เพราะในหลวงคือดวงใจไทยทั้งชาติ

เพราะในหลวงคือดวงใจไทยทั้งชาติ

เพราะในหลวงคือดวงใจ เมื่อดวงใจป่วยก็ต้องมาดูแล เพราะถ้าดวงใจเป็นอะไรไป เราก็อยู่ไม่ได้”

            ประโยคแรกที่ได้ยิน เมื่อเปิดโทรทัศน์ชมข่าวในช่วงเช้าของวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ นี่คือหนึ่งเสียงของประชาชน ณ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่า แทนความรู้สึกของคนทั้งประเทศ

            “ทำไมคนไทยจึงรักในหลวง” “ทำไมเวลาพูดถึงในหลวงคนไทยต้องร้องไห้” จำได้ว่าเคยมีชาวต่างชาติถามประโยคนี้ด้วยความแปลกใจ และข้อความด้านบนก็น่าจะเป็นคำตอบได้อย่างดี

………………………

1

            และแล้วก็ถึงวันที่หัวใจของคนไทยแตกสลาย เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันก้มลงกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยดวงจิตสุดสั่นคลอน หวั่นไหว “รูปที่มีทุกบ้าน” เพลงของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ที่กระตุกต่อมสำนึกได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ บางบ้านไม่มีรูปตัวเองด้วยซ้ำ แต่รูปภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวติดตั้งตระหง่านกลางบ้าน สำหรับที่บ้านฉันจำได้ว่าซื้อภาพพร้อมกรอบหิ้วใส่รถบัสมาจากต่างจังหวัด เรียกว่าเห็นปุ๊บซื้อปั๊บ ไม่เลือกแบบอื่นเลย ราคาไม่แพง แต่มิอาจเทียบได้กับคุณค่าทางจิตใจ

            หลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านผ่านสื่อต่าง ๆ ล้วนสร้างความปลาบปลื้มใจ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ซึ่งตัวฉันเองได้รวบรวมไว้เพื่อใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิต

2

            พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔

            “…มีอยู่ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าอายุ ๑๘ ปี ได้ตามเสด็จ…ตอนนั้นเป็นช่วงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกจังหวัดและอำเภอใหญ่ ๆ ก็เสด็จฯ ประมาณ ๙ โมงเช้า เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรมาเรื่อย ๆ ทีนี้ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า แหม นานเหลือเกิน ตอนนั้นยังไม่กางร่ม ตอนนั้นยังไม่ค่อยกลัวแดด ไม่ใส่หมวก ก็รู้สึกแดดเปรี้ยง หนังเท้านี้รู้สึกไหม้เชียว ก็เดินเข้าไปกระซิบท่านว่าพอหรือยัง ก็โดนกริ้ว

นี่เห็นไหม ราษฎรเขาเดินมาเป็นวัน ๆ เพื่อมาดูเราแม้แต่นิดเดียว แต่นี่เรายืนอยู่ไม่เท่าไรล่ะตอนนี้ทนไม่ไหวเสียแล้ว…”

3

ทรงรักไทยมุสลิม

     ความรักที่มีต่อพสกนิกร แม้ในภาคใต้ในสมัยที่โจรร้ายชุกชุม ถึงขนาดที่หลาย ๆ หมู่บ้าน แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่กล้าย่างกรายเข้าไป

     “ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ลงไปเยี่ยมเยียนเป็นขวัญกำลังใจให้ราษฎรของพระองค์โดยไม่ทรงหวาดหวั่น บางวันถึงกับเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ปราศจากกำลังอารักขา และบางหมู่บ้านตำรวจเพิ่งถูกคนร้ายแย่งปืนแล้วยิงตายก่อนเสด็จฯ ไปถึงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทรงรักราษฎรถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกที่หญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านถึงกับเข้ามาเกาะพระบาทของพระเจ้าอยู่หัว ร้องไห้แล้วบอกว่า ไม่นึกเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไทยพุทธ จะมารักมุสลิมได้ถึงขนาดนี้”

 4

พระบารมีปกเกล้า

     การเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง แม้จะต้องเชิญกับแดดร้อนหรือลมแรง ราษฎรก็ไม่เคยย่อท้อที่จะอดทนรอรับเสด็จให้ถึงที่สุด แม้ฝนจะตกหนักแค่ไหนก็ไม่มีใครยอมกลับบ้าน

     ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ “พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง” ตีพิมพ์ในหนังสือ ๗๒ พรรษา ราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์ ว่า

     ครั้งหนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จต่างเปียกปอนกันหมด แต่ก็ยังตั้งแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ นายตำรวจราชองครักษ์ที่ตามเสด็จได้เข้าไปกางร่มถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎรที่มายืนตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่างก็เปียกฝนโดยทั่วกัน จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชองครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงพระดำเนินเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จ โดยทรงเปียกฝนเช่นเดียวกับข้าราชการและราษฎรทั้งหลายที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น

