๒๔ กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ ร่วมเทิดพระเกียรติองค์อัครศิลปิน

๒๔ กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ ร่วมเทิดพระเกียรติองค์อัครศิลปิน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

2102601

     วันศิลปินแห่งชาติกำเนิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๘ โดยกำหนดเอาวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปกรรมหลากหลายสาขา ทั้งวรรณศิลป์ ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์ ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ตลาดจนงานประณีตศิลป์ต่าง ๆ ดังที่ทรงได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้ทรงเป็นบุคคลดีเด่นแห่งโลกทางด้านวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐

     และในการประชุมวันเดียวกันนั้นเองได้มีมติขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นคำที่อาจารย์ภาวาส บุนนาค เสนอให้ใช้

      “อัครศิลปิน” หมายถึง ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ หรือ ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องสดุดีเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ นอกจากนี้ยังทรงมีคุณูปการอุปถัมภ์ศิลปินและศิลปะทั้งหลายมาโดยตลอด

พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นอัครศิลปินผู้เพียบพร้อมด้วยพระอัจฉริยภาพในทุกด้าน

2102602

     พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้งที่ยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๘) โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนเอง และทรงศึกษาจากตำราต่าง ๆ ทั้งที่ทรงซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อทรงสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สี การผสมสี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่าง ๆ เมื่อทรงเข้าพระราชหฤทัยการทำงานของเขาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง มิใช่เพื่อจะทรงลอกเลียนแบบ เพียงแต่พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง

     ภายหลังที่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังเมื่อราวพ.ศ. ๒๕๐๒ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญบรรดาจิตรกรไทยเข้าเฝ้าฯ ร่วมสังสรรค์ด้วยเป็นครั้งคราว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารบ้าง มาร่วมเขียนภาพแข่งขันกันบ้าง การเขียนภาพทรงใช้เวลาเมื่อว่างจากพระราชภารกิจในตอนค่ำหรือตอนกลางคืน โดยทรงใช้ทั้งแสงไฟฟ้าและแสงธรรมชาติ ภาพที่ทรงเขียนส่วนมากจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ ซึ่งมักจะเป็นภาพเขียนครึ่งพระองค์เป็นส่วนใหญ่ หลากหลายชนิดทั้งภาพเหมือน (Portrait) ภาพแบบเอ็กซ์เพรสชันนิซึม (Expressionism) ภาพแบบคิวบิซึม  (Cubism) ภาพแบบนามธรรม (Abstract) และภาพแบบกึ่งนามธรรม  (Semi-Abstract)

2102603

     พระอัจฉริยภาพด้านถ่ายภาพ เป็นที่ทราบกันดีว่าในอดีตอุปกรณ์การถ่ายภาพต่าง ๆ ยังไม่ทันสมัย สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน หากแต่พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาและทรงฝึกด้วยพระองค์เอง จนเป็นนักถ่ายรูปที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ ได้เริ่มทรงกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์และทรงใช้ฟิล์มตั้งแต่ขนาด ๑๓๕ จนถึงขนาด ๑๒๐ และขนาดพิเศษ แม้ปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจะมีวิวัฒนาการ อำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ แต่พระองค์ก็มิทรงใช้ ทรงใช้แต่กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตรฐานอย่างที่นักเลงกล้องทั้งหลายใช้กัน นอกจากนี้ยังทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพ ทั้งภาพขาวดำและภาพสี

     เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ โปรดที่จะถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา ต่อมาเมื่อทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร จากการถ่ายภาพเพื่อความสวยงามเปลี่ยนเป็นเพื่อประกอบการงานของพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่ไหน ก็จะทรงมีกล้องถ่ายรูปติดพระองค์ไปด้วยเสมอ โปรดถ่ายภาพสถานที่ทุกแห่งเพื่อทรงเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรงปฏิบัติ เพื่อการวางแผนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันใจและสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ทันท่วงที เช่น ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น กระนั้นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคมชัด และมีศิลปะในการจัดองค์ประกอบ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จึงเป็นแบบอย่างของงานศิลปะ ตลอดจนเป้นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง นำความผาสุกร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทย

2102604

     พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด เช่น ทรงเปียโน ทรงเป่าแซกโซโฟน ทั้งตระกูลโซปราโนแซกโซโฟน อัลโตแซกโซโฟน เทนเนอร์แซกโซโฟน บาริโทนแซกโซโฟน ทรงเป่าคลาริเน็ต บางครั้งก็ทรงเป่าทรัมเป็ต และคอร์เน็ต พระองค์ทรงโปรดดนตรีประเภทแจ๊ซตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะดนตรีแนว Dixieland Jazz จากเมืองนิวออร์ลีนส์ พระองค์โปรดและทรงเชี่ยวชาญมากจนสามารถพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแรกคือ แสงเทียน ตั้งแต่มีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา รวมเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น ๔๘ บทเพลง ทั้งนี้เมื่อปลายปี ๒๕๕๙ เชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องพรจากฟ้า ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เพิ่งทราบว่าเพลงพรปีใหม่เป็นหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์

     พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงร่วมก่อตั้งวงดนตรีอย่างลายคราม หรือ อ.ส.วันศุกร์ โดยมีนักดนตรีรุ่นหนุ่มมาร่วมบรรเลงเพลงออกอากาศกระจายเสียงทุกวันศุกร์ที่สถานีวิทยุอ.ส. (อัมพรสถาน)

     ดนตรีของพระองค์เป็นเครื่องสร้างสัมพันธ์ชั้นดี ทั้งกับประชาชนที่มาร่วมเล่นในวงของพระองค์ และนักดนตรีแจ๊ซต่างประเทศ เมื่อพระองค์ต้องเสด็จประพาสต่างประเทศก็มักได้ทำความรู้จักกับยอดนักดนตรีแจ๊ซของประทศนั้น บ่อยครั้งที่ร่วมเล่นบนเวทีเดียวกัน นักดนตรีอย่าง Benny Goodman, John Hodges, Lionel Hampton และวงแจ๊ซระดับโลกอย่าง Preservation Hall Jazz Band จากเมืองนิวออร์ลีนส์ ที่พระองค์โปรด

     ความสนพระราชหฤทัยในดนตรีแจ๊ซทำให้เกิดหลักสูตรแจ๊ซในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยเฉพาะวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรังสิต มีคณาจารย์จำนวนมากมุ่งมั่นสานต่อปรัชญาดนตรีแจ๊ซของพระองค์

2102605

     พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะและการออกแบบ พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน เรือรบจำลอง เป็นต้น

     พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากทรงสนพระราชหฤทัยงานช่างมาแต่เดิมแล้ว จึงโปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และทรงทดลองแล่นเรือในสระภายในสวนจิตรลดา เรือใบฝีพระหัตถี่สำคัญมี ๓ ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์, เรือใบประเภทโอเค และเรือใบประเภทม็อธ

2102606

     พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ เมื่อทรงมีเวลาว่าง พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงพระอักษรและทรงพระราชนิพนธ์แปล ซึ่งส่วนใหญ่ทรงแปลบทความจากวารสารต่างประเทศ

     พระราชนิพนธ์

  • พระราชานุกิจ ประกอบด้วย พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘, พระราชานุกิจตามมนูธรรมศาสตร์
  • พระราชนิพนธ์เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะ “วงวรรณคดี”
  • พระมหาชนก
  • ทองแดง

     พระราชนิพนธ์แปล

  • ติโต
  • เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ ๔ เล็กดีรสโต
  • นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ   

2102607

       พระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรม พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการในการปั้น หล่อ และทำแม่พิมพ์เพื่อสร้างงานประติมากรรมจากหนังสือทางด้านศิลปะต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกับงานจิตรกรรม และทรงศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญคือพระองค์ทรงเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเช่นเดียวกับที่ทรงเรียนรู้งานศิลปกรรมทุกแขนง

     ผลงานประติมากรรมร่วมสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างสรรค์ขึ้นเป็นประติมากรรมลอยตัว (round relief) ปั้นด้วยดินน้ำมัน จำนวน ๒ ชิ้น

     ชิ้นที่ ๑ เป็นรูปผู้หญิงเปลือยนั่งคุกเข่า ขนาดความสูง ๙ นิ้ว

     ชิ้นที่ ๒ เป็นพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครึ่งพระองค์ ความสูง ๑๒ นิ้ว ทรงจัดท่าทางและองค์ประกอบที่มีความประสานกลมกลืนอย่างงดงาม สะท้อนคุณค่าของความสง่างาม ทรงทิ้งร่องรอยฝีพระหัตถ์ที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวบนผิวดินน้ำมันที่ทรงปั้น ต่อมานายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ อดีตข้าราชการจากกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปทำเป็นแม่พิมพ์หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     วันสมภพพระพุทธเลิศหล้า                                  ๒๔ กุมภาชวนรำลึก

วันศิลปินแห่งชาติให้ตรองตรึก                                 ด้วยสำนึกพระมหากรุณา

     เอกอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่                                       ล้ำเลิศในศิลปะหลากสาขา

ทั้งทางด้านแกะสลักประติมา                                    ลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์

     วัดสุทัศน์ ณ บานประตูไม้                                    จารึกไว้อยู่ในพระวิหาร

งานฝีมือชั้นเยี่ยมสุดตระการ                                     อีกผลงานวรรณกรรมแสนตราตรึง

    พระไชยเชษฐ์ คาวี ทั้งอิเหนา                               สังข์ทองเล่ามณีพิชัยให้สุดซึ้ง

ไกรทองพระปรีชาให้คำนึง                                        ยูเนสโกจึงยกเป็นบุคคลสำคัญ

    กระทรวงวัฒนธรรมนำส่งเสริม                              พร้อมเพิ่มเติมเชิดชูเกียรติศิลปินนั้น

ทุกสาขาทุกปีมีรางวัล                                               เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ศิลปิน

     ปีสองพันห้าร้อยยี่สิบเก้า                                      เริ่มแรกเล่าผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลป์

ปูชนียบุคคลแห่งแผ่นดิน                                          วันศิลปินแห่งชาติแต่นั้นมา

    องค์ภูมิพลพระกรุณาโปรดเกล้า                           บรรดาเหล่าศิลปินทุกสาขา      

รับพระราชทานเข็มมงคลแก่ชีวา                              มรดกล้ำค่าจารึกไทย

     ปีเดียวกันชาวไทยทั่วถิ่นหล้า                              ถวายสมัญญาอัครศิลปินไซร้

องค์ภูมิพลอัจฉริยะศิลปะไทย                                  ธ คือผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน


ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

พรปวีณ์  ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์และข้อมูลจาก

  • นิตยสาร a day ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙
  • นิตยสารกุลสตรี ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๘๘๖ ปักษ์แรก ธันวาคม ๒๕๕๐
  • หนังสืออัครศิลปินแห่งแผ่นดินสยาม โดย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์