ปีบ ต้นไม้ของพ่อ จากมือของแม่

ปีบ ต้นไม้ของพ่อ จากมือของแม่

14125925

141259

      ช่วงสาย ๆ วันเสาร์ ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๙

      “มันสวยนะพี่” เสียงตะโกนของเพื่อนร่วมงานขณะก้ม ๆ เงย ๆ อยู่ท่ามกลางหมู่มวลดอกไม้สีขาวที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น ทำให้ฉันอดใจไม่ไหวเดินเข้าไปอาสาเป็นช่างภาพสมัครเล่นอีกคน โทรศัพท์มือถือคืออาวุธสำคัญในการทำหน้าที่เฟ้นหามุมมองอย่างละเลียด ละเมียดละไม ด้วยหลากหลายท่วงท่า เรียกว่าแทบจะลงไปนอนคลุกบนพื้นเพื่อให้ได้แสง เงา เคล้าความงามตามธรรมชาติโดยไม่ต้องแต่งเติม

      “หนูจะพิมพ์แคปชั่นว่าอะไรดีพี่” ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ ความคิดคงพรั่งพรู แต่ ณ ช่วงเวลานี้ ไม่ต้องพูดถึงความเหมาะสม แค่สมองยังไม่ยอมทำงานแล้ว

       ในที่สุดน้องก็โพสต์รูปและพิมพ์ข้อความ “ต้นไม้ของพ่อ” ฉันชื่นชมในความคิดของน้อง สำหรับฉันผ่านไปหลายวันจึงได้กลั่นกรองข้อความประกอบภาพนี้ ต่อมานึกขึ้นมาได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกเรียงรายอยู่ด้านข้างอาคารวิสุทธิกษัตริย์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร และพบเห็นได้ทั่วเมืองสองแควนี้ คือต้นไม้ของพ่อจริง ๆและนี่เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ฉันเขียนถึงต้นไม้ชนิดนี้

ปีบ ไม้มงคลพระราชทาน

       ชาวพิษณุโลกส่วนใหญ่เข้าใจว่า ดอกไม้ประจำจังหวัดคือ ดอกปีบ ทั้งที่ความจริงแล้วคือ ดอกนนทรี ส่วนปีบนั้นเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด

      ย้อนวัน เวลาไปในวันรณรงค์ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานกล้าไม้ชนิดต่าง ๆ ให้แก่ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด สำหรับจังหวัดพิษณุโลกได้รับพระราชทานกล้าไม้ปีบ นับจากวันนั้น ปีบจึงถือเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิษณุโลก มีการส่งเสริมให้ปลูกกันโดยทั่วไป เพื่อความเป็นสิริมงคล ได้ยลความงดงาม กลิ่นหอมอ่อน ๆ ชวนชื่นใจ

รู้จักปีบ

     ชื่อสามัญ Cork tree, Indian cork

     ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis L.f. จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)

     ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กาซะลอง กาสะลอง กาดสะลอง กาสะลองคำ (ภาคเหนือ), ปีบ ก้องกลางดง (ภาคกลาง) กางของ (ภาคอีสาน) เป็นต้น

     ปีบเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ ๑๐ – ๒๐ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกระบอก กิ่งก้านมักจะย้อยลง เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้นอย่างไม่เป็นระเบียบ ใบประกอบแบบขนนก ๒ -๓ ชั้น เรียงเวียน ช่อแขนงด้านข้างมี ๓ – ๕ คู่ ปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยแขนงละ ๒ -๔ คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก กว้าง ๒ – ๓ ซม. ยาว ๔ – ๘  ซม. ปลายแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมนหรือเว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย

     ดอกปีบ มีสีขาวหรือชมพู มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกซ้อนตามปลายกิ่ง ช่อดอกขนาดใหญ่ ยาว ๑๐ -๓๕ ซม. มีขน กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก ๕ แฉก ปลายมนกว้างม้วนลง เป็นหลอดยาวปลาย % แฉก มี ๑ กลีบที่ปลายเป็น ๒ แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง ๓.๕ – ๔  ซม. ผลแห้งแตก เป็นฝักแบนและตรง สีน้ำตาล หัวท้ายแหลม กว้าง ๑.๕ – ๒.๓ ซม. ยาว ๒๕ – ๓๐ ซม. เมล็ดแบนมีปีกบาง

