ภาพวาดฝีพระหัตถ์ หนึ่งผลงานศิลปะของในหลวง รัชกาลที่ ๙
หนึ่งพระอัจฉริยภาพแห่งอัจฉริยบุคคล
“อัครศิลปิน” คือพระราชสมัญญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพอันล้ำเลิศในงานศิลปะทุกด้าน รวมถึงด้านจิตรกรรมหรือภาพวาด ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับพระราชทานสำเนาผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านมาเก็บสะสมและนำจัดแสดงในโอกาสต่าง ๆ ณ หอศิลป์ฯ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในงานศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าพระราชทานไว้ในหนังสือในหลวงกับงานช่างว่า
“…สมัยที่ท่านอยู่ประถมต้นที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น เขามีวิธีการสอนเด็ก ยกตัวอย่างเช่น การวาดรูปภาพเพื่อให้เข้าใจเรื่องเส้น เรื่องฟอร์มของรูปนั้นมีแบบฝึกหัดอยู่อันหนึ่ง ครูจะวาดรูปทรงกลม ทรงรี หรือรูปต่าง ๆ บนกระดาษแล้วลบทิ้ง แล้วให้เด็กจำแล้ววาดตาม เริ่มจากง่ายแล้วยากขึ้น ๆ ทุกที เวลายาก ๆ ท่านบอกว่าเพื่อนทั้งชั้นทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เพราะมีนิสัยด้านนี้…”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มต้นวาดภาพตั้งแต่พระชนมายุประมาณ ๑๘ พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงใช้อุปกรณ์การวาดภาพที่มีผู้นำมาถวายสมเด็จพระราชชนนี ดังที่พระองค์ทรงเล่าให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฟัง และสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ ได้ทรงบันทึกไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์ ว่า
“ท่านชิ้น (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) นำเครื่องเขียนครบชุด มีแปรง สี ผ้าใบ ฯลฯ มา จะให้แม่เขียนให้ได้ รู้สึกรำคาญเลยเอามาเขียนเสียเอง”
ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๘ ขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการวาดภาพอย่างจริงจัง โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนเอง และทรงศึกษาจากตำราต่าง ๆ มีบัตรเชิญที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง เป็นภาพของต้นสนที่ยอดเอียงไปทางซ้ายและขวา องค์ประกอบลงตัวพอดี โดยมีลำต้นของต้นสนที่ยอดเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อยเป็นแกนกลางของภาพ มวลของต้นไม้สีเข้มตัดกับฉากหลังสีขาว แสดงความเชื่อมั่นในการวางองค์ประกอบที่ชัดเจนของผู้ออกแบบ เป็นตัวอย่างผลงานที่ฉายแววพระอัจฉริยภาพตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์
ในการศึกษาเรื่องการวาดภาพนั้น หากพระองค์สนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินคนใด พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมศิลปินผู้นั้นบ่อย ๆ เพื่อมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการต่าง ๆ เมื่อเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้แล้ว ก็ทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนเกิดความชำนาญ
หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ศิลปินสมัครเล่นผู้นิยมวาดภาพสีน้ำ ที่ทรงใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวาดภาพและภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ไว้ดังนี้
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือน ซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่ และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานของศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะทรงค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่นภาพที่พระราชทานชื่อว่า “วัฏฏะ” “โลภะ” “โทสะ” “ยุแหย่” “อ่อนโยน” “บุคลิกซ้อน” ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ไม่สู้ตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงาน ทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย”
อาจารย์ทวี นันทขว้าง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงภาพเขียนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า
“ในความรู้สึกของผู้เขียน ศิลปิน ต่างก็ประหลาดใจในพระปรีชาสามารถของพระองค์ในศิลปะแขนงนี้ การที่พระองค์ทรงใช้ทฤษฎีทรงจัดช่องไฟสัดส่วนของรูปถูกต้องตามหลักขององค์ประกอบ ทรงคิดเนื้อเรื่องที่มีรสนิยมที่ทุกคนจะเทิดทูนพระองค์ว่าทรงเป็นอัจฉริยบุคคล”
