พระมหากรุณาธิคุณดุจสายน้ำ หล่อเลี้ยงชีวีวิถีชาวสองแคว
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน หนึ่งในโครงการพระราชดำริ
วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ครอบครัวของฉันเลือกส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยการกินลมชมวิว ณ แหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้าน เพื่อความประหยัดและนัยแห่งความจงรักภักดี นั่นคือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ บ้านเขาหินลาด ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
ย้อนหลังไป ๓๐ กว่าปี พอมีข่าวว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง ท้องที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเมือง และอำเภอบางกระทุ่ม แก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั่วไปในฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนสำหรับการอุปโภค บริโภค ข่าวนี้สร้างความปิติยินดีให้กับชาวพิษณุโลกอย่างยิ่ง แม่ฉันบอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่พร้อมใจกันมอบที่ดินให้ โดยที่ทางการยังมิได้ร้องขอ
ช่วงสายของวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ พวกเราเดินทางด้วยรถยนต์ ๓ คัน ไปถึงเขื่อนแควน้อยฯ ได้ยินเสียงบรรยายเชิญชวนให้นั่งรถรางชมเขื่อนในราคาคนละ ๑๐ บาท (ลดจากราคาปกติ ๒๐ บาท) หรือใครจะเลือกปั่นจักรยานแบบเพลิน ๆ ก็มีจักรยานให้เช่า และสิ่งที่ทำให้พวกเราตื่นเต้นคือวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน น้องสาวหันมาบอกฉันว่า “น้ำตาไหลซะล่ะมั้ง”
ทริปของเราเริ่มด้วยการนั่งรถรางสูดอากาศบริสุทธิ์ ท่ามกลางสายลมพัดโชยให้ความสดชื่น มองเห็นท้องน้ำไกลสุดลูกหูลูกตา ชมความอลังการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำและตัวเขื่อน ซึ่งประกอบด้วย ๓ เขื่อนด้วยกัน นั่นคือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนสันตะเคียน และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ โอบล้อมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม นานาพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเหนือเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีการปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูต้นน้ำและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ตามแนวทางพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“…การปลูกป่า ๓ อย่าง แต่ให้ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้านและไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง ๔ อย่างคือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ ๔ ซึ่งเป็นข้อสำคัญคือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย…” พระราชดำรัสในพิธีเปิดการสัมมนาการเกษตรภาคเหนือ ณ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔
เมื่อลงจากรถราง พวกเรามุ่งตรงไปยังพิพิธภัณฑ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พบว่าไม่ใช่เพียงแค่เป็นวันแรกของการเปิดให้ชมเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ยังเปิดประตูให้เราเยี่ยมชมเป็นชุดแรกอีกด้วย ทำให้เราอดภูมิใจไม่ได้ แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีความสวยงาม อลังการ และคงคุณค่าอย่างยิ่ง
พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยห้องจัดแสดงจำนวน ๓ ห้อง ได้แก่ ใต้ร่มโพธิ์ทอง, เย็นชุ่มลุ่มน้ำแคว และเรื่องเล่าจากวันวาน ปิดท้ายด้วยห้องจัดแสดงการทำเกลือ ร้านกาแฟและของที่ระลึก ซึ่ง ๒ อย่างหลังยังไม่เปิดให้บริการ
