ย้อนรำลึก…ความภาคภูมิใจ มหาวิทยาลัยนเรศวรทูลเกล้าฯ

ย้อนรำลึก…ความภาคภูมิใจ มหาวิทยาลัยนเรศวรทูลเกล้าฯ
ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 1    

       “…ด้วยพระราชกรณียกิจมากล้นสุดคณานับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเพื่อทรงทะนุบำรุงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จนบังเกิดเป็นผลดีต่อประเทศชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของปวงราษฎรเป็นอเนกอนันต์ สภามหาวิทยาลัยนเรศวรจึงเล็งเห็นควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงความสำนึกซาบซึ้งปิติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏในวงวิชาการ กับทั้งเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยนเรศวรสืบไป…”

      ความตอนหนึ่งของคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยนเรศวร ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒

ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ทรงพระเยาว์

     “…จำได้ว่าเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ทำให้เสียหาย ดินหมดจากภูเขา เพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้เกิดน้ำท่วม นี่ล่ะ เรียนมาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ…”

     พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์สากล ภาค ๓๑๐ (ประเทศไทยและประเทศลาว) ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๒

     “…ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวย ๆ งาม ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ ในเรื่องรักษาทรัพยากร

2

ป่าไม้สาธิต…พระราชดำริเริ่มแรกส่วนพระองค์

     ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๐๔ ขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นยางขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่ายางนี้ไว้ให้เป็นส่วนสาธารณะ แต่ในระยะนั้นไม่อาจดำเนินการได้ เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าทดแทนในอัตราที่สูง เพราะมีราษฎรมาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นจำนวนมาก

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ จำนวน ๑,๒๕๐ ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้น เพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๘

การปลูกป่า “ควรปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน”

     ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ ๓ ชนิดที่แตกต่างกัน คือ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เพื่อจะทำให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐและวิถีประชาในชุมชน ประการสำคัญนั้นมีพระราชดำริที่ยึดเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้ โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนว่า

     “…เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…” พระราชดำริของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งนับเป็นทฤษฎีที่เป็นปรัชญาด้านการพัฒนาป่าไม้ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้

    ทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏธรรมชาติ, ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก, ปลูกป่าในที่สูง, การปลูกป่าทดแทน, การสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า,การจัดการให้คนอยู่ร่วมกับป่า, การอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลน…และอีกหลากหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ป่าไม้ยืนยงคงความอุดมสมบูรณ์

การจัดการทรัพยากรน้ำ: น้ำคือชีวิต

     “เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นเอง แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ ทั้งพืช ก็ต้องมีน้ำ ถ้าไม่มีน้ำก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสิ่งมีชีวิต…ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะได้ให้ทราบถึงว่าทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือ ทำโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อม ทำให้น้ำดี สองอย่างนี้ อื่น ๆ ก็จะเป็นไปได้…”

     พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๒

     ทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสีย เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๒

     “…แต่ ๓,๐๐๐ ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน้นต้องสูบไปไม่ไหว แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้สำหรับเวลาหน้ามีน้ำเก็บเอาไว้ หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมาสำหรับล้างกรุงเทพ ได้เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่าง ๆ…”

     นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับน้ำอีกมากมาย เช่น การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา, การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชกับระบบเติมอากาศ, การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด, กังหันน้ำชัยพัฒนา, การกำจัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ, การสร้างฝายอนุรักษ์ต้นน้ำ, โครงการแก้มลิง ฯลฯ

     “…จำได้เมื่ออายุ ๕ ขวบ มีลิง เอากล้วยไปให้มัน มันก็เคี้ยว เคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง โครงการแก้มลิง นี้มีที่เกิดเมื่อเราอายุ ๕ ขวบ เมื่ออายุ ๕ ขวบ ก็นี่เป็นเวลา ๖๓ ปีแล้ว…”

     พระราชดำรัสกล่าวถึงที่มาของโครงการแก้มลิง พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา

     กล่าวได้ว่าการจัดการทรัพยากรน้ำและงานพัฒนาแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ดังที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด เล่าให้ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๕-๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้

     “…งานของพระองค์ท่านมีตั้งแต่ถ้าน้ำขาดแคลนก็จัดหาน้ำ และเมื่อน้ำท่วม น้ำมากก็จัดการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อมีน้ำเน่าเสีย ก็ต้องมีการจัดการทำงานด้านน้ำทั้งหมด ท่านจะทรงทราบปัญหาอย่างละเอียด….”

