ตามรอยเวียงจันทน์ ท่องเที่ยวสายบุญที่วัดศรีเมือง

บทความพิเศษ…ตามรอยเวียงจันทน์
ท่องเที่ยวสายบุญที่วัดศรีเมือง

170360

     ไม่ว่าที่ใดในโลกนี้ล้วนมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมายาวนานจนเป็นตำนานที่เลื่องลือประจำถิ่นได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของผู้คนจากทุกมุมโลกที่ต้องการเข้ามาสัมผัสและซึมซับบรรยากาศพร้อมกับฟังเรื่องราวที่ได้รับการเล่าสืบต่อกันมายาวนานหลายร้อยหลายพันปี เช่นเดียวกับประเทศลาวมีสถานที่ที่เป็นตำนานทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมาเที่ยวชม จนกลายเป็นจุดแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งที่เปี่ยมล้นไปด้วยศรัทธาจากทั้งชาวลาวเองรวมไปถึงชาวต่างชาติด้วย  และสถานที่ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ  “วัดศรีเมือง” หรือ วัดสีเมือง ในภาษาลาว แห่งนครเวียงจันทน์  ประเทศลาว

     ที่วัดศรีเมืองแห่งนี้จัดเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวลาวมานานแสนนาน  วัดศรีเมืองหรือวัดเจ้าแม่ศรีเมืองเป็นสถานที่ตั้งของศาลหลักเมือง ศาลเจ้าแม่ศรีเมือง และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรหรือพระแก้วมรกตด้วย(ปัจจุบันประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง โดยชาวลาวสร้างขึ้นไว้เพื่อสักการะแทนองค์จริงที่ถูกอัญเชิญมาประเทศไทย) อีกทั้งทางด้านหน้าของวัดยังมีอนุสาวรีย์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ยืนถือสมุดใบลาน ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของลาว (Lao) มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ปัจจุบันปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว) โดยวัดศรีเมืองนั้นได้ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๑๐๖ โดยที่หลังจากถูกกองทัพสยามในรัชสมัยกรุงธนบุรีทำลายลงในปีพ.ศ.๒๓๗๑ (ซึ่งจากนั้นกองทัพสยามก็อันเชิญพระแก้วมรกตจากวัดศรีเมืองนี้ไปประดิษฐานที่กรุงเทพฯ  ซึ่งก่อนหน้านี้พระแก้วมรกตนั้นได้ประดิษฐานอยู่ในวัดที่ล้านนา  เมื่อลาวชนะในศึกนั้นจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้) มีการสร้างวัดศรีเมืองขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ภายในวัดมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งที่ชำรุดไปแล้วบางส่วนตั้งประดิษฐานอยู่  ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมากไม่ว่าใครมาขอพรก็จะสมดังใจ  จึงทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งชาวลาวเองและนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ พากันมากราบไหว้บูชาและขอพรกันทุกๆ วันเป็นจำนวนมาก 

1703601

      มีตำนานเล่าขานถึงกาลก่อนที่จะกำเนิดเป็นวัดว่า  เมื่อครั้งอดีตในประเทศแถบบ้านเรานี้มีความเชื่อที่สืบเนื่องจากพิธีของพราหมณ์ว่า  ก่อนที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองจะต้องมีการทำพิธียกเสาหลักเมืองก่อน  โดยจุดที่จะตั้งเสาหลักเมืองนั้นพราหมณ์จะเป็นผู้กำหนดโดยใช้พื้นที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญของบ้านนั้นเมืองนั้นมาลงเสาหลักเมือง  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นในสมัยของพระเจ้ามินดุงแห่งพม่าเมื่อครั้งสร้างเมืองมัณฑเลก็มีการทำพิธีอาถรรพ์นำเอาคนเป็น ๆ มาฝังถึง ๕๒ คน  (รวมถึงประเทศไทยในอดีตก็ปรากฏพิธีอาถรรพ์เช่นเดียวกันนี้ แต่ได้รับการสั่งยกเลิกไปแล้วเมื่อถึงคราวที่จะตั้งเสาหลักเมืองของกรุงเทพมหานคร) และที่ประเทศลาวเองในสมัยก่อนก็มีความเชื่อแบบนี้เช่นเดียวกัน 

     โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งลาวจะสร้างหลักเมืองของนครเวียงจันทน์นั้น  ก่อนจะมีพิธีลงเสาหลักเมืองได้มีการขุดหลุมหลักเมืองเอาไว้ในขนาดคนหนึ่งคนและม้าหนึ่งตัว  ชาวบ้านเองก็ได้พากันนำทรัพย์มีค่าต่างๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องเพชร เครื่องทอง เครื่องเงิน นาค ฯลฯ มาโยนลงหลุมตามความเชื่อและความศรัทธาเป็นอันมาก โดยขณะเดียวกันทางการก็ป่าวประกาศจะทำพิธีอาถรรพ์โดยการฝังคนทั้งเป็นที่หลุมเสาหลักเมือง  เพื่อไปเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มีหน้าที่คอยดูแลรักษาเมืองสืบเนื่องไป   ซึ่งในกาลนั้นมีสาวชาวลาวชื่อ “สีเมือง”  กำลังท้องอ่อนๆได้ประมาณ ๓ เดือนได้ยินประกาศของทางการเข้าจึงเสนอตัวไปเป็นผีเฝ้าหลุมเพราะน้อยใจในตัวสามีว่าไม่รักใคร่เอ็นดูนาง  คอยแต่จะห้ามมิให้นางออกจากบ้านรวมถึงไม่ให้คบค้าสมาคมกับใครจึงทำให้นางเกิดความเครียดจัด  ดังนั้นเมื่อได้ยินเสียงป่าวประกาศหาคนเพื่อทำพิธีฝังอาถรรพ์  นางจึงตัดสินใจเข้าร่วมขบวนและเดินวน ๓ รอบที่ปากหลุมแล้วกระโดดลงหลุมไปในทันที  พราหมณ์ในพิธีดูฤกษ์ยามเห็นว่าเหมาะสมจึงผลักม้าสีขาวที่ผูกไว้เพื่อประกอบพิธีตามนางลงไปอีกหนึ่งตัว  แล้วนำเสาหลักเมืองปล่อยลงหลุมตามลงไป    นางสีเมืองจึงถูกฝังลงไปทั้งเป็นพร้อมลูกในครรภ์และม้าหนึ่งตัว  และนี่เองที่กลายมาเป็นตำนานของการสร้างศาลเจ้าแม่ศรีเมืองอันศักดิ์สิทธิ์  ที่อยู่ในวัดศรีเมืองมาจนทุกวันนี้  

