราชวงศ์ต่าง ๆ ของเชื้อพระวงศ์ไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน และกษัตริย์ที่น่าสนใจสำหรับฉันนอกจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ก็ยังมีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกพระองค์หนึ่งด้วย เพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรีและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ทรงเป็นบุรุษผู้กอบกู้เอกราชของประเทศได้เป็นครั้งที่สองต่อจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั่นเอง
หลาย ๆ คนคงทราบดีอยู่แล้วถึงพระราชประวัติและความเป็นมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังนั้นฉันจึงเขียนในประเด็นอื่นที่ฉันสนใจและมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์อื่น ๆ
ศิลปกรรมและวัฒนธรรมที่โยงใยข้ามเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน
สำหรับฉันความสนใจต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังไม่หมดเพียงแค่ท่านเป็นบุรุษผู้กอบกู้เอกราชเท่านั้น แต่ยังสนใจไปถึงวัฒนธรรมและศิลปกรรมในสมัยกรุงธนบุรีอีกด้วย ความสวยงามของศิลปกรรมในสมัยนั้นเป็นการคาบเกี่ยวระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดไล่เลี่ยกัน ทั้งหมดนั้นเป็นเสน่ห์และมีมนต์ขลังทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น ฉันจึงเริ่มต้นหาข้อมูลที่สนใจทันที
ด้านนาฏดุริยางค์, การละเล่นต่าง ๆ
แม้ว่าบ้านเมืองในสมัยนั้นจะยังอยู่ในภาวะสงครามแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงหาโอกาสเพื่อฟื้นฟูและบำรุงศิลปกรรมของไทยอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับนาฏดุริยางค์ ทั้งนี้ทรงฟื้นฟูเพื่อสร้างความครื้นเครงให้แก่ประชาชนที่เสียขวัญจากภาวะสงครามและการรบราฆ่าฟัน จึงพระราชทานโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีครูมาฝึกสอนนาฏศิลป์ และสามารถนำไปแสดงเพื่อสร้างความครื้นเครง ไม่ว่าจะเป็น โขน หนังตะลุง ละครหุ่น ละครรำ มโหรี ปี่พาทย์ และการละเล่นต่าง ๆ เช่น หกไม้สูงสามต่อ ชกมวย ชนช้าง แข่งม้า ทวนหลังม้า เป็นต้น
ด้านวรรณกรรม
ผลงานด้านวรรณกรรมที่เด่นสะดุดตาคือ วรรณกรรมบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ต้องบอกไว้ก่อนว่ารามเกียรติ์นั้นมีมาหลายยุคหลายสมัยนอกจากนี้ยังแบ่งออกเป็นหลายฉบับ ดังนั้นฉันจะกล่าวถึงเพียงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประพันธ์เอาไว้เท่านั้น
ถึงแม้ว่ารามเกียรติ์ฉบับนี้จะประพันธ์ขึ้นเพียง ๔ ตอน แต่ก็เป็น ๔ ตอนที่มีคุณค่าทางภาษาและเห็นได้ชัดว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นมีอัจฉริยภาพในด้านการประพันธ์ด้วยเช่นกัน ชื่อตอนที่ทรงประพันธ์ขึ้น ได้แก่ ตอนที่ ๑ ตอนพระมงกุฎ ตอนที่ ๒ ตอนหนุมานเกี้ยววานริน จนท้าวมาลีวราชมา ตอนที่ ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษา จนทศกัณฐ์ เข้าเมือง ตอนที่ ๔ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด, พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัท จนผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ซึ่งทั้ง ๔ ตอนนี้ได้รับคำชื่นชมและยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังได้บรรจุอยู่ในหนังสือเรียนอีกด้วย
ผลงานวรรณกรรมในยุคสมัยกรุงธนบุรีที่ประพันธ์ขึ้นโดยนักประพันธ์ท่านอื่น
สมัยกรุงธนบุรียังมีวรรณกรรมอีกหลายเรื่องถูกประพันธ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์ ประพันธ์ขึ้นโดย หลวงสรวิชิต (หน), กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาราชสุภาวดีและพระภิกษุอินท์, โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ประพันธ์โดยนายสวนมหาดเล็ก และนิราศกวางตุ้งหรือนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๒๔ ประพันธ์โดยพระยามหานุภาพ
ด้านจิตรกรรม
จิตรกรรมในสมัยกรุงธนบุรีที่หลงเหลือมายังปัจจุบันก็คือ ตำราภาพไตรภูมิ (ฉบับหลวง) ซึ่งถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ หากมีโอกาสฉันก็อยากเข้าไปชมของจริงดูสักครั้งเพราะอย่างน้อยสิ่งนี้ก็เป็นหลักฐานว่าจิตรกรในสมัยกรุงธนบุรีเป็นผู้มีฝีมือและควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง
ตามที่ศึกษาข้อมูลนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีส่วนข้องเกี่ยวกับตำราภาพนี้โดยพระองค์ได้ศึกษาตำราเกี่ยวกับไตรภูมิอย่างถ่องแท้ จึงต้องการเผยแพร่ความรู้นี้ให้แก่ประชาชนทั้งหลาย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภพภูมิทั้งสาม นั่นก็คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิอย่างถ่องแท้ ดังนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้อัครเสนาบดีส่วนพระองค์ไปรวบรวมสมุดหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องไตรภูมิ จากนั้นได้ส่งไปยังช่างเขียนเพื่อเขียนตำรานี้ขึ้น ต่อมาให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์อย่างถูกต้องและตรงกับต้นฉบับที่มีมาแต่เดิม หากใครได้ไปหอสมุดแห่งชาติก็อย่าลืมเข้าชมตำราภาพไตรภูมิ จิตรกรรมที่เชื่อมโยงยุคสมัยของกรุงธนบุรีมาถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกของคนรุ่นก่อน เป็นสิ่งที่เราต้องเก็บรักษาเอาไว้ตราบนานเท่านาน
ด้านสถาปัตยกรรม
ตามความคิดและจินตนาการบวกกับข้อมูลที่ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต พบว่าสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินรับสั่งให้มีการก่อสร้างจำนวนไม่น้อย เพราะต้องฟื้นฟูบ้านเมืองในช่วงสงครามให้กลับมาโดยเร็ว และเพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีและเป็นหน้าประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมในยุคสมัยของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น กำแพงพระนคร ป้อมปราการ พระราชวัง พระอารามต่าง ๆ สถาปัตยกรรมส่วนมากที่กล่าวมานี้ล้วนสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ดังนั้นส่วนต่าง ๆ เช่น ฐานอาคารและรูปทรงอาคารจะไม่แตกต่างจากกรุงศรีอยุธยามากนัก
แต่ก็น่าเสียดายเหลือเกินตามที่เล่ากันมาว่าสถาปัตยกรรมสมัยกรุงธนบุรีมักจะมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยของพระเจ้าตากสินเอง หรือยุคสมัยต่อ ๆ มา หากคนรุ่นหลังต้องการซึมซับความงดงามนั้นก็คงเป็น การยาก เพราะรูปทรงของสถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ไม่ค่อยเหลือเค้าโครงเดิมให้ได้ชม แต่ก็ยังมีสถาปัตยกรรมบางแห่งที่บูรณะแล้วยังปรากฏเค้าโครงเดิมนั่นคือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ กำแพงพระราชวังเดิม พระตำหนักท้องพระโรงและพระตำหนักเก๋งคู่ในท้องพระโรงเดิม ส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นพระอารามและถูกบูรณะแต่ยังมีเค้าโครงเดิม ได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) พระอุโบสถและพระวิหารเดิมวัดราชคฤห์ พระอุโบสถเดิมวัดอินทาราม ตำหนักแดงวัดระฆังโฆสิตาราม และพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม
สถาปัตยกรรมในยุคสมัยกรุงธนบุรีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ในปัจจุบันล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และอนุรักษ์ทั้งสิ้น เพื่อเชื่อมต่อสิ่งที่คนรุ่นก่อน ๆ ได้สร้างเอาไว้ให้คนรุ่นหลังดู และคงอยู่สืบไปในกาลข้างหน้า
ด้านประณีตศิลป์
ว่ากันว่างานศิลป์ในแต่ละแขนงจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้น ๆ โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นช่างแกะสลัก ช่างประดับ ช่างลงรัก-ปิดทองพระ ช่างปั้น ช่างเขียน และสมัยกรุงธนบุรีก็มีช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้อย่างพร้อมมูล ดังนั้นจึงมีงานประณีตศิลป์ออกมามากมายไม่ว่าจะเป็น ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ๔ ตู้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในหอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร และทราบมาว่าตู้ลายรดน้ำเหล่านี้ได้มาจากวัดราชบูรณะ วัดจันทาราม และ วัดระฆังโฆสิตาราม นั่นแสดงว่างานช่างฝีมือทำลายทองรดน้ำก็เป็นศิลปกรรมอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้าตากสิน และยังมีงานแกะสลัก ได้แก่ พระแท่นบรรทมในพระอุโบสถน้อย วัดอรุณราชวราราม ในพระวิหารของวัดอินทารามอีกด้วย
ในปัจจุบันผู้คนออกท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็เที่ยวเพราะสบายใจ บ้างก็เพื่อหลีกหนีปัญหาต่าง ๆ บ้างก็เพื่อพักผ่อน บางคนก็ออกเที่ยวเพราะ “สนใจ” ในความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ เช่นเดียวกับตัวฉันที่สนใจและมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวในสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ของไทย ด้วยความหลงใหลในศิลปกรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนในอดีตจนถึงปัจจุบัน นึกดูแล้วก็อยากไปชมของจริงเร็ว ๆ เพราะต่อให้เราค้นหาข้อมูลไว้มากมายแค่ไหนก็ไม่เท่ากับการได้ไปเห็นด้วยตาและประสบพบเจอกับตนเอง ฉันหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ตัวฉันจะได้ไปชมศิลปกรรมเหล่านี้ดังที่ใจหวัง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศิลปกรรมจากอดีตจะยังคงงดงามมิเสื่อมคลาย
“บางสถานที่โยงใยกันข้ามเวลา เชื่อมโยงถึงกันด้วยเสียงเพรียกเก่าแก่ผ่านยุคสมัยจากอดีตมายังปัจจุบัน”
เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
http://baanjomyut.com
http://saruta088.blogspot.com
http://www.classpublishing.com
http://irrigation.rid.go.th
http://pralanna.com
http://www.sookjai.com
ความเห็นล่าสุด