บทความพิเศษชุด ตามรอยเวียงจันทน์ ณ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
ตอน ท่านไกสอน พมวิหาน
ตำนานวีรชนที่สถิตอยู่ในดวงใจคนลาวทั้งชาติ
“หากประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นดั่งวีรบุรุษและศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ประเทศลาวก็มีประธานประเทศที่เป็นดั่งวีรบุรุษและศูนย์รวมจิตใจของผู้คนชาวลาวเช่นกัน”
หลายสิ่งหลายอย่างที่วีรชนรุ่นก่อน ๆ ได้ทำเอาไว้ส่งผลให้ลาวเป็นประเทศได้จนทุกวันนี้ บางครั้งเราก็ไม่อาจเชื่อได้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นในอดีตจะเคยเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะบางเหตุการณ์ก็รุนแรงจนไม่คิดว่ามนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า ใช้กำลังเข้ายึดดินแดนที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ของตน ฉุด คร่า ชีวิตของผู้อื่นเช่นผักปลา จนเจ้าของถิ่นที่อยู่เดิมทนไม่ไหวอีกต่อไป ต้องดำเนินการปลดแอกให้ตนเอง มีการวางแผนการกันเป็นปีเพื่อให้ชาติของตนได้รับอิสระ และผู้ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติลาวจนต้องจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่านเอาไว้เพื่อยกย่องสรรเสริญ อีกทั้งบอกกล่าวให้คนรุ่นหลังได้ทราบก็คือ ท่านประธานไกสอน พมวิหาน
คุณจินตนา ขันติวง ผู้บรรยายประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติได้บรรยายถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และประวัติของท่านไกสอน พมวิหาน ให้คณะสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เดินทางไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ฟังด้วยใบหน้าที่ตื้นตันและภาคภูมิใจว่า
ท่านไกสอน พมวิหาน เป็นคนลาวโดยกำเนิด พ่อของประธาน ไกสอน พมวิหาน เป็นผู้แปลภาษาฝรั่งเศส (หมายถึง ล่าม) อยู่ที่แขวงสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) ส่วนแม่ก็เป็นหญิงสาวชาวนา มีน้องสาวสองคน คือนางสุวรรณทองและนางกองมณี ซึ่งนางสุวรรณทองแต่งงานกับชาวไทย ส่วนนางกองมณีนั้นได้แต่งงานกับชาวต่างชาติ และต่อมาท่านไกสอนได้มีภรรยาและสมรสในปีพ.ศ.๒๔๙๗ มีลูกด้วยกันหกคน เป็นลูกชายทั้งหมด และเสียชีวิตไปแล้วสองคน…
...เมื่อท่านไกสอน อายุได้ ๗ ปี ได้เล่าเรียนชั้นประถมศึกษาด้านภาษาฝรั่งเศสและภาษาลาวอยู่ที่แขวงสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) ต่อมาได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวิทยาลัยโปรเต็กโตรา ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้น และเมื่อจบระดับมัธยมศึกษาท่านได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย โดยแรกเริ่มได้เข้าเรียนคณะแพทย์ตามคำแนะนำของพ่อ แต่มาค้นพบในภายหลังว่าไม่ใช่สิ่งที่ตนชอบจึงเลือกเรียนกฎหมายแทน…
…ท่านไกสอน พมวิหาน นั้นมีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาวคนแรก และนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานประเทศ (ประธานประเทศลาวคนที่ ๓) จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ปัจจุบันมีอนุสรณ์สถานของท่านอยู่ทุกแขวงทุกเมืองทั่วประเทศ และมีรูปของท่านปรากฏบนธนบัตรสกุลเงินกีบของลาวด้วย”
หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๓ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๕๓๕ จนสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากที่ท่านไกสอน เสียชีวิตลงในปี พ.ศ.๒๕๓๕ นั่นเอง โดยทางรัฐบาลลาวได้มีมติร่วมกันให้สร้างหอพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมและแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของลาว ให้ผู้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ จะได้เกิดความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามของชาติลาว อีกทั้งยังเปิดให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้เข้าชมอีกด้วย
หอพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีด้วยกันทั้งหมด ๓ ชั้น แต่ละชั้นก็จะเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม จะมีห้องรับแขก ห้องเขียนความรู้สึก แล้วก็ห้องประชุม ทั้งยังมีการจัดแสดงภาพถ่ายต่าง ๆ อันสะท้อนถึงวิถีชีวิตและภารกิจประจำวันของท่านประธานไกสอน พมวิหาน ตลอดจนมีห้องโถง หรือเรียกว่าห้องดำเนินพิธีการที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งพิธีการ มีการวางพวงมาลา รวมไปถึงตะกร้าดอกไม้เอาไว้จัดพิธีการต่าง ๆ ด้วย
วีรกรรมที่สำคัญของท่านไกสอน พมวิหาน
ผลงานของท่านไกสอนหลัก ๆ ก็คือ ท่านประธานไกสอน พมวิหาน เป็นผู้ประกาศสั่งให้จัดตั้งกองทัพลาวอิสระ ร่วมกับผู้นำท่านอื่น ๆ ได้แก่ ท่านประธานสุพานุวง ประธานหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานคำไต สีพันดอน ซึ่งท่านประธานไกสอนเป็นผู้ที่นำการต่อสู้ทางการทหารเข้ามาใช้ในภารกิจปลดปล่อยชาติ จากนั้นได้ตั้งพรรคประชาชนลาวขึ้นมา โดยท่านไกสอนเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคนแรก โดยในช่วงนั้นพรรคดำเนินงานอย่างเป็นความลับ
การตั้งพรรคเช่นนี้มีแนวคิดต้นกำเนิดมาจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ จนสลายตัวไปใน ปี พ.ศ.๒๔๙๔ เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ ๓ ประเทศอินโดจีนมีพรรคเป็นของตนเอง พรรคดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ใช้ชื่อว่า “พรรคประชาชนลาว” โดยเป็นองค์กรแกนนำของแนว “ลาวฮักซาด” (ลาวรักชาติ) และ “ขบวนการปะเทดลาว” (ขบวนการประเทศลาว) พรรคประชาชนลาวได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกองทัพประชาชนลาวนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านไกสอน พมวิหาน เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติรัฐบาลของต่างชาติซึ่งเป็นผู้รุกรานดินแดนลาวในครั้งนั้น ให้ลาวได้ทวงประเทศชาติของตนคืนมาและปลดแอกประชาชนทุกคนให้มีอิสระอีกครั้ง เหมือนกับประเทศไทยที่มีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมากอบกู้เอกราชให้ชาวไทยได้เป็นประเทศสืบมาจนทุกวันนี้
“การเป็นวีรบุรุษไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากก็คือ การดำรงซึ่งความดีนั้นไว้ตราบนานเท่านานต่างหาก”
เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/ไกสอน_พมวิหาน
http://thailand.prd.go.th/1700/ewt/aseanthai/
ความเห็นล่าสุด