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงหน้าแล้งปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ต้องลดปริมาณน้ำเพื่อการทำนาปรังลงกว่าร้อยละ ๕๐ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ๆ มีไม่เพียงพอ และได้มีการเรียกร้องให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครประหยัดการใช้น้ำประปา ทำให้ระลึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่ว่า

     “…เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำพอเพียงและเหมาะสม คำว่าพอเพียง ก็หมายความว่าให้มีพอในการบริโภคในการใช้ ทั้งในด้านการใช้ในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ต้องมีพอ ถ้าไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักไม่มีทางที่จะมีความเจริญถ้าไม่มีน้ำ…. แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ก็ถ้าดำเนินการไปเดี๋ยวนี้ อีก ๕-๖ ปี ข้างหน้า เราสบาย และถ้าไม่ทำ อีก ๕-๖ ปี ข้างหน้า ราคาก่อสร้างค่าดำเนินการก็จะขึ้นสูงไป ๒ เท่า ๓ เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปก็จะไม่ได้ทำ เราก็จะต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย…”

 การพัฒนาทรัพยากรดิน

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในการปรับปรุง ฟื้นฟู และทำนุบำรุงดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้น และรักษาอินทรีย์สารในดินไห้คงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป ทรงช่วยขจัดความทุกข์ยากของเกษตรกร แนวพระราชดำริที่พระราชทานเพื่อรักษาคุณภาพของดินมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การปลูกป่าทดแทนเพื่อฟื้นฟูหน้าดิน, โครงการแกล้งดิน โดนเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกหญ้าแฝก

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริถึงหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔ โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อป้องกันปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และเพื่อประโยชน์อื่น ๆ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีเป็นแห่งแรก

     “…และหญ้าที่มีคุณอย่างหญ้าแฝก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะมีรากที่หยั่งลึก แผ่กระจายลงไปตรง ๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง รักษาหน้าดินได้ดี…”

            พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์ เพ็ญศิริ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักนำแห่งการดำเนินชีวิต

4

          เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

     “…คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่ แต่เราอยู่อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ที่พอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้”

     พระราชกระแสรับสั่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๑๗

     เมื่อประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัส ในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนี้

     “การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”

     การประหยัดนับเป็นหนึ่งแนวทางของความพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องการประหยัดและใช้ข้าวของเครื่องใช้อย่างคุ้มค่า

     ฉลองพระบาทที่ทรงใช้เวลาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ พระองค์จะทรงฉลองพระบาทองค์เดิมเป็นเวลานานหลายสิบปี องค์หนึ่งเป็นฉลองพระบาทผ้าใบ และอีกองค์เป็นฉลองพระบาทหนังสีดำ ซึ่งฉลองพระบาทนั้นไม่ใช่ยี่ห้อยอดนิยมหรือมีราคาแพงเลย ฉลองพระบาทผ้าใบที่ทรงสวมเวลาเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรไม่เคยเปลี่ยนแบบเลยเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ราคาไม่กี่ร้อย คู่ไหนชำรุดก็ทรงส่งซ่อมร้านเล็ก ๆ ใกล้ ๆ วัง เพื่อทำการซ่อมแซม ทรงใช้คุ้มราคา คุ้มค่าที่สุด ส่วนนาฬิกาที่ทรงใช้นั้น แม้จะมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายนาฬิกายี่ห้อดัง ราคาแพง ก็ไม่ได้ทรงใช้ ทรงใช้นาฬิกาธรรมดาที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่ ทรงมีนาฬิกาเพื่อใช้บอกเวลา ไม่ได้ทรงใช้เพื่อการอื่น มักจะรับสั่งว่า “ฉันใส่นาฬิกายี่ห้อ ‘ใส่แล้วโก้’ ”