5

ของมีค่าหายาก

     ปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อชาวอีสานทราบข่าวดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ เยี่ยมอีสานเป็นเวลายาวนานถึง ๑๙ วัน ระหว่างวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าชาวอีสานจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจเพียงใด

     เพราะอีสานเวลานั้นแห้งแล้งเหลือแสน ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำชลประทานดังเช่นในปัจจุบัน เส้นทางรถยนต์ในยุคนั้นก็ยังเป็นดินแดง ทุรกันดาร น้ำพระราชหฤทัยที่แสดงออกด้วยการเจาะจงเสด็จฯ เยี่ยมอีสาน จึงเป็นเสมือนน้ำฝนที่หยาดลงมาบนผืนดินที่แห้งผาก

     ยังไม่ทันที่พระองค์จะเสด็จฯ มาถึง น้ำพระทัยที่เย็นดุจสายฝนหยดแรกก็หยาดนำทางลงมาเสียแล้ว เมื่อมีข่าวว่ากรมทางหลวงเตรียมน้ำ “น้ำ” มาราดถนนทางเสด็จพระราชดำเนินเพื่อมิให้ถนนเกิดฝุ่นแดงคลุ้งเมื่อรถพระที่นั่งแล่นผ่าน

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งห้ามว่า ไม่ให้นำน้ำซึ่งเป็นของมีค่าหายากมาราดถนนรับเสด็จ แต่ให้สงวนน้ำไว้ให้ราษฎรใช้อาบกิน

6

สมรักษ์ คำสิงห์

     เมื่อโอลิมปิคปี ๒๕๓๙ วินาทีแห่งชัยชนะของสมรักษ์ คำสิงห์ ยังจำภาพที่สมรักษ์วิ่งเข้าไปที่มุม แล้วอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกมาที่กลางเวทีได้

     “วินาทีแห่งชัยชนะ ผู้ชมที่เวทีมวยเมืองแอตแลนตาต่างก็ต้องทึ่งและอึ้ง เมื่อกรรมการชูมือขวาของสมรักษ์ขึ้นประกาศชัยชนะ ขณะที่นักชกชาวไทยใช้มือซ้ายชูพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นสูงที่สุด ภาพนั้นทำให้ผู้ชมชาวไทยที่เชียร์อยู่อีกซีกโลกถึงกับหลั่งน้ำตา ด้วยความรู้สึกอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสมรักษ์ ความรู้สึกที่คนไทยด้วยกันเข้าใจกันโดยไม่ต้องอธิบาย”

7

แบงก์ ๕๐๐ มีความหมาย

     ก่อนขึ้นเครื่องจากเมืองไทย เงินที่มีอยู่ในตัวควักให้พี่สาวหมดเลย ขอแบงก์ ๕๐๐ ไว้ใบเดียว สังหรณ์ใจว่าคงอีกนานกว่าจะได้กลับไปเหยียบแผ่นดินไทย พ่อแม่ก็เสียหมดแล้ว มีแต่เจ้าชีวิตพระองค์นี้แหละที่นำติดตัวไป เวลาที่เหนื่อยยาก หรือคิดถึงบ้านก็ควักออกมาดู

8

ทรงจำได้

     เรื่องนี้รุ่นพี่ที่จุฬาฯ เล่าให้ฟังว่า มีอยู่ปีหนึ่งที่ในหลวงเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร อธิการบดีอ่านรายชื่อบัณฑิตแล้วบังเอิญว่ามีเหตุขัดข้องบางประการ ทำให้อ่านขาดตอน รีบหาว่าอ่านรายชื่อไปถึงไหนแล้ว ปรากฏว่าทรงจำได้ พระองค์ท่านเลยตรัสกับอธิการบดีไปว่า “เมื่อกี้นี้ (ชื่อ…) เขารับไปแล้ว”

9

ข้าวจานนี้ของในหลวง

     ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสาวรีย์ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ว่า หลังจากเสด็จฯ ไปเปิดอนุสาวรีย์แล้ว ทรงขอกลับไปที่พระตำหนักเพื่อจะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาท เพราะจะต้องทรงไปทอดพระเนตรงานในป่าต่อ ดังนั้น ผู้ตามเสด็จจึงคิดว่าน่าจะมีเวลาสัก ๒๐ นาที สำหรับพุ้ยข้าวกิน จึงรีบวิ่งไปที่ห้องอาหารที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ตามเสด็จกินข้าวกันหมดแล้ว เหลือข้าวติดก้นกระทะกับไข่ดาวแห้ง ๆ ๓ – ๔ ฟอง แล้วมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดกับไข่ดาวโปะอยู่หนึ่งฟอง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางไว้ มีใครคนหนึ่งหยิบจานข้าวผัดจานนั้นขึ้นมา พลันมีเสียงมหาดเล็กพูดขึ้นว่า “ไม่ได้ ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก” ดร.สุเมธบอกว่า แทบจะน้ำตาไหลที่ได้เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวของเราก็เสวยเหมือนกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ

10

พระราชทานปริญญาซ้ำ

     บทความเรื่อง มหาราชของไทย โดยรองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ได้ทำให้พวกเราทราบถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพิธีพระราชทานปริญญาของบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงบ่ายได้เกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ เป็นผลให้บัณฑิต ๖ คน ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรหมดโอกาสที่จะถ่ายภาพตอนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ไว้เป็นที่ระลึก แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้ไปตามบัณฑิต ๕ – ๖ คนขึ้นมารับปริญญาใหม่อีกครั้ง

11

การละเล่นเกี่ยวกับน้ำ

     การละเล่นอย่างหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเป็นอย่างยิ่งเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ก็คือ การเทน้ำราดลงบนพื้นทรายแล้วเฝ้าสังเกตทางไหลของน้ำ ทรงทดลองศึกษาและติดตามเป็นเวลายาวนานด้วยความสนพระทัย กลายเป็นจุดเริ่มในพระปรีชาสามารถด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม รวมไปถึงน้ำเสีย ซึ่งหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาด ก็จะสามารถคลี่คลายและบรรเทาความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับชาวกรุงเทพมหานครได้ดีกว่าที่ควรจะเป็นอย่างแน่นอน

12

แบบไหนเรียกพอเพียง

     “วันนี้มีแต่คนมองในหลวงแล้วปลาบปลื้มน้ำตาไหล แต่น้อยคนที่จะพยายามเข้าใจว่าทรงสอนอะไร” ประโยคนี้ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พูดเมื่อครั้งมาบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการประชุมผู้นำชุมชนทั่วภาคเหนือที่โครงการพัฒนาดอยตุง และยังปิดท้ายให้คนไทยได้คิดอีกว่า

     “ต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อนเป็นสิ่งแรก เพื่อจะได้เดินได้ถูก นี่เป็นสิ่งสำคัญ อย่างในบางมหาวิทยาลัยจะเห็นห้องประชุมติดแอร์เย็นฉ่ำแล้วคนมาประชุมก็ใส่ผ้าพันคอกันหนาวมาด้วย หรือไปดูนิทรรศการเศรษฐกิจที่ไหนก็จะต้องมีแสดงผัก กระท่อม และควายมาแสดงทำนา จนคนเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องเป็นเกษตรและจน”

13

วันสิ่งแวดล้อมไทย

     พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ บ่งบอกให้ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลและกล่าวเตือนสติให้พวกราตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนล่วงหน้าเป็นเวลาหลายสิบปีและทำให้รัฐบาลกำหนดให้วันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย

     “บางคนเขาบอกว่า ฝรั่งมาชี้หน้าแล้วบอกว่า บางกอกนี่ก็จะอยู่ใต้ทะเล ภายในไม่กี่ปีน้ำก็จะท่วม ความจริงเราก็รู้อยู่แล้วว่า กรุงเทพฯ น้ำท่วม แต่เขาบอกว่า น้ำจะท่วมจากทะเล เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เป็นเหมือนตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้น มีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น เพราะสิ่งของที่ร้อนขึ้นย่อมมีการพองขึ้น ปริมาตรก็มากขึ้น เมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทำให้ที่ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม อันนี้ก็เป็นเรื่องเขาว่า ก็เลยสนใจว่าเรื่องเป็นอย่างไร จึงได้ข้อมูลมาว่า สิ่งที่ทำให้คาร์บอนในอากาศเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากการเผาเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไม้…”

     นั่นเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ ๒๗ ปีมาแล้ว ก่อนที่คนทั่วโลกจะหันมาสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง

 

            นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ในหลวงคือดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ 

                  ดุจดวงใจแดดิ้นแทบสิ้นชีพ               ดั่งประทีปดับหายไร้แสงสี

          ดวงนภามืดมิดปิดชีวี                                ผืนธานีวิปโยคโศกศัลย์พลัน

                   ๗๐ ปีแห่งการขึ้นครองราชย์              ยุคลบาทบากบั่นทั่วถิ่นฐาน

          บำบัดทุกข์ปวงราษฎร์ดั่งจำนรรจ์                  ดุจเสกสรรปั้นสุขทุกข์จากจร

                   ขอพระองค์เสด็จสู่สรวงสวรรค์           มุ่งมาดมั่นปณิธานตามคำสอน

          ทำความดีสามัคคีเอื้ออาทร                         จิตอาวรณ์ข้าพระบาททุกชาติไป

 

พรปวีณ์  ทองด้วง

นักประชาสัมพันธ์

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือและรูปภาพจากเว็บไซต์