พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
กับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
กำเนิดจากร้านจิตรลดา หนึ่งโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ จากพระราชดำริของในหลวง
พิพิธภัณฑ์ผ้า คือหนึ่งในเส้นทางการเรียนรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร ตามพันธกิจสำคัญด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาผ้าทอ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ที่ให้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลินและความจรรโลงใจ เกิดการซึมซับ ซาบซึ้ง นำไปสู่การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร กำเนิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากร้านจิตรลดา หนึ่งในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
แต่แท้จริงแล้วจะมีสักกี่คนที่ทราบว่าโครงการส่งเสริมศิลปาชีพหรือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพนี้กำเนิดขึ้นจากกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
“…..ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติ…ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเห็นเครื่องอุปโภคบริโภคแล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่พอเพียง ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่อยู่ดีกินดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติบ้านเมือง ทรงพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขา ทรงคิดว่านี่เป็นกำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ…..”
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒
รำลึกถึงองค์ภูมิพล ชมผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลือง
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีห้องจัดแสดงสำคัญคือ ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดอกไม้พระนามควีนสิริกิติ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย ผ้าไหม ของร้านจิตรลดาแล้ว ยังมีมุมจัดแสดงที่ได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมเยือนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลือง
ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ มีข้อความระบุถึงผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลืองไว้ในสูจิบัตรว่า
…สืบเนื่องมาจากปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือปีเถาะ ซึ่งตรงกับปีกระต่าย และสีประจำพระชนมวารวันที่พระองค์ท่านพระราชสมภพ คือ วันจันทร์ สีเหลือง พระชนมายุ ๖๐ พรรษา ทางจิตรลดาก็คิดพิมพ์ผ้าลายกระต่ายขึ้นมา…ปรากฏว่าคนนิยม พอมาถึงพระชนมายุ ๗๒ พรรษา เราก็ฟื้นฟูลายกระต่ายขึ้นมาใหม่ แต่ปีนี้อะไรก็กว้างขวางขึ้น มาคิดถึงสีประจำพระชนมวารวัน คือ สีเหลือง ร้านจิตรลดาก็โหมโฆษณาเรื่องสินค้าที่เป็นสีเหลือง สีประจำพระชนมวารวัน แล้วก็ผ้าลายกระต่าย โดยเฉพาะสินค้าสีเหลืองนั้น จะสังเกตว่าขายดีมาก แล้วก็เรื่อยมาจนกระทั่งทำเสื้อแจ็กเก็ตของผู้หญิงเป็นสีเหลืองทอง แล้วทางจิตรลดาก็ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตว่าจะประดิษฐ์กระเป๋าปักด้วยมือ ส่งไปปักที่เชียงใหม่ แต่เนื่องจากสุภาพบุรุษสีเหลืองนั้นจะใส่ไม่สะดวก ก็จะให้ทางจิตรลดาทำเป็นสีกรมท่า แค่ที่ขายดีก็คือสีเหลือง เสื้อที่ใช้มากที่สุด คือ เสื้อยืดคอกลมหรือเสื้อยือคอโปโลสีเหลือง เพื่อนำไปวิ่งและเดินการกุศล ส่วนโปโลจะเป็นการปักลายด้วยจักร เพราะเป็นผ้ายืดปักด้วยมือนั้นทำลำบาก และเสื้อคอกลมจะเป็นพิมพ์ ราคาก็จะลดหลั่นกันไป และคิดว่าคนปักก็อยากได้หลาย ๆ สี มาพูดถึงเรื่องเสื้อเบรเซอร์ เสื้อเชิ้ต พูดถึงตราสัญลักษณ์เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วเขาประกวดกันมา ส่วนของร้านจิตรลดาพยายามคิดที่จะใช้ตราสัญลักษณ์ทำเป็นอะไรได้บ้าง ทุกอย่างนั้นได้ขอผ่านทางท่านราชเลขาธิการแล้วว่า ทางจิตรลดาขอทำสินค้าออก เช่น เสื้อยืด ซองแว่นตา หมวก เนคไท ส่วนใหญ่ก็จะพิมพ์บ้าง ปักบ้าง แล้วแต่ความสามารถที่จะทำ ทำปกสมุดฉีก ปกอัลบั้ม คนก็นิยมใช้กันมาก นอกจากดังกล่าวแล้ว ก็มาคิดสัญลักษณ์ปีกระต่ายเพิ่มเติมจากปีพระราชสมภพ ทางร้านจิตรลดาก็มาคิดว่า เราพิมพ์ลายกระต่ายแล้ว เราก็ทำตุ๊กตายัดนุ่น ตุ๊กตามีหน้า หรือที่เราเรียกกันว่า ตุ๊กตาหน้าขนที่เราช่วยกันคิดขึ้นมา ซึ่งเด็กชอบมาก ทั้งนี้ต้องใช้ผ้าของร้านจิตรลดา เช่น เสื้อผ้าก็ใช้ผ้าฝ้ายของจิตรลดา ซึ่งค่าแรงงานจะมีราคาสูงกว่าผ้าฝ้ายทั่วไป คนมักจะติว่าสินค้าของร้านจิตรลดานั้นมีราคาสูงเกินไป แต่ก็ไม่สามารถจะกดราคาให้ต่ำลงมาได้ ก็เลยเกิดเป็นสินค้าที่เป็นกระต่ายขึ้นมา กระต่ายก็เป็นสัตว์ที่น่ารัก นอกจากนั้นจะมาพิมพ์บนร่ม ซึ่งร่มปกติทั่วไปมี ๘ เสี้ยว เสี้ยวหนึ่งจะเป็นลายเดียวกันหมด และจะต้องบรรจุกระต่ายให้ได้ ๙ ตัว เสี้ยวหนึ่งจะมีรูปซึ่งก็จะครบ ๙ ตัว แต่ ๙ เสี้ยวจะไม่เหมือนกัน คนละลาย กระต่ายคนละอิริยาบถ ราคาก็จะสูงกว่าที่อื่น…
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลืองเหล่านี้ไม่มีจำหน่ายแล้ว แต่ทุกท่านสามารถมาชื่นชมได้ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันและเวลาราชการ
ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลืองจะเป็นเพียงมุมเล็ก ๆ ในห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา แต่เชื่อว่ามีความยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของคนไทยทุกคน
พิพิธภัณฑ์ผ้าเส้นทางการเรียนรู้ ศูนย์กลางสู่ภูมิปัญญาผ้าทอนี้
มหาวิทยาลัยนเรศวรจำจงดี ด้วยบารมีแห่งองค์ภูมิพล
กำเนิดโดยร้านจิตรลดาเมื่อแรกเริ่ม ช่วยส่งเสริมศิลปาชีพทุกแห่งหน
ด้วยดำริในหลวงห่วงปวงชน ช่วยคนจนยากไร้ให้มีกิน
ราชินีทรงหาอาชีพเสริม ช่วยเพิ่มเติมชาวบ้านสานงานศิลป์
มูลนิธิศิลปาชีพของแผ่นดิน ได้ยลยินความงามตามแบบไทย
ณ พิพิธภัณฑ์ผ้ามีหนึ่งมุมสินค้า พระชนมายุ ๖๐ ร่วมเทิดไท้
อีก ๑ รอบ ๗๒ พรรษาใน ภูมิพลไซร้จึงได้คิดผลิตภัณฑ์
สีเหลืองคือวันพระราชสมภพ ปีบรรจบปีเถาะเหมาะสร้างสรรค์
ลายกระต่ายสีเหลืองเรืองจำนรรจ์ ทั่วเขตขัณฑ์ชื่นชมสมฤทัย
ตุ๊กตาผ้าพิมพ์เสื้อกระเป๋า มีหนักเบาซองแว่นตาหมวกเนคไท
ปกสมุดปกอัลบั้มเฉิดไฉไล ทั้งร่มลายกระต่าย ๙ กิริยา
ขอเชิญชมหลากหลายผลิตภัณฑ์นี้ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ผ้า
มหาวิทยาลัยนเรศวรงดงามตา ร่วมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ความเห็นล่าสุด