ผอ.กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมโชว์ “เครื่องเคลือบโบราณและสมัยใหม่” ในนิทรรศการของสะสม ครั้งที่ ๒ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผอ.กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมโชว์ “เครื่องเคลือบโบราณและสมัยใหม่”
ในนิทรรศการของสะสม ครั้งที่ ๒ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

16026101

      เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ อาคารสโมสรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมงาน“นิทรรศการหมุนเวียนชุด “ของสะสม 2” THE EXHIBITION OF PRECIOUS PERSONAL COLLECTIBLES 2 จัดโดยพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ)ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานเป็นการจัดแสดงของสะสมของเหล่านักสะสมจากทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ผ้าไหมโบราณ เสื้อทีมฟุตบอล ตุ๊กตา เครื่องปั้นดินเผาทำมือ วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในวิชาพิพิธภัณฑ์ สร้างกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายและหลักการของพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนส่งเสริมความนิยมในการสะสมวัตถุสิ่งของอันมีค่าทั้งในทางจิตใจและทางด้านมูลค่าเพื่อให้วัตถุเหล่านั้นเป็นเครื่องระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตของผู้สะสม และเป็นแรงบันดาลใจให้นักสะสมรุ่นใหม่ได้ศึกษาและเจริญรอยตามต่อไป

16026102

     งานนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร นำของสะสมคือเครื่องเคลือบร่วมจัดแสดง เช่น เครื่องเคลือบสีดำยุคก่อนสุโขทัย เครื่องสังคโลกที่เป็นตัวแทนยุคสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยเวียงกาหลงจังหวัดเชียงราย เครื่องถ้วยเวียงบัว จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นศิลปะของล้านนา เครื่องเบญจรงค์สมัยอยุธยา โถกะปิแบบลายวังหน้า ซึ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยสมัยใหม่ที่ทำเลียนแบบถ้วยชามแบบตะวันตก ได้แก่ ชามชุดลายดอก เป็นชามสีขาว ลวดลายดอกกุหลาบสีชมพู มีประกายสีทองอยู่ในฝาครอบและพื้นชาม โดยมีว่าที่ร.ต.ขัณฑพงศ์ เนื่องโนราช บุคลากรกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม คอยให้การต้อนรับให้ข้อมูลแก่ผู้เยี่ยมชม

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวว่า “เครื่องสะสมทั้งหมดที่สะสมในกลุ่มเครื่องเคลือบคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผู้สะสมรู้สึกว่าเครื่องถ้วยและเครื่องเคลือบทั้งหมดสะท้อนรสนิยมและการใช้ชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับภาชนะต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนในด้านรูปแบบความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคน ทีเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านรสนิยมจนก่อเกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์ อารมณ์และความรู้สึกของผู้คน จนอาจกล่าวได้ว่า ‘ประวัติศาสตร์คือความทรงจำที่มีชีวิต’