ตามรอยเวียงจันทน์ ประทับใจในหัวใจของสาวลาว “เรานุ่งผ้าซิ่นเป็นกิจวัตร”

บทความพิเศษ ชุด ตามรอยเวียงจันทน์

ประทับใจในหัวใจของสาวลาว “เรานุ่งผ้าซิ่นเป็นกิจวัตร”
คุณค่าที่มากกว่าความงาม

2702601

สาวลาวเจ้านุ่งซิ่นเป็นนิจสิน
คุ้นเคยชินงามแท้แลถวิล
ชวนเชิดชูชื่นชมสมอาจินต์
ภาคภูมิถิ่นกำเนิดเกิดชาติลาว

      นับเป็นความชื่นชม ประทับใจทุกครั้งที่ไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่นเดียวกับครั้งนี้ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๓ – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ณ เมืองเวียงจันทน์ ภาพของสาวลาวคุ้นเคยกับการนุ่งผ้าซิ่นไปเรียน ทำงาน หรือแม้แต่ไปเที่ยวได้อย่างไม่เคอะเขิน แถมดูมีความสุข ภูมิอกภูมิใจด้วยซ้ำ

     “ไม่ได้มีการรณรงค์ บังคับ หรือตั้งกฎเกณฑ์อะไร สาวลาวนุ่งผ้าซิ่นด้วยใจ ใส่กันเป็นเอกลักษณ์ เวลามีงานบุญ งานแต่ง หรือไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นตั้งแต่ชั้นป.๑ จนจบมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน เป็นการปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กจนโต”

     คำตอบของชบา ไกด์สาวชาวลาว เมื่อฉันถามถึงการนุ่งซิ่นของผู้หญิงลาว โดยอธิบายถึงการนุ่งผ้าซิ่นและการแต่งกายของสาวลาวแบบง่าย ๆ พอเข้าใจในห้วงเวลาอันจำกัด โดยสาวลาวจะแต่งกายแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง ซึ่งมีทั้งหมด ๓ ชาติพันธุ์ คือ ลาวลุ่ม ลาวสูง และลาวเทิง ทำให้ฉันต้องกลับมาค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องราวของ ๓ กลุ่มชาติพันธุ์นี้ เพื่อความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

     ๑. ลาวลุ่ม หมายถึง ชนชาติลาวที่อาศัยอยู่ที่ราบลุ่ม ได้แก่  ภูไท ไทเหนือ ไทดำ ไทขาว ไทแดง ไทพวนไทลื้อ ฯลฯ  โดยมีประมาณร้อยละ ๖๘ ของประชากรทั้งหมด ลาวลุ่มส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ และมีการใช้ภาษาลาวหรือภาษาตระกูลไท โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ อาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ

     ๒. ลาวเทิง หมายถึง ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูงประกอบด้วย ขมุ ข่า แจะ ละแนด สีดา ผู้เทิงไฟ เขลา ปันลุ แซ กะแสง ส่วย ตะโอย ละแว ละเวน อาลัก กะตาง เทิงน้ำ เทิงบก เทิงโคก อินทรี ยาเหียน กายัก ชะนุ ตาเลี่ยง ละแง  ฯลฯ โดยมีประมาณร้อยละ ๒๒ ของประชากรลาวทั้งหมด มีการใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร และโดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่และเลี้ยงสัตว์ และมีประชากรอาศัยอยู่ทางใต้ของประเทศ

     ๓. ลาวสูง หมายถึง ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง ประกอบด้วยชนเผ่าม้งและอื่นๆ เช่น ม้งลาย ม้งขาว ม้งดำ เย้า โซโล ฮ้อ รุนี มูเซอ ผู้น้อย กุย ก่อ แลนแตน  ฯลฯ โดยมีประมาณร้อยละ ๙ ของประชากรลาวทั้งประเทศ และมีการใช้ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต และส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ หาของป่าและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุกรและม้า อาศัยอยู่ในเขตของภาคเหนือของประเทศ

     นอกจากนี้ยังมีชาวลาวเชื้อสายเวียดนามและเชื้อสายจีน รวมทั้งชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวอีกประมาณร้อยละ ๔  ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
(ข้อมูลจาก //jinpizzz.wordpress.com)

2702603

ลาวสูง ลาวลุ่ม ลาวเทิง (จากซ้าย)
ภาพจาก //th.wikipedia.org

     เมื่อแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ยังประกอบไปด้วยกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกมากมาย นั่นหมายความว่า การแต่งกายก็จะแตกต่างกันออกไปอีก แต่ที่เราพบเห็นมากที่สุดในเวียงจันทน์และทั่วไปในประเทศลาว เนื่องจากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด ก็คือ ลาวลุ่ม

     ไกด์ชบาเล่าต่อว่า “หญิงสาวลาวลุ่มจะนุ่งผ้าซิ่นเลยหัวเข่ามาเล็กน้อยหรือแบบครึ่งน่อง ส่วนเสื้อเป็นแบบสุภาพเรียบร้อย หรือตามกาลเทศะ สาขาอาชีพ ส่วนลาวเทิงจะนุ่งผ้าซิ่นที่ไม่มีหัวซิ่นและตีนซิ่น ผ้ามีลวดลายเป็นแฉก นิยมใช้ผ้าพันศีรษะ สำหรับลาวสูงนั้นจะแต่งกายแตกต่างจากลาวลุ่มและลาวเทิง เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง ส่วนใหญ่จะสวมกระโปรงประดับด้วยเครื่องเงิน สวมหมวก”

     จากการค้นคว้าเพิ่มเติมจาก //www.lampangvc.ac.th/lvcasean/page_laos3.html เรื่องการแต่งกายและการทอผ้าของชาวลาว มีข้อมูลดังนี้

     การทอผ้าของกลุ่มชาวไท-ลาว ใช้เทคนิคการทอ ๖ วิธี ได้แก่ 
          –  
มัดหมี่ หรือ IKAI (อีขัด) 

          –  จก หรือเทคนิคการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้าผ้า 
          –  ชิด หรือเทคนิคการเพิ่มด้วยเส้นพุ่งพิเศษติดต่อกันตลอดหน้าผ้า 
          –  เหยียบเกาะ หรือเทคนิคการทอแบบใช้เส้นด้ายหลายสีเกี่ยวหรือผูกเป็นห่วง (เป็นเทคนิคการทอของชาวไทลื้อ)
          –  ตามุก หรือเทคนิคการเพิ่มด้ายเส้นยืนพิเศษ
          –  หมากไม หรือเทคนิคการปั่นด้ายเส้นพุ่ง 2 สีเข้าด้วยกัน

     ผ้าทอมีบทบาทสำคัญในชีวิตครอบครัวของชาวไท-ลาว ทุกวันนี้พิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของคนไท-ลาวยังคงใช้เครื่องแต่งกายที่งดงาม ประณีต ชุดเจ้าสาวทอด้วยไหมเส้นละเอียด สอดแทรก ด้วยเส้นเงินเส้นทอง ผ้าเบี่ยง ซิ่นและตีนซิ่น จะมีสีและลวดลายรับกัน เจ้าบ่าวนุ่งผ้านุ่งหรือผ้า เตี่ยวทอด้วยไหมละเอียดสีพื้น อาจะใช้เทคนิคการทอแบบ “หมากไม” คือการปั่นเส้นใย สวมเสื้อ แบบฝรั่ง มีผ้าพาดบ่าเพื่อเข้าพิธีสู่ขวัญ 

2702602

การแต่งกาย 
     ผู้หญิง นุ่ง Patoi (มีลักษณะคล้ายผ้านุ่งของไทย) นิยมทำเป็นลายทาง ๆ เชิงผ้าเป็น สีแดงแก่ หรือน้ำตาลเข้ม ถ้าผ้านุ่งเป็นไหม เชิงก็จะเป็นไหมด้วย มักจะทอทองและเงินแทรกเข้าไป ไว้ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้ 
     ผู้ชาย นุ่ง Patoi เป็นการนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อชิ้น นอก กระดุมเจ็ดเม็ด

     ทริปนี้ฉันได้ถ่ายรูปคู่กับชบา ไกด์สาวที่ดูแลพวกเราตลอดการเดินทาง แอบถ่ายรูปสาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มที่นั่งคุยโทรศัพท์บนบันไดของโรงแรม ขอถ่ายรูปพนักงานในร้านค้า รวมถึงน้องจินตนา ขันติวง ที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการนำเราศึกษาเยี่ยมชมหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งทำให้เราซาบซึ้งกับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวลาว และนี่คงจะเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สาวลาวสุขใจ ภูมิใจ และเต็มใจนุ่งผ้าซิ่น…เต็มใจที่เกิดมาเป็นคนชนชาติลาว

 พรปวีณ์  ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ละอองดาว โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