     ศาลเจ้าแม่ศรีเมืองที่ตั้งอยู่ในวัดศรีเมืองนี้จัดว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์เป็นอย่างมากเห็นได้จากจำนวนผู้คนที่เข้ามาสักการะและขอพรกันอย่างไม่ขาดสาย  โดยมีการร่ำลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลแห่งนี้ว่าไม่ว่าใครมาขอพรก็จะสำเร็จสมหวังกันทุกรายไป ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวก็คือเรื่องความรักด้วยเหตุเพราะเจ้าแม่เองไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก  ซึ่งในการที่จะขอพรเจ้าแม่ศรีเมืองให้สมหวังดังใจได้นั้นมีความเชื่อว่าต้องนำต้นผึ้งต้นเทียนซึ่งในวัดจะมีให้บริการ  มีลักษณะเป็นเทียนแผ่บางทำเป็นดอกไม้พันก้านไม้ เมื่อจะบูชาให้นำไปปักกับต้นกล้วยที่ทางวัดได้จัดพื้นที่สำหรับกราบไหว้เอาไว้  แต่ถ้าหากจะทำต้นผึ้งต้นเทียนแบบดั้งเดิมมาถวายองค์เจ้าแม่ก็จะดีไม่น้อย โดยต้นผึ้งต้นเทียนแบบโบราณนั้นจะทำจากขี้ผึ้งปั้นขึ้นรูปหรือปั้นเป็นดอก ๆ เหมือนดอกไม้แล้วจัดเป็นพุ่มเหมือนต้นไม้ ส่วนต้นเทียนนั้นเป็นการนำเทียนมาจัดตกแต่งห้อยกับกิ่งไม้หรือทำเป็นพุ่มด้วยเทียนที่เป็นแท่ง ๆ อยู่แล้ว โดยผู้ที่มาขอพรนั้นต้องนำต้นพุ่มต้นเทียนดังกล่าวมากราบไหว้ขอพรและบนบานจากเจ้าแม่สีเมืองจึงจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ขอ

     วัดศรีเมืองนั้นตั้งอยู่บนถนนเชษฐาธิราช ทางทิศตะวันออกของสถานทูตฝรั่งเศส จากข้างต้นจะเห็นว่าวัดศรีเมืองนี้เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนาชาวลาวเป็นอย่างมาก  หากท่านได้มีโอกาสไปเที่ยวชมจะได้เห็นวิถีปฏิบัติของชาวแม่หญิงลาวที่ไปนมัสการพระในวัดว่านิยมนุ่งผ้าซิ่นและมวยผมเข้าวัดซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของที่นั่น (เพราะที่ลาวมีธรรมเนียมว่าถ้าหากแม่หญิงไม่นุ่งซิ่นจะไม่สามารถเข้าร่วมงานบุญได้) และถ้าหากนักท่องเที่ยวจะนุ่งซิ่นมวยผมไปไหว้พระบ้างก็ถือว่าเป็นสิ่งงดงามน่ารักไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด โดยมีค่าผ่านประตูเพียงคนละ ๕,๐๐๐ กีบ หรือประมาณ ๒๐ บาท  โดยทางวัดจะเปิดให้เข้าชมได้แต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ของทุกวัน

     เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบสายบุญและสายศรัทธา  หวังว่าข้อมูลรู้ที่ได้รับในวันนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ไปเที่ยวกันได้อย่างสบายใจหายห่วง  เพราะเต็มอิ่มไปด้วยความรู้ของที่มาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งรับรองว่าจะช่วยเสริมมนต์ขลังในการท่องเที่ยวของท่านอย่างเต็มเปี่ยมเลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากใครต้องการจะไปสัมผัสบรรยากาศแห่งการทำบุญแบบพุทธดั้งเดิม  ที่วัดศรีเมืองแห่งนี้ก็ยังคงมีกลิ่นอายโบราณให้ชื่นชมอย่างที่เรียกว่าชุ่มปอดกันเลยทีเดียว

     ดังนั้นหากใครมีโอกาสไปเที่ยวประเทศลาว อย่าลืมแวะวัดศรีเมืองซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ได้ชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันงดงามของชาวลาวอีกด้วย  เรียกว่าไปที่เดียวแต่เที่ยวได้สุดคุ้มกันเกินบรรยาย เพื่อน ๆ ว่าจริงมั้ย…

     ***รูปภาพจากทริปโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๓ – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดย พรปวีณ์  ทองด้วง***

 

น.ส. ละอองดาว   โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://laos-travel.blogspot.com
http://www.phusing.com