น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ กษัตริย์ผู้สร้างยุคทองของกรุงศรีอยุธยา

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ กษัตริย์ผู้สร้างยุคทองของกรุงศรีอยุธยา
วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ๑๖  กุมภาพันธ์

0802256018

      หากจะเอ่ยถึงยุคที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดหรือเป็นยุคทองของสมัยอยุธยา(The Golden age of Ayutthaya)แล้วนั้น ผู้รู้หรือผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์คงจะต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันอย่างแน่นอนว่า  เป็นยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะในช่วงสมัยของพระองค์มีความเจริญก้าวหน้าในหลายๆ ด้านพร้อมกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏในราชวงศ์ใดมาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง  การค้าการขาย  การศึกษา  ศิลปะวิทยาการ  การติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะด้านการทูต  วัฒนธรรมจากต่างชาติจึงไหลเข้ามาแทรกซึมในวัฒนธรรมไทยมาถึงทุกวันนี้  จนบางอย่างเราเองก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าอาหารการกินหรือข้าวของชนิดนั้น ๆ ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศหรือไม่  หากเมื่อเอ่ยถึงยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีผู้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เอาไว้  ทำให้เราสามารถตอบได้เต็มปากเต็มคำว่ายุคสมัยในการปกครองของพระองค์ท่านนั้นเป็นยุคทองอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการประกาศให้วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระราชประวัติ

       สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๗ แห่งราชวงศ์ปราสาททองในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๗๕ (พ.ศ. ๒๑๗๕ – พ.ศ. ๒๒๓๑) มีพระนามที่ปรากฏอยู่หลายพระนาม  ได้แก่  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ และสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์  พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง อดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระราชมารดาคือพระนางศิริธิดาซึ่งเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ภายหลังทรงได้รับการเลื่อนพระราชอิสริยยศเป็นพระราชเทวี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ หรือพระราชกัลยาณี  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระเชษฐาและพระอนุชาต่างพระมารดาอีกหลายพระองค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย เจ้าฟ้าอภัยทศ (เจ้าฟ้าง่อย) เจ้าฟ้าน้อย  พระไตรภูวนาทิตยวงศ์หรือพระองค์ทอง และพระอินทราชา   เหตุที่มีพระนามว่า “นารายณ์” เพราะมีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น ๔ กรตอนขึ้นอู่(พระองค์มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้านรินทร์”) จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “พระนารายณ์” 

การครองราชย์

      สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีบทบาทสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาซึ่งพระศรีสุธรรมราชานั้นมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาหรืออาแท้ ๆ (พระศรีสุธรรมทรงเป็นพระอนุชาในพระเจ้าปราสาททอง)  โดยก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์นั้น ทรงร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาช่วงชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชยซึ่งเป็นองค์พระเชษฐา เมื่อสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์สมบัติได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากนั้นได้ ๒ เดือนเศษสมเด็จพระนารายณ์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  และขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอก (ตรงกับวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๙) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดี เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่  ๒๗  แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะมีพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา  หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ ๑๐ ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๙ และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุก ๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน

ด้านการเมืองการปกครองการทหาร

      ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการล่าอาณานิคม  ทรงบริหารบ้านเมืองให้พ้นจากการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกได้อย่างงดงาม  ทรงสนับสนุนการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับนานาประเทศ  ดังนั้นอยุธยาจึงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทำให้มีอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ  ที่ทันสมัยมาใช้ในกองทัพรวมถึงมีการปรับตำราพิชัยสงครามจนสามารถยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมือง ได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี

ด้านการศึกษาและวรรณคดี

      สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือที่ทันสมัยในยุคนั้นเป็นครั้งแรก  รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดทำตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเป็นเล่มแรกของสยามประเทศด้วย นอกจากนี้ยังเป็นยุคที่รุ่งเรืองหรือยุคทองของวรรณคดี  เพราะพระองค์เองทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านกวีอย่างยอดเยี่ยม  ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง  ได้แก่  พระราชนิพนธ์โคลงเรื่องทศรถสอนพระราม  พระราชนิพนธ์โคลงเรื่องพาลีสอนน้อง  พระราชนิพนธ์โคลงเรื่องราชสวัสดิ์  สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง)  คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) รวมถึงบทพระราชนิพนธ์โคลงโต้ตอบกับศรีปราชญ์และกวีอื่น  ๆ   ทรงให้จัดสร้างตำราชื่อจินดามณีซึ่งเป็นตำราเรื่องไวยากรณ์ไทยเป็นครั้งแรก   อีกทั้งยังทรงให้จัดสร้างพจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศสขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ด้านดาราศาสตร์

     ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการปรับปรุงศาสตร์แขนงนี้และใช้ปฏิทินเป็นแบบฝรั่งโดยมีพระโหราธิบดีในสมัยนั้นเป็นตัวตั้งตัวตีในการใช้  จึงเป็นครั้งแรกที่คนไทยสามารถคำนวณหาวันเกิดสุริยุปราคาได้ในยุคนั้น

0802256016

ด้านการทูตและการต่างประเทศ

     ในยุคสมัยนั้นมีการล่าอาณานิคมกันอย่างแพร่หลาย  และไทยเองเป็นเป้าหมายหนึ่งของอังกฤษ  เพื่อให้บ้านเมืองพ้นวิกฤตินี้  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงส่งพระวิสุทธสุนธร (โกษาปาน) เป็นทูตโดยนำพระราชสาสน์ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรี กับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส  เพื่อให้อังกฤษไม่กล้าบุกรุกกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น  ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงตอบรับและชักชวนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ตามพระองค์โดยทรงให้ราชฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘  พร้อมกับนำบาทหลวงเข้ามาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ บาทหลวงได้นำหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลมาให้พระองค์ทรงศึกษา ท้ายที่สุดบาทหลวงจึงเข้าเฝ้าพระองค์เพื่อให้รับศีลเพื่อเป็นคาธอลิค    แต่พระองค์ทรงตอบว่าถ้าพระผู้เป็นเจ้าในคัมภีร์ของทานมีอยู่จริง มีอำนาจพิเศษจริง ๆ พระผู้เป็นเจ้าของท่านก็คงทราบว่าประเทศไทยนี่ เป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนา แล้วพระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้ามาเกิดในประเทศไทยก็เท่ากับว่าให้มาเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนจิต เปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิคที่พวกท่านให้ข้าพเจ้านับถือ มันก็ขัดกับความต้องการของพระผู้เป็นเจ้า จะเป็นโทษเป็นบาป” (มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ, ม.ป.ป. :๔๑-๔๒)

     จากข้างต้นที่กล่าวมาจะเห็นได้ถึงพระปรีชาสามารถขององค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชในหลากหลายด้านเพื่อให้คนไทยและลูกหลานไทยได้อยู่ดีกินดี  มีความสงบสุขและปลอดภัย  ซึ่งสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ได้สืบทอดกันมาในทุกรัชสมัยทุกรัชกาล  จึงนับเป็นความโชคดีอันยิ่งใหญ่ของคนไทยที่ได้อาศัยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารมายาวนานหลายชั่วอายุคน  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยทั้งหลายจะรักและเทิดทูนบูชาสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา

น.ส. ละอองดาว   โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
Wikipedia.
Jutalux Phunsanit.
https://goo.gl/LXlfAC