เพียงก้าวเข้าไปห้องแรก ดุจต้องมนต์สะกดด้วยภาพโพธิ์ทองต้นใหญ่ดุจพระบารมีแห่งองค์ภูมิพล ทำให้เรากดชัตเตอร์กันไม่ยั้ง แถมลูกชายยังถ่ายวีดีโอทุกช็อต ภาพและข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบอกเล่าเรื่องราวน้ำพระราชหฤทัย ความห่วงใยในปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร โครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเริ่มก่อร่างขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนนเรศวร ณ บ้านหาดใหญ่ ตำบลพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนแควน้อยในเขตอำเภอวัดโบสถ์โดยเร่งด่วน
“…ส่วนที่พิษณุโลกก็มีน้ำไหลลงมาจากข้าง ๆ อีกสายหนึ่ง แควน้อยซึ่งจะต้องทำ…อันนี้ก็ยังไม่ได้ทำ เพื่อกักเก็บน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ อาจจะมีคนค้านว่าทำไมทำเขื่อนพวกนี้แล้วมีประโยชน์อะไร ก็เห็นแล้ว ประโยชน์ของเขื่อนใหญ่เขื่อนนี้ ถ้าไม่มี ๒ เขื่อนนี้ ที่นี่น้ำจะท่วมยิ่งกว่า จะไม่ท่วมเพียงแค่นี้ จะท่วมทั้งหมด…” พระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
แม้ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ณ พื้นที่ป่าเขาตลบ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ยังพระราชทานพระราชดำริให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงานสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อสนองพระราชดำริ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดำเนินงานโครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๕๕๔ นอกจากนี้ ยังได้สร้างเขื่อนทดน้ำพญาแมน เพื่อช่วยยกระดับน้ำเข้าคลองชลประทาน ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ๔ อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก คือ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอพรหมพิราม อำเภอวังทอง และอำเภอเมือง
จากพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ทำให้ฉันอดนึกถึงคำกล่าวที่ว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงรู้เห็นพื้นที่ในประเทศไทยทุกตารางเมตรหรือตารางเซนติเมตรเลยก็ว่าได้ นั่นเป็นเพราะพระองค์ทรงใส่พระราชหฤทัย ห่วงใยราษฎร ไม่ว่าจะเสด็จฯไปที่ไหนเราจะเห็นว่าในหลวงทรงสะพายกล้องและถือแผนที่ไว้เสมอ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงเรื่อง “แผนที่ของในหลวง” นี้ไว้ในรายการ “พูดจาภาษาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ไว้ว่า
“แผนที่แผ่นหนึ่งของท่านค่อนข้างจะกว้างกว่าแผนที่ที่ใคร ๆ เห็นกันทั่วไป เพราะท่านเอาหลาย ๆ ระวางมาแปะติดกัน การปะแผนที่เข้าด้วยกัน ท่านทำอย่างพิถีพิถัน แล้วถือว่าเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว…
ท่านได้ตัดหัวแผนที่นั้นออก แล้วส่วนที่ตัดออกนั้นทิ้งไม่ได้ ท่านจะค่อย ๆ เอากาวมาแปะติดกัน สำนักงานของท่านคือห้องกว้างไม่มีเก้าอี้ มีพื้น แล้วท่านก้มอยู่กับพื้น แล้วกาวติดกับแผนที่เข้าด้วยกัน…
แล้วเวลาเสด็จไป ก็ต้องไปถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลาย ๆ คน แล้วตรวจสอบไปมาว่าแผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน…”
เรื่องการถ่ายรูปของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น นภันต์ เสวิกุล ผู้บันทึกย่างพระบาทที่ยาตรา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“…ในฐานะช่างภาพ บางครั้งก็สงสัยว่าพระองค์ท่านทรงถ่ายอะไร บางทีแอบ แอบเลยล่ะ แอบไปยืนข้างหลังว่าพระองค์ทรงถ่ายอะไร คือพระองค์ท่านทรงยกกล้องมาแต่ละครั้งทรงถ่ายของไม่ดีทั้งนั้น ดินแดงแห้งผาก รากไม้ ต้นไม้ล้ม พระองค์ทรงถ่ายภาพเหล่านี้ แต่อีก ๕ ปี ๑๐ ปี กลับไปดูสิ ตรงนั้นจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ พระองค์ท่านทรงถ่ายไปต้องคิดไปด้วยแน่ๆ ว่าจะเอาไปทำอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้มาจากรูปของพระองค์ ก็คือชีวิต…”
เช่นเดียวกับพระราชดำริในการสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเกิดจากการถือแผนที่ สะพายกล้อง บากบั่น ลงพื้นที่ ศึกษา ค้นคว้าด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งหมายถึง “เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญขึ้นในเขตพื้นที่” สำหรับเขื่อนทดน้ำพญาแมน มีพระราชดำรัสเห็นควรให้ใช้ชื่อเดิม
ในพิพิธภัณฑ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนนี้มิได้มีเพียงภาพและข้อความให้ได้ชมได้อ่านเท่านั้น ยังมีเทคนิค ลูกเล่น เพิ่มความสนุกสนาน น่าสนใจ เช่น ห้องแสงเงาเล่าเรื่อง ฉายภาพเคลื่อนไหว และรายล้อมไปด้วยภาพศิลปะ หลากหลายพระอิริยาบถของในหลวง รัชกาลที่ ๙ อันแสนงดงาม สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกอย่างยิ่งยวด, การจำลองต้นไม้ชนิดต่าง ๆ, สัตว์ป่าด้วยระบบดิจิตอล, การเล่นเกมทายกลิ่นของปลาอันอุดมสมบูรณ์, การเล่นเกมทายชิ้นส่วนของโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ, ห้องจำลองการผลิตเกลือโบราณของคนในพื้นที่ เป็นต้น
กระนั้น ข้อมูลที่จัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยความละเอียดลึกซึ้ง และข้อมูลที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากเป็นแหล่งผลิตเกลือแล้วยังเป็นแหล่งโบราณคดีสำหรับถลุงโลหะและแหล่งศาสนสถาน รวมทั้งสิ้น ๑๑๓ แห่ง กำหนดได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ และที่พิเศษสำหรับฉันก็คือ นิทรรศการกว่าจะเป็นเมืองพิษณุโลก ร่ายเรียงตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทาวารวดี สุโขทัย กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
และแล้วก็ถึงวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ชาวพิษณุโลกไม่มีวันลืม เมื่อโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเสร็จสมบูรณ์และพร้อมใช้งานในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินออกจากอาคารโรงพยาบาลศิริราช มาที่ท่าเทียบเรือ ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือพระที่นั่งมาจอดเทียบท่าและขึ้นประทับที่เกาะเกร็ด และในเวลา ๑๙.๕๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงวางพระหัตถ์ บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการ เป็นการเปิดเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พร้อมกับโครงการชลประทานทั่วประเทศอีกจำนวน ๕ แห่ง ผ่านระบบวิดีโอลิ้งก์
ครอบครัวของฉันเดินออกจากพิพิธภัณฑ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนด้วยหัวใจพองโต เต็มตื้น ท่ามกลางจิตอันหวั่นไหว คิดถึงพระองค์ท่านยิ่งนัก
“ท่านเป็นเทวดาที่มีลมหายใจ” บทเพลงรูปที่มีทุกบ้านแว่วขึ้นในใจ ประโยคนี้มิได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด หากว่ากษัตริย์คือเทพลงมาจุติตามที่หลายคนกล่าวไว้ เช่นนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คงเป็นเช่นองค์สูงสุดแห่งเทพทั้งปวง เป็นพระโพธิสัตว์เสด็จฯ ลงมาโปรดปวงชนชาวไทยเป็นแน่แท้
ยิ่งค้นคว้าศึกษายิ่งลึกซึ้ง หัวใจจึงเต็มตื้นชื่นเหลือล้น
ดุจองค์เทพจุติบันดาลดล ให้ปวงชนพ้นทุกข์สุขร่มเย็น
จริยาวัตรงดงามตามแบบอย่าง ทุกก้าวย่างบากบั่นทำให้เห็น
อีกคำสอนตรึงใจใช้ให้เป็น จดจารเน้นแน่นหนักปักกมล
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๑ มกราคม ๒๕๖๐
ขอบคุณข้อมูล
http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=838846
http://headshot.tnews.co.th/contents/210200
https://th.wikipedia.org
http://www.forest.go.th
ความเห็นล่าสุด