ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน ร่วมอภิปรายในการประชุม
“แนวทางศึกษาด้านขยายศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกสุโขทัย
เพื่อเป็น HUB การท่องเที่ยวมรดกโลกอาเซียน”
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมเดอะเลเจนด้าสุโขทัยรีสอร์ท ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็น “แนวทางการศึกษาด้านขยายศักยภาพเพื่อเป็น HUB การท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกในอาเซียน” จัดโดยสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.๔) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกสุโขทัย ในประเด็นการเข้าถึง ความพร้อม ความคงทนถาวรของสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการยอมรับของชาวโลก
การประชุมครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ได้ร่วมอภิปรายและนำเสนอผลการศึกษาใน ๒ ประเด็นคือ
– พฤติกรรม ความคาดหวัง และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจด้านอาหารการกิน ธรรมชาติ วิถีชีวิต ในขณะเดียวกันมีความคาดหวังต้องการเห็นประเพณีลอยกระทงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก ซึ่งจะจัดขึ้นเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ตลอดจนความต้องการบริการด้านอินเตอร์เน็ตและสารสนเทศที่เพียงพอ
– ทิศทางการพัฒนาสุโขทัยเป็น HUB การท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอาเซียน จากผลการศึกษาดังกล่าว นำไปสู่ ๓ กลยุทธ์สำคัญคือ
1. เสริมแรง ดึงศักยภาพของความเป็นมรดกโลกที่ทุกคนพอใจและรับรู้ขึ้นมาให้เด่นที่สุด โดยสร้างกิจกรรม ประเพณี ตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตั้งแต่ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร
2. ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน ที่สำคัญคือ ลดจุดอ่อนด้านมัคคุเทศก์ ระบบสารสนเทศ การบริการที่มีมาตรฐาน เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ที่ภาคบริการต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับมาตรฐานระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
3. การเสริมแรงด้านกลยุทธ์การตลาด โดยทำการตลาดมรดกโลกเชิงรุกเพื่อหาเป้าหมายใหม่ เช่น คนชรา นักท่องเที่ยวกลุ่มพิเศษ การเชื่อมโยงระหว่างมรดกโลกกับธรรมชาติ การสร้างมรดกโลกกับกิจกรรม เช่น การสร้างเมืองจำลอง เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของคนในอดีตในช่วงระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้เกิดจินตนาการ ๓ มิติของความเป็นอดีตขึ้นมาใหม่ที่กรุงสุโขทัย ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ ทางการตลาด ให้กลายเป็น HUB ทางการท่องเที่ยวแตกต่างจากที่อื่นในมรดกโลกอาเซียน
จากการประชุม อภิปราย นำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ทางสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์
สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จะได้รวบรวม สกัด กลั่นกรอง เพื่อนำไปสู่การขยายศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกสุโขทัยให้กลายเป็น HUB การท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอาเซียนต่อไป
ความเห็นล่าสุด