บันทึกประวัติศาสตร์ รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์องค์ภูมิพล
เป็นที่ซาบซึ้งกันดีว่า พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นยิ่งใหญ่และรอบด้าน ทุกสาขาวิชาอาชีพล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณกันโดยถ้วนหน้า รวมถึงพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ
ด้วยเหตุที่การเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเป็นภารกิจอันหนักหน่วง จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอพระรานทานให้ทรงลดการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรลงบ้าง โดยอาจงดเว้นการพระราชทานปริญญาบัตรในระดับปริญญาตรี คงไว้แต่เพียงระดับปริญญาโทขึ้นไป
พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกลับมีพระราชกระแสรับสั่งตอบว่า
“เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ ๖ – ๗ วินาที แต่ผู้ได้รับนั้นมีความสุขเป็นปี ๆ เปรียบกันไม่ได้เลย”
นอกจากนี้พระองค์ทรงเห็นว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นสำคัญ เพราะบางคนไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จึงตรัสว่า
“จะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีไปจนกว่าจะไม่มีแรง”
(ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๐ เรื่องในหลวงของฉัน โดย วิทย์ บัณฑิตกุล รวบรวม)
สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระดำเนินปริญญาบัตรตั้งแต่ครั้งยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา ก่อนพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวรในภายหลัง ดังการบรรยายของรองศาสตราจารย์วนิดา บำรุงไทย ศิษย์เก่ารุ่นที่ ๒ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการเสวนาเหลียวหลัง แลหน้า ๔๔ ปี : ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
“…แม้ว่าเราจะเป็นวศ.เล็ก ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระเจ้าลูกเธอเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร ตอนนั้นหอประชุมของเราเป็นแบบเปิดโล่ง อันที่จริงเป็นโรงอาหาร จะมีเฉพาะที่ประทับของพระองค์ท่านเท่านั้นจะได้รับความอนุเคราะห์จากห้างร้านนำแอร์มาตั้งให้ส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ได้สะดวกสบายอะไร ด้วยความเมตตาพสกนิกรยิ่งใหญ่มาก ท่านไม่ได้มาพระองค์เดียวหรือสองพระองค์ พระเจ้าลูกเธอถ้าว่างจะตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ตามมา เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยของเราได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่ตลอด เราจะต้องสำนึกรักในเกียรติอันยิ่งใหญ่ของเรา…”
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จ ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕
“…นับว่าวาระนี้ไป ท่านทั้งหลายจะได้มีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษาของชาติในฐานะหน้าที่ต่าง ๆ กันตามที่ได้ฝึกฝนมา ควรจะได้พยายามร่วมมือกันทุกฝ่ายทุกระดับในอันที่จะส่งเสริมให้การศึกษาที่ดีที่เป็นประโยชน์แท้จริง ได้ขยายออกไปถึงประชาชนแพร่หลายทั่งถึงยิ่งขึ้น การศึกษาที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการครองชีวิต ช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมั่นคง…”
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จ ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก เมื่อวันพุธที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๖
“…การปฏิบัติงานต่าง ๆ นั้น เท่าที่สังเกตเห็นมามีอยู่สองลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือ ทำโดยมิได้เข้าถึงจุดประสงค์ เช่น มุ่งแต่จะสอนนักเรียนเพียงให้สอบไล่ได้ แต่มิได้เน้นว่า นักเรียนจะนำวิธีการไปใช้อย่างไร หรือทำงานให้เสร็จไปตามเรื่อง โดยไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่อประโยชน์อะไร อีกลักษณะหนึ่งนั้นตรงกันข้าม ไม่ว่าจะสั่งสอนหรือทำสิ่งใด ก็ทราบถึงความมุ่งหมายอย่างแจ้งชัด เมื่อรับภาระสิ่งใดมากระทำแล้ว ก็นำมาพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ไม่ตื่นตระหนกหรือวู่วาม แล้วพยายามปฏิบัติโดยเต็มความสามารถให้สมเหตุสมผล คำนึงถึงวัตถุประสงค์ ตลอดจนผลดีหรือผลร้ายที่จะเกิดตามมาภายหลังเป็นสำคัญ ลักษณะการทำงานทั้งสองประการนี้พิจารณาดูแล้ว ทุกคนย่อมทราบได้ว่า ควรเลือกเอาลักษณะใด…”
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก เมื่อวันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗
“…ในการดำเนินงานด้านการศึกษานั้น ปัจจุบันมีความคิดทฤษฎีอยู่มาก ทั้งเก่าและใหม่สำหรับให้ปฏิบัติ ผู้สำเร็จการศึกษาซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นผู้รู้ ควรจะมีหลักในการเลือก การประสมและการปฏิบัติทฤษฎีนั้น ๆ อย่างมีเหตุผล เช่น ไม่นำทฤษฎีมาใช้เพื่อทฤษฎี โดยมุ่งจะให้สำเร็จผลแห่งทฤษฎีนั้นเป็นที่ตั้งเพียงประการเดียว เพราะผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์ก็ได้ ทางที่ถูกจะต้องใช้ความเป็นบัณฑิตผู้รู้ดีรู้ชั่ว และความรู้จักศึกษาพิจารณาเลือกเฟ้นทฤษฎีเหล่านั้นก่อน แล้วนำเอาแต่ส่วนที่เชื่อได้แน่ว่าดีว่าถูกต้องมาใช้ การให้ได้ผลที่พึงประสงค์จึงจะเกิดเป็นผลดีแก่การศึกษาของชาติ ทำให้การศึกษาเจริญงอกงามและมั่นคง ทั้งเหมาะและสอดคล้องแก่สภาพการณ์ทุกอย่างของประเทศ ของโลกอย่างสมบูรณ์…”
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๙
“…นักการศึกษาเคยคิดกันว่า การให้ครูเป็นผู้สั่งสอนและแนะนำให้ศิษย์ทำตามนั้น อาจทำลายความคิดริเริ่ม ทำลายอิสรภาพของเด็ก และทำให้เด็กเป็นตัวเองน้อยลง เห็นกันว่าควรจะให้เด็กได้มีอิสรภาพในการคิด การทำและเรียนรู้ด้วยตนเองมาก ๆ ข้อนี้ทำให้ผู้ที่เป็นครูจำนวนไม่น้อยอึดอัดใจเพราะขัดกับใจจริงของตัวเองที่รู้สึกอยู่ว่า เป็นครูแล้วต้องสอน บางคนก็เกิดความลังเลใจไม่ทราบว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรถูก ที่จริงคำว่าครูกับศิษย์นี้ก็มีความหมายตายตัวอยู่แล้ว คือ ครูเป็นผู้สอน เป็นผู้แนะนำศิษย์ไปสู่ความรู้ ความดี ความฉลาดทั้งปวง ศิษย์ก็เป็นผู้เรียนรู้จากครู มีหน้าที่ที่จะต้องเรียนและเคารพเชื่อฟังครู ซึ่งเป็นผู้ให้วิชาความรู้แก่ตัว จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้…”
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของชาววิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กระทั่งพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแทนพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง
วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
การน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตนับเป็นประโยชน์ยิ่งนัก ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งรูปแบบการทำความดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๘ ธันวาคม ๒๕๕๙
ความเห็นล่าสุด