     มีเรื่องเล่าจากผู้บริหาร TA (บริษัท True ในปัจจุบัน) ว่าครั้งหนึ่งเคยนำ PCT ยี่ห้อ SANYO ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นหาคลื่นได้มาถวายแด่ในหลวง เพราะเห็นว่าในหลวงทรงใช้เครื่องเก่าซึ่งเป็น PCT ยี่ห้อ Sharp ที่บริษัท TA นำมาแจกฟรีรุ่นแรก ๆ ซึ่งเป็นแบบพับได้

            ทว่าในหลวงรับสั่งว่า

3

            หลอดยาสีพระทนต์เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่ชัดเจน เรียกได้ว่าเป็น ‘หลอดยาสีพระทนต์ประวัติศาสตร์’

     “…เมื่อไม่นานมานี้เองมหาดเล็กห้องสรงเห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้ว จึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืนและพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง ๕ วัน…”

      หลังจากนั้น ทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์นั้นเพื่อนำไปให้ศิษย์ได้เห็น และรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อ ๆ ไป หลอดยาสีพระทนต์ของพระองค์แบนราบเรียบโดยตลอดคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอธิบายว่า “หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบนเรียบนั้นเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเอง”

     นั่นแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงโดยแท้จริง

เกษตรทฤษฏีใหม่ เปลี่ยนชีวิต พลิกพื้นดิน ผืนน้ำ

      พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

       “…ทฤษฎีใหม่นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร ก็มาจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติของคนอื่นด้วยตั้งแต่ต้น ทฤษฎีใหม่นี้ ความจริงทางราชการได้ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ก่อนที่เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ตามที่เรียกว่าทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ คือ การพัฒนาทางการเกษตร โดยเพาะปลูกหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน อย่างเช่น เขาปลูกข้าว หลังจากฤดูกาลข้าว เขาก็ปลูกถั่ว อย่างนี้เป็นทฤษฎีใหม่แล้ว แต่ไม่มีใครบอกว่าเป็นทฤษฎี ก็เลยได้หน้าว่าใช้คำว่า ทฤษฎีใหม่ นี่เป็นความคิดขึ้นมา และยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี เมื่อยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี ก็ไปปฏิบัติต่อได้…

     …ที่เริ่มทำทฤษฎีใหม่นี้ ก่อนที่จะได้เรียกว่าเป็นทฤษฎีก็ทำที่สระบุรี ที่นั้นได้ไปหาซื้อที่ ๑๕ ไร่ ซึ่งคุณภาพไม่ดี เงินที่ซื้อ ๑๕ ไร่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว อันนี้ส่วนตัวแท้ ๆ ไม่ได้ไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดินหรือจากที่อื่น เป็นเงินส่วนตัวที่เก็บอยู่เป็นเงินสด จนมีคนล้อว่าเป็นเศรษฐีเงินสด ไม่ได้เป็นเศรษฐีที่ไปลงทุนกินดอกเบี้ย บางคนเขาตำหนิว่าทำไมเก็บเงินสด เก็บเงินสดไว้ในกระเป๋า เอาไว้ในห้องไม่ได้เอาไปไว้ที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ คนเขาก็บอกว่า การเก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ถูกหลักเศรษฐกิจ ก็เลยเอาเงินเช่นนั้นไปซื้อที่ดิน คนอื่นที่เห็นดีในการไปซื้อที่ดินเพื่อที่จะทดลองก็มาสมทบทุน เป็นเอกชน เป็นเพื่อนเป็นฝูงไปซื้อ ๑๕ ไร่ และคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งฝ่ายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ร่วมไปทำ ก็บอกว่าให้ไปขุดสระ เพราะที่นี่ยังไม่มีน้ำ..