คุณประโยชน์ของปีบ

  • ดอกปีบนำมาตากแห้งแล้วผสมกับยาสูบมวนบุหรี่ ใช้สูบแก้ลม บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต รักษาอาการภูมิแพ้ ไซนัส ริดสีดวงจมูก หอบหืด นอกจากนี้ยังทำให้ชุ่มคอ ปากหอม และยังมีกลิ่นควันบุหรี่ที่หอมดีอีกด้วย
  • ดอกปีบตากแห้ง นำมาชงใส่น้ำร้อนดื่มเป็นชาก็ได้ โดยดอกปีบชงนี้จะมีกลิ่นหอมละมุนอ่อน ๆ มีรสชาติหวานแบบนุ่มนวล ไม่ขม แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
  • รากของปีบนำมาตากแห้ง ต้มน้ำดื่ม ช่วยรักษาวัณโรค บำรุงปอด แก้ปอดพิการ แก้ไอ หอบหืด
  • สารสกัดจากใบที่สกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า (ใบ)
  • เนื้อไม้ของต้นปีบมีสีขาวอ่อน สามารถเลื่อยหรือไสกบเพื่อตกแต่งให้ขึ้นเงาได้ง่าย จึงเหมาะแก่การนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งภายในบ้านได้
  • เปลือกของต้นปีบ เมื่อก่อนสามารถนำมาใช้แทนไม้ก๊อกสำหรับทุกจุกขวดได้
  • ปีบเป็นไม้พุ่มมีใบและดอกสวย แถมยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย จึงสามารถปลูกไว้ประดับสวน ปลูกเพื่อให้ร่มเงาในลานจอดรถหรือริมถนนข้างทาง และที่สำคัญต้นไม้ชนิดนี้ยังทนน้ำท่วมขังได้ดีอีกด้วย
  • ดอกปีบเป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย โดยความหมายของต้นไม้ชนิดนี้ คือ เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นแก่ชีวิต ซึ่งหมายถึง “พยาบาล” และดอกปีบยังหมายถึงยาอายุวัฒนะ ซึ่งเปรียบเสมือนพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพแก่คนทั่วไป ต้นปีบเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว เกิดขึ้นได้ในป่าทุกชนิด สามารถช่วยสร้างเสริมธรรมชาติที่ชุบและดำรงชีวิตให้แก่มวลมนุษย์ตลอดกาล เช่นเดียวกับพยาบาล ที่จะเป็นการบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นต่อสังคมตลอดไป (ดอกปีบยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปราจีนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาอีกด้วย)
  • การปลูกต้นปีบเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน เชื่อว่าการปลูกไว้ประจำบ้านจะทำให้เก็บเงินเก็บทองได้มากขึ้น และยังทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย โดยควรปลูกต้นปีบไว้ในทางทิศตะวันตกและผู้ปลูกควรปลูกในเสาร์เพื่อเอาเคล็ด แต่ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ที่เกิดในวันจันทร์ (ส่วนผู้อยู่อาศัยหากเกิดวันจันทร์ด้วยแล้วจะยิ่งเป็นสิริมงคลยิ่งนัก) เพราะปีบเป็นดอกไม้ประจำของนางโคราคะเทวี ซึ่งเป็นนางประจำวันจันทร์ในธิดาของพระอินทร์นั่นเอง

 

อันดอกปีบขาวนวลชวนระรื่น                                หอมสดชื่นผ่อนคลายให้คุณค่า

            นับตั้งแต่วันที่เจ็ดพฤษภา                                                 ปีสองห้าสามเจ็ดวันมงคล

                        พระนางเจ้าสิริกิติ์มอบพันธุ์ไม้                               วาระในวันปลูกป่าคราเริ่มต้น

            เฉลิมพระเกียรติแห่งองค์ภูมิพล                                        ไทยยินยลทรงครองราชย์ ๕๐ ปี

                        กล้าไม้ปีบพระราชทานประจำจังหวัด                     สองแควจัดปลูกประดับเสริมราศี

            ให้แสงเงาร่มรื่นชื่นชีวี                                                      สิริมงคลมีชื่อเสียงทั้งเงินทอง

                        เป็นเครื่องเรือนตกแต่งภายในบ้าน             สัญลักษณ์พยาบาลไทยทั่วทั้งผอง

            ผู้รักษาให้ชีวิตจิตประคอง                                    สุขภาพของผู้คนทั่วธานี

                        ดอกไม้ประจำธิดาพระอินทร์นั้น                            แห่งวันจันทร์โคราคะเทวีศรี

            ดอกตากแห้งชงชาร้อนหอมนวลดี                                      มวนบุหรี่ชุ่มคอชวนชื่นใจ

                        บำรุงเลือดแก้ลมอีกไซนัส                                     หอบหืดจัดชงัดบรรเทาหาย

            รากรักษาวัณโรคอีกแก้ไอ                                                  บำรุงปอดคลี่คลายไม่ประวิง

                        คือต้นไม้ของพ่อจากมือแม่                                   ชาวสองแควปลื้มปริ่มอิ่มเอิบยิ่ง

            พระมหากรุณาประจักษ์จริง                                              คือขวัญมิ่งประทับในใจนิรันดร์

            พรปวีณ์  ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๖ ธันวาคม ๒๕๕๙

ขอบคุณข้อมูล

  • หนังสือต้นไม้และดอกไม้มงคล กลุ่มส่งเสริมการศาสนาและวัฒนธรรม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก
  • https://medthai.com
  • https://th.wikipedia.org