กษัตริย์นักพัฒนา พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย

กษัตริย์นักพัฒนา พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย

020260


      วันที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์… เป็นวันนักประดิษฐ์ไทย ซึ่งเป็นวันสำคัญกับคนไทยอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงนำประวัติวันนักประดิษฐ์และความสำคัญมาฝากกัน

     การกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ไทยก็เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงประดิษฐ์คิดค้น  “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยน้ำ” หรือ “ กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ หลังจากการที่เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนองพระราชดำริในการพัฒนากังหันน้ำได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยื่นขอรับสิทธิบัตร เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๕ จึงนับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและครั้งแรกของโลก  ที่ทรงคิดค้นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีทุนทางสังคมของนักประดิษฐ์คิดค้น  พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศ  ทางคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นจึงได้กำหนดให้วันที่ ๒ ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์ไทย”  ด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์และพระวิสัยทัศน์ในความห่วงใยความทุกข์ยากของประชาชนไทย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานาม  “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” 

      ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นในด้านต่าง ๆ และหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่พระองค์ทรงได้รับรางวัลจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้อย่างเด่นชัดที่สุด ก็คือ   รางวัลระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น   ในการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรกา (Brussels Eureka) โดย The Belgian Chamber of Inventors ซึ่งเป็นสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป  โดยทางคณะผู้จัดงานได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระองค์ถึง ๒ ปีติดต่อกัน คือ ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ และปี พ.ศ.๒๕๔๔

รางวัลบรัสเซลส์ ยูเรกาที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายทั้ง ๒ ปีนี้ ได้แก่

     ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ สภาวิจัยแห่งชาติได้นำผลงาน  “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”  ในพระองค์เข้าประกวดในสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่  ๑  เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม (Pollution Control – Environment) ปรากฏว่า ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการจัดงานว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำบัดน้ำเสียและทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลรวมทั้งสิ้น  ๕  รางวัล คือ

      ๑. เหรียญรางวัล Prix OMPI (Organisation  Mondiale  De La Propriete  Intelietuelle) หรือรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก พร้อมประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

      ๒. เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและประกาศนียบัตรเกียรตินิยมจากบรัสเซลส์ ยูเรกา ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๓

     ๓. ถ้วยรางวัล  Grand Prix International (International Grand Prize) หรือรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด

     ๔. ถ้วยรางวัล  Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น

     ๕. ถ้วยรางวัล  Yugosiavia  หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์

     นาย ชอบวิทย์  ลับไพรี  รองเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขอพระบรมราชานุญาตนำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปร่วมแสดงในครั้งนั้น เล่าว่า  เมื่อนำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปจัดแสดง ชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจมาก โดยฝ่ายไทยได้สาธิตการทำงานให้ผู้ร่วมงานได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด ทำให้ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ประเทศเบลเยียม ตามคำขอของนายโยเซ โดยตั้งอยู่ ณ สวนสาธารณะโวลูเว แซงต์ – ปิแอร์ (Woluve Sainte-Pierre) กลางกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวยุโรปได้ชื่นชมพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป”

     สำหรับในปีถัดมา คือปี พ.ศ.๒๕๔๔  เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรกา ได้เชิญประเทศไทยให้ร่วมจัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์อีกครั้งในงาน บรัสเซลส์ ยูเรกา ๒๐๐๑ ระหว่าง         วันที่ ๑๓ – ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแสดงผลงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  จำนวน ๓ ชิ้น คือ  ผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่ (The New Theory) ผลงานเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula) และผลงานเรื่องฝนหลวง (Royal Rain Making)

     ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง ๕  รางวัล คือ

     ๑. รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน โดยคณะกรรมการตัดสินได้ลงมติเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณแด่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้ง ๓ ผลงาน ซึ่งเกิดจากแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย

     ๒. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้แก่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม

     ๓. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่

     ๔.  รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง

     ๕.  ถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร มอบให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ ปาล์มน้ำมัน ฝนหลวง และประกาศนียบัตร Honored Member of BACCI โดยเป็นรางวัลจาก Bulgarina American Chamber of Commercial and Industry (BACCI)

     จากวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทั้ง ๑๐ รางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ จึงทำให้ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพว่าทรงเป็นนักประดิษฐ์และนักเทคโนโลยีอย่างแท้จริง โดยหากสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่า ผลงานแต่ละชิ้นของพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นการตอบโจทย์ปัญหาใกล้ตัวซึ่งเรามักมองข้ามกันทั้งสิ้น  

     กังหันชัยน้ำชัยพัฒนา  เป็นกังหันน้ำที่สร้างขึ้นมาเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีเติมอากาศและเป็นสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ 

     สำหรับวิวัฒนาการของกังหันน้ำชัยพัฒนานี้  เริ่มต้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙  ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนี้  ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำเน่าเสียด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การกรองน้ำด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่าง ๆ  ซึ่งก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม  พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ลองใช้วิธีกลศาสตร์เข้ามาช่วย โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่ายที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ “ไทยทำไทยใช้” โดยทรงได้แนวทางจาก “หลุก”  ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้นและทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัยและพัฒนากังหันน้ำ  ซึ่งโครงสร้างและส่วนประกอบในส่วนที่เป็นปัญหาได้รับการแก้ไขมาโดยตลอดนับแต่มีการสร้างเครื่องต้นแบบ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมา และรู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบันคือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”

     กังหันน้ำชัยพัฒนา มีการเริ่มติดตั้งทดลองใช้กังหันน้ำชัยพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ และใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน มีหน่วยงาน องค์กร ชุมชน แจ้งความประสงค์ขอติดตั้งกังหันน้ำกับมูลนิธิชัยพัฒนามากมาย ในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน

     จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความรักความห่วงใยของในหลวงรัชกาลที่ ๙  ที่มีต่อประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อันเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้กับประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์บำรุงสุขให้กับเราชาวไทยเสมอมา เพื่อความสุขของประชาชนของพระองค์ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาซึ่งทรงสร้างสิ่งประดิษฐ์มากมายเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

     “…การประดิษฐ์ในโลกเป็นของสำคัญที่จะให้มีของพิเศษขึ้นมา และให้รางวัลกัน เพราะว่าการประดิษฐ์นั้น เป็นของสำคัญที่สุดของโลก ของคนที่สนใจในความก้าวหน้า และถ้าไม่มีการสนใจในงานประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่มีความก้าวหน้า การประดิษฐ์ด้านต่างๆ เป็นของสำคัญของโลก เพื่อจะให้โลกก้าวหน้าได้…”

       พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  เสด็จฯ  ออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และวันนักประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่  ๒ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลฯ  เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒

น.ส. ละอองดาว โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก นิตยสาร a day ฉบับ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หนังสือ ๑๐๐ เรื่องในหลวงของฉัน มูลนิธิชัยพัฒนา manager. scoop.mthai. thansettakii