     …คนที่ขายที่นั้นเขาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งเข้ามาแถวนี้จะมาขอซื้อ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าหาน้ำได้เขาจะซื้อ  ปรากฏว่าเขาขุด แล้วหาน้ำไม่ได้ อันนี้ก็แปลก เพราะว่าเมื่อซื้อที่ซึ่งห่างจากที่ที่บริษัทนั้นเคยจะมาซื้อเพียงประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เราไปขุดมีน้ำ เรียกว่าเราดวงดี ขุดมีน้ำได้ เมื่อมีน้ำแล้ว ก็สามารถที่จะนำน้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตลอดปี เลี้ยงปลาก็ได้ เลยใช้ที่ ๑๕ ไร่นี่มาปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ผล ปลูกสมุนไพรก็มี และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งหมดนี่ใน ๑๕ ไร่นี้ คนก็บอกว่า แหม! ทำไมในที่แคบอย่างนี้ ทำได้ทุกอย่าง เมื่อทำไปปีหนึ่งก็ได้ผล ผลผลิตนั้นได้ให้นักเรียนที่โรงเรียน วัด และที่เหลือก็ยังขายไป ได้กำไร ๒๐,๐๐๐ บาท…

     ..แต่ที่บอกว่าการทำนี่ไม่ได้ทำเองแท้ เพียงแต่พูดไปว่ามีทฤษฎีทำอย่างนั้น ๆ คนที่ทำก็คือข้าราชการ และคนอื่นเข้ามาช่วยทำ หมายความว่าต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ราชการ คนงานและนักวิชาการต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ค่อยคิดว่าจะทำในที่ ๑๕ ไร่ที่แห้งแล้งแบบนี้ได้ แต่ก็ทำได้ ผู้วางแผนเองก็ทึ่งตัวเอง นี่พูดเหมือนว่า จะอวดตัวว่าเก่ง แต่ตกใจตัวเองว่าที่พูดไปใช้งานได้ จึงมาสรุปเป็นทฤษฎีใหม่ เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่ก็ให้ไปที่มูลนิธิชัยพัฒนา แล้วเขียนข้างใต้ว่าเป็นทฤษฎีใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ต่อมาคนก็ได้เห็นว่าใช้ได้ และไปปฏิบัติได้ในที่ที่แห้งแล้ง เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าที่ทำที่อำเภอเขาวง กาฬสินธุ์ ที่ได้ผลดี ที่ตรงนั้นทำ ๑๒ ไร่ ภายในปีหนึ่งเขาก็มีข้าวกิน ครั้งแรกที่ไปเยี่ยมเขาไม่มีข้าวกิน มีเพียงไม่กี่เม็ดต่อรวง  เมื่อชาวบ้านแถวนั้นเห็นว่าดี ก็ขอให้ช่วย ปีต่อไปก็เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ รายปีต่อ ๆ ไปก็เป็น ๑๐๐ และขยายออกไปในภาคอื่นได้เป็นการปฏิบัติตามทฤษฎีและได้ผล…”

     ปัจจุบันมีเกษตรกร ตลอดจนข้าราชการ คนทำงานมากมายที่ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต หันมาทำเกษตรทฤษฏีใหม่ พลิกชีวิต ทั้งในด้านความเป็นอยู่ อาชีพ รายได้ และที่สำคัญคือ ความสงบสุขของชีวิต

ทั่วโลกล้วนแซ่ซ้องสดุดี

5

     พระเกียรติคุณในด้านการทำนุบำรุงและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น มิได้เป็นที่ประจักษ์ซาบซึ้งแก่ปวงชนชาวไทยเท่านั้น ยังปรากฏแซ่ซ้องสดุดีจากนานาประเทศ เช่น

     รางวัลแมกไซไซ ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มูลนิธิรามอนแมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์ ได้พิจารณามอบรางวัลแมกไซไซ สาขา International Understanding โครงการหลวงซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ

     เหรียญทองประกาศพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ องค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองประกาศพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม (UNEP Gold Medal of Distinction) เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เฉลิมพระเกียรติที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

     รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด สมาคมควบคุมการสึกกร่อนระหว่างประเทศ (IECA) แห่งออสเตรเลียได้ถวายรางวัลที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖

     จากนั้นวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์น้ำและดินของธนาคารโลกทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณความสำเร็จด้านวิชาการและการพัฒนาในการส่งเสริมเทคโนโลยีหญ้าแฝกระหว่างประเทศ ซึ่งผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก

     รางวัลเหรียญอากริโคลา องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโรม อิตาลี มอบรางวัลเหรียญอากริโคลา (Agricola Medal) เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๘ เพื่อเชิดชูพระเกียรติกษัตริย์นักพัฒนา ที่ทรงใส่ใจส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก

     รางวัลกังหันชัยพัฒนา สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ได้ถวายรางวัลบรัสเซลส์ ยูเรก้า ในปี ๒๕๔๓ หลังจากสภาวิจัยแห่งชาติได้นำผลงาน “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ในพระองค์เข้าประกวดในสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ ๑ เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฏว่า ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการจัดงานว่า เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำบัดน้ำเสีย

     ในงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า เมื่อปี ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง ๕ รางวัล อย่างไรก็ดี พระองค์ได้พระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ราชอาณาจักรเบลเยียม ตามคำขอของนายโยเซ ลอริโย ประธานองค์กรกรัสเซลส์ ยูเรก้า โดยตั้งอยู่ ณ สวนสาธารณะโวลูเว แซงต์-ปิแอร์ กลางกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวยุโรปได้ชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     รางวัลรวงข้าวทองคำ ถวายโดยสมาคมสินเชื่อเกษตรและชนบทภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (เอพีอาร์เอซีเอ) เฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการพัฒนาชนบท และการเกษตรด้วยหลักการอันเป็นการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ และพระบรมราโชบายให้ปลูกข้าว อันเป็นอาหารหลักของคนไทย ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘

     รางวัลความสำเร็จสูงสุดจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) รางวัลความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Award) เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ มอบให้แกผู้อุทิศแรงกายและแรงใจให้กับการทำความเข้าใจและการวางรากฐานกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก

     ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติและยูเอ็นดีพีได้ร่วมกันจัดตั้งรางวัลความสำเร็จสูงสุดในด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของความสำเร็จในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเวลานั้น ได้เดินทางมายังประเทศไทยด้วยตัวเอง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศอันทรงคุณค่าดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

   างวัลวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม ศาสตราจารย์สตีเฟน นิร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารองค์กรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล The Humanitarian Soil Scientist หรือ “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ เป็นพระองค์แรกของโลก และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”  เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ 

     สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น นับเป็นสิริมงคลและเกียรติคุณอย่างยิ่ง เมื่อได้มีโอกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๒ เพื่อสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน

สิบสี่สิงหาคมปีสี่สอง                              วันพรักพ้องหกรอบพระชันษา

ม.นเรศวรทูลเกล้าถวายปริญญา                            ด้วยมุทิตาทั้งจงรักและภักดี

                        เทิดพระเกียรติดุษฎีวิทยาศาสตร์               การจัดการทรัพยากรธรรมชาตินี้

สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่คู่ชีวี                                      ป่าไม้มีชุ่มชื่นและยืนยง

                        อีกน้ำท่วมน้ำแล้งทรงแก้ไข                       น้ำเสียให้บำบัดตามประสงค์

พัฒนาที่ดินให้คืนคง                                           จัดสรรลงชาวไทยได้ทำกิน

                        ความพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่                อันหลากหลายชีวภาพอุดมสิน

รู้จักสร้างรู้จักทำทรัพย์ในดิน                                 ใช้ชีวินเรียบง่ายรายได้มี

                        นเรศวรร่วมใจให้รำลึก                              ด้วยสำนึกผืนแผ่นดินสมบูรณ์นี้

พระมหากรุณาอันมากมี                                       น้อมชีวีจดจารในไทยนิรันดร์        

พรปวีณ์  ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๖ ธันวาคม ๒๕๕๙

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ

  • นิตยสารกุลสตรี ๘๐ พรรษามหาราชา ปีที่ ๖ ปักษ์แรก ธันวาคม ๒๕๕๐
  • หนังสือ ๑๐๐ เรื่องในหลวงของฉัน โดย วิทย์ บัณฑิตกุล
  • หนังสือ ธ สถิตเหนือเกล้าชาวนเรศวร
  • หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับพิเศษ
  • http://oknation.nationtv.tv/blog
  • http://www.rdpb.go.th
  • nso.go.th
  • https://web.ku.ac.th
  • Semsikkha.org