ในช่วงพ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระองค์ทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไว้ถึง ๑๖๗ ภาพ ทรงนิยมใช้สีน้ำมัน สีชอล์ก และสีน้ำ บนผืนผ้าใบ แผ่นไม้อัด หรือกระดาษ นอกจากนี้ยังทรงโปรดการเข้ากรอบด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทรงใช้ผ้าใบทาบหุ้มแผ่นไม้อัดแทนกรอบไม้ โดยทรงนำวัสดุที่เหลือใช้หรือใช้แล้วมาดัดแปลงใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนความ “ช่างคิดช่างทำ” แล้ว ยังแสดงพระราชอัธยาศัยที่ทรงมัธยัสถ์ ทรงเห็นคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งเล็กสิ่งน้อยอีกด้วย ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มีหลายชนิด ทั้งภาพเหมือน (Portrait) ภาพแบบเอ็กซ์เพรสชันนิซึม (Expressionism) ภาพแบบคิวบิซึม (Cubism) ภาพแบบนามธรรม (Abstract) และภาพแบบกึ่งนามธรรม (Semi-abstract)
ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในระยะแรก ๆ ไม่เป็นที่ทราบกันโดยแพร่หลาย จะมีโอกาสได้ชมก็แต่ในวงแคบ ๆ กระทั่งเริ่มเผยแพร่มากขึ้นในคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพเข้าร่วมแสดงในการแสดงศิลปกรรม ครั้งที่ ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงสร้างงานจิตรกรรมอย่างต่อเนื่อง และพระราชทานผลงานเข้าร่วมแสดงในครั้งต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม
เมื่อครั้งในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป มีจำนวน ๔๗ ภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงผลงานศิลปะของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวให้ประชาชนไทยและชาวต่างประเทศได้ชมกันทั่วถึง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการจัดทำหอศิลปะเสมือนจริงขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “อัครศิลปิน” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลงานเผยแพร่ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ในสาขาต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผ่านเว็บไซต์ www.supermeartist.org และเมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ก็ทำให้เหล่าพสกนิกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ทำให้ได้ชื่นชมงานศิลปกรรมอันเป็นพระอัจฉริยะของพระองค์ท่านไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก
ไม่เพียงคนไทยเท่านั้นที่ชื่นชมภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้สนใจศิลปะชาวต่างประเทศก็เช่นกัน เช่น จอห์น ฮอสกิน (John Hoskin) เขียนบทความลงใน Sawasdee Magazine เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ วิจารณ์ภาพฝีพระหัตถ์บางภาพถึงการใช้สีอย่างกล้าหาญและมีพลัง เพื่อสำแดงพลังอารมณ์ของภาพอย่างรุนแรง จนอาจทำให้รู้สึกน่าสะพรึงกลัว ผู้วิจารณ์ยกย่องว่า พระองค์เป็นศิลปินสมัยใหม่ที่ทรงวาดรูปเพื่อสื่อความรู้สึกไม่ใช่สื่อภาพ ดังนี้
“His Majesty had become a very modern, near abstract painter who was painting not what he saw but what he felt. Some people might describe his work as awesome. Certain art lovers prefer the pretty, gentle of beautiful, but not Hid Majesty.”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นศิลปินที่มีพระอัจฉริยภาพสูงและทรงเข้าใจแก่นแท้ของการสร้างงานศิลปะ และทุกครั้งได้พระราชทานพระราชดำรัสอันแสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปะอย่างลึกซึ้ง และทรงเห็นว่า ศิลปะเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติและยกระดับจิตใจของประชาชน ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสพระราชทานในพิธีเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ว่า
“งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมอัจฉริยภาพของศิลปินแล้ว ยังสร้างเกียรติให้แก่ชาติ และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวมให้มีโอกาสใฝ่ใจในสิ่งที่สวยงาม เจริญตาและเจริญใจ เป็นผลให้เกิดนิสัยรักความประณีต วิจิตรบรรจง มีความรู้สึกละเอียดอ่อน เกิดความคิดในทางดีงาม เป็นการยกระดับทางจิตใจของประชาชนในชาติให้สูงขึ้น…”
งานศิลปะล้วนให้ความรื่นรมย์ เพลิดเพลิน จรรโลงใจ นอกเหนือจากนี้ การได้ชื่นชมภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือความซาบซึ้ง ปลื้มปิติ เป็นพระมหากรุณาธิคุณสุดหัวใจของคนไทยทุกคน
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๙
ข้อมูลจาก
- หนังสืออัครศิลปินแห่งแผ่นดินสยาม โดย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
- หนังสือ ๘๔ พรรษา ๘๔ พระบรมสาทิสลักษณ์ ถวายพระพร พ่อของแผ่นดิน โดยศิลปิน สุวิทย์ ใจป้อม
ความเห็นล่าสุด