บทความพิเศษ ชุด ตามรอยเวียงจันทน์
ไขปริศนาคำสาป หินฟู งูใหญ่ ช้างเผือก และฆ้องสันติภาพโลก
สู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศลาว
“ประเทศลาวต้องคำสาปมาