กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจับมือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจับมือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
นำร่อง ๗ โรงเรียนภาคเหนือตอนล่าง
สร้างมิติใหม่และโมเดลต้นแบบการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

0509601

0509602

     กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดการประชุม “สรุปผลและนำเสนอผลการดำเนินโครงการการพัฒนารูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ ในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่างแบบมีส่วนร่วม” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒ – ๓ กันยายน ๒๕๖๐ ณ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีครู อาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน ๗ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบึงสามพันวิทยาคม เพชรบูรณ์, โรงเรียนนครไทย พิษณุโลก, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ นครไทย พิษณุโลก, โรงเรียนชาติตระการ พิษณุโลก, โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ตาก, โรงเรียนบ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ สุโขทัย และโรงเรียนอนุบาลท่าปลา (ชุมชนร่วมจิต) อุตรดิตถ์ เข้าร่วมการประชุม มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประธานเปิดงาน

     การประชุมเริ่มด้วยการสรุปผลการดำเนินงาน การวิเคราะห์เงื่อนไข ปัจจัยของความสำเร็จและแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเขียนประวัติศาสตร์ฯ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นเป็นการนำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมตลอดระยะเวลา ๑ ปีของโรงเรียนทั้ง ๗ แห่ง จากการเลือกหนึ่งประเด็นในชุมชน ทำให้แต่ละโรงเรียนมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ก่อเกิดความรู้ ความภาคภูมิใจ การอนุรักษ์ สืบสาน ทั้งยังมีการต่อยอดสร้างรายได้ อาชีพ เกิดเป็นการท่องเที่ยวในชุมชน และนวัตกรรม ได้แก่, วิถีชีวิตคนทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยโรงเรียนอนุบาลท่าปลา (ชุมชนร่วมจิต) อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์, การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตรอบลำน้ำบึงสามพัน โดยโรงเรียนบึงสามพันวิทยาคม เพชรบูรณ์, วิถีชีวิตช่างแทงหยวกกล้วยแลแห่นาค อำเภอนครไทย โดยโรงเรียนนครไทย พิษณุโลก, ลายผ้าปักม้งในเขตนครไทย-ชาติตระการ โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ นครไทย พิษณุโลก, การศึกษาลายผ้าทอมือกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนาเมือง โดยโรงเรียนชาติตระการวิทยา พิษณุโลก, พระเจ้าทันใจสามพี่น้อง โดยโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ตาก, วิถีชีวิตช่างปั้นเครื่องสังคโลก โดยโรงเรียนบ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ สุโขทัย

            ในช่วงท้ายเป็นการกล่าวสรุปโครงการและข้อเสนอแนะ โดยนางสาวจุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์ นักวิชาการศึกษา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าวได้ทำให้เกิดคลังข้อมูลทางสังคม–วัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งยังเป็นโมเดลการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป

          กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสังคม-วัฒนธรรม ๔ ภูมิภาค ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมีความมุ่งหวังจะพัฒนาฐานข้อมูลทางสังคม-วัฒนธรรม ในเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมประเด็นทางวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นชาติพันธุ์วิทยา เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย และ/หรือการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยทางด้านชาติพันธุ์ ประเด็นที่เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม อาทิ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ เอกสารโบราณ และ/หรือข้อมูลด้านคติชนวิทยา โดยหวังจะให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคลังข้อมูลทางสังคม–วัฒนธรรมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต