สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรจับมือพัฒนาชุมชน สร้างสรรค์ ๑๑ ลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรจับมือพัฒนาชุมชน   สร้างสรรค์ ๑๑ ลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก พร้อมโชว์ ๑๙ กันยายนนี้

001

002

     จากความสำเร็จของงานวิจัย “การออกแบบลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก” โดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นำมาสู่การพัฒนา สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบายของจังหวัดพิษณุโลก นำโดยนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

003

     โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์และการเพิ่มช่องทางการตลาด OTOP จังหวัดพิษณุโลก” เป็นความร่วมมือของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อยกระดับผ้าทอในจังหวัดพิษณุโลกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานวัฒนธรรมเข้ากับนวัตกรรมด้วยงาน creative และ design สอดรับนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เพิ่มทักษะการพัฒนาลายผ้า การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ร่วมสมัย

004

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าว่า “กระบวนการทำงานเริ่มตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๐ มีการจัดประชุมกลุ่มทอผ้าในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาผ้าทอจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นนำลวดลายผ้าที่สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินออกแบบขึ้นใหม่เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อคัดเลือกจำนวน ๑๑ ลวดลาย แล้วลงพื้นที่ให้การอบรมพัฒนาลวดลายและการแปรรูป รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ ๑๑ ลวดลายให้มีความทันสมัยแก่สมาชิกกลุ่มทอผ้า จากนั้นดำเนินการออกแบบตัดเย็บแปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย”

          ผ้าทอ ๑๑ ลวดลายประกอบด้วย

101

  • ลายสร้อยสยาม แบบลายมัดหมี่จากดอกสร้อยสยาม พรรณไม้หนึ่งเดียวในโลก พบเฉพาะถิ่นเดียวที่จ.พิษณุโลก เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งสกุลชงโค วงศ์ Leguminosae ออกดอกเป็นช่อ สีชมพู ในเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน พบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๔ บริเวณเขตเทือกเขาภูเมี่ยง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก โดยนายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ ปัจจุบันมีการนำมาเพาะพันธุ์ ณ สวนพฤกษศาสตร์ ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

102

  • ลายดอกนนทรี แบบลายมัดหมี่จากดอกนนทรี ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก กลีบดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อใหญ่แบบช่อกระจะ บริเวณซอกก้านใบและปลายกิ่งชูช่อดอกเด่นออกมาเหนือทรงพุ่ม ช่อดอกตั้งยาว ๑๐ – ๒๐ เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ด้านนอกมีขนอ่อนสีน้ำตาล กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ย่นเป็นคลื่น เมื่อบานเต็มที่ กว้าง ๑.๕ – ๒.๐ เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ออกดอกเดือนเมษายน – พฤษภาคม

103

  • ลายมะม่วง แบบลายมัดหมี่จาก “มะม่วง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทต่อปี มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด ๖๒,๐๓๐ ไร่ นับว่าเป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ พื้นที่ส่วนมากอยู่ในเขตอำเภอวังทอง เนินมะปรางและวัดโบสถ์ แต่ละปีมีผลผลิตมะม่วงกว่า ๔๔,๐๐๐ ตัน มีมูลค่ากว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตมะม่วงทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีผลผลิตทั้งมะม่วงกินสุก ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ โชคอนันต์ และประเภทกินดิบ ได้แก่ เขียวเสวย ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด เป็นต้น

104

  • ลายจำปาขาว ต้นจำปาขาวที่วัดกลางศรีพุทธาราม ไม้ดอกประเภทไม้ยืนต้น มีขนาดใหญ่ ขนาดลำต้นวัดโดยรอบประมาณ ๓ เมตรเศษ สูงประมาณ ๙ – ๑๐ เมตร ความแปลกที่แตกต่างจากต้นจำปาอื่น ๆ คือ ต้นจำปาทั่วไป จะมีดอกเป็นสีเหลือง แต่ต้นจำปาต้นนี้ออกดอกเป็นสีขาวนวล ชาวอำเภอนครไทยเชื่อกันว่า พ่อขุนบางกลางท่าวทรงปลูกไว้เมื่อครั้งครองเมืองบางยาง (นครไทย) ต้นจำปาขาวมีอายุประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ

105

  • ลายลานหินปุ่ม “ลานหินปุ่ม” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สถานที่ท่องเที่ยวในเขตจังหวัดพิษณุโลก เป็นลานกว้างโดยมีหินขึ้นตะปุ่มตะป่ำกระจายอยู่เต็มลาน หินที่ว่านี้มีลักษณะเป็นเสาหินกลมมนเตี้ย ๆ เรียงกันเป็นแถว ปุ่มหินมีความสูงเพียง ๑๕ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ด้วยความที่ลานหินปุ่มมีความแปลก งดงามและตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก จึงกลายเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง

106

  • ลายลูกยาง ต้นยางนาจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง ๕๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง ยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งเมล็ดนั้นมีลักษณะเป็นลูกไม้ทรงกลม ความพิเศษคือมีปีกใหญ่ ๒ ปีก เมื่อร่วงหล่นจากต้น ตัวปีกจะนำพาให้ลูกยางไปตกในที่ไกล ๆ นับเป็นวิธีการขยายพันธุ์ของธรรมชาติที่ดีเยี่ยม

107

  • ลายคลื่นน้ำ แบบลายมัดหมี่จากลักษณะคลื่นน้ำของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ไหลผ่านกลางเมืองจนมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เมืองอกแตก”

108

  • ลายค้างคาว แบบลายมัดหมี่จากกิจกรรมชมค้างคาวบินออกจากถ้ำที่อำเภอเนินมะปราง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพิษณุโลก ความโดดเด่นของอำเภอเนินมะปราง คือตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามของภูเขาหินปูนรูปร่างสวยงามแปลกตา และท้องทุ่งนาสุดกว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าเขาสีเขียวขจี บรรยากาศเงียบสงบ ในเวลาเย็นที่ตำบลบ้านมุง มีกิจกรรมการชมค้างคาวนับล้านตัวบินจากปากถ้ำของภูเขาหินปูนเพื่อออกมาหากิน

109

  • ลายไก่ ไก่ชนเหลืองหางขาว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏอยู่ในพงศาวดารว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา

1010

  • ลายปีบสองแคว ลวดลายผ้าทอ “ปีบสองแคว” จากลักษณะภูมิประเทศของเมืองพิษณุโลกที่มีแม่น้ำสายหลักสองสาย คือ แม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ร่วมกับดอกของต้นปีบ พันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดพิษณุโลก โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระราชทานกล้าไม้ปีบแก่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำไปปลูกเป็นไม้มงคล

1011

  • ลายน้ำน่าน แบบลายมัดหมี่จากลักษณะคลื่นน้ำของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ไหลผ่านกลางเมือง

      ผ้าทอ ๑๑ ลวดลายเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลก เตรียมสู่สายตาชาวพิษณุโลก ในงาน “แสดงแบบเสื้อและวิวัฒนาการผ้าทอ OTOP พิษณุโลก” วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นหนึ่งเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน

จากสีสันเส้นสายลวดลายศิลป์
ผ้าทอถิ่นสองแควแลงามยิ่ง
๑๑ เอกลักษณ์รูปแบบแยบยลจริง
แพรพรรณพริ้งเพริศแพร้วพรรณนา

 

พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๐