มีมหาวิทยาลัยนเรศวรในวันนี้ด้วยพระบารมีแห่งองค์ภูมิพล
พระราชทานนามมหาวิทยาลัยนเรศวร
“…ตอนที่จะขอนามมหาวิทยาลัย มีการเสนอชื่อพระบรมไตรโลกนารถ และนเรศวรอีกนามหนึ่ง นามที่ ๓ คือ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ในที่สุดเบื้องบนก็เลือกนามนเรศวร จริง ๆ ถ้าจะให้เต็มยศต้องใช้ว่านเรศวรมหาราชด้วย…”
คำกล่าวของ รองศาสตราจารย์สมคิด ศรีสิงห์ อาจารย์ยุคบุกเบิก เริ่มสอนวิชาประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ในการเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า ๔๔ ปี : ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร” เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ด้วยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นลำดับที่ ๗ ในจำนวน ๑๐ มหาวิทยาลัย...ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มหาวิทยาลัยได้ขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณทุ่งหน้องอ้อปากคลอกจิกเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา จากนั้นเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๗ รัฐบาลมีมติรับหลักการที่จะยกฐานะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่นี้ว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๒ เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่แผ่นดินไทย อีกทั้งยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีประสูติกาลและจำเริญวัยที่เมืองพิษณุโลก โดยกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓ เป็นวันกำเนิดมหาวิทยาลัย เนื่องด้วยเป็นวาระสำคัญ ครบรอบ ๔๐๐ ปีแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จวบจนวันนี้เป็นเวลา ๒๗ ปีแล้วกับนามมหาวิทยาลัยอันแสนภาคภูมิใจแห่งนี้…มหาวิทยาลัยนเรศวร
พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง
พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระดำเนินปริญญาบัตรตั้งแต่ครั้งยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา ก่อนพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก และยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวรในภายหลัง ดังการบรรยายของรองศาสตราจารย์วนิดา บำรุงไทย ศิษย์เก่ารุ่นที่ ๒ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการเสวนาเหลียวหลัง แลหน้า ๔๔ ปี : ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร
“…แม้ว่าเราจะเป็นวศ.เล็ก ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระเจ้าลูกเธอเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร ตอนนั้นหอประชุมของเราเป็นแบบเปิดโล่ง อันที่จริงเป็นโรงอาหาร จะมีเฉพาะที่ประทับของพระองค์ท่านเท่านั้นจะได้รับความอนุเคราะห์จากห้างร้านนำแอร์มาตั้งให้ส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ได้สะดวกสบายอะไร ด้วยความเมตตาพสกนิกรยิ่งใหญ่มาก ท่านไม่ได้มาพระองค์เดียวหรือสองพระองค์ พระเจ้าลูกเธอถ้าว่างจะตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ตามมา เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยของเราได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่ตลอด เราจะต้องสำนึกรักในเกียรติอันยิ่งใหญ่ของเรา…”
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแทนพระองค์
นามมหาวิทยาลัยนเรศวร งามเลิศล้วนชวนรำลึกถึงความหลัง
จากวศ.มศว.สานพลัง เกียรติคุณยังล้ำเลิศบรรเจิดนาม
วันที่ ๙ ตุลา ปี ๓๒ วันพรักพ้องคล้องใจให้เกรงขาม
องค์ภูมิพลพระราชทานนาม แสนงดงามนามกษัตริย์ผู้เกรียงไกร
ประสูติกาลจำเริญวัย ณ เมืองนี้ สองแควที่พระราชวังจันทน์จดจำไว้
เป็นมหาอุปราชกอบกู้ไท คุณูปการยิ่งใหญ่ให้ธานี
๒๙ กรกฎา ปี ๓๓ กำเนิดนามก่อตั้งสถาบันนี้
วันครองราชย์ครบรอบ ๔๐๐ ปี เป็นศักดิ์ศรีเกริกก้องพสุธา
ลำดับเจ็ดมหาวิทยาลัยนเรศวร แสนชื่นชวนภูมิใจเป็นหนักหนา
รำลึกในพระมหากรุณา น้อมวิญญาเทิดไว้เหนือชีวี
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙
ความเห็นล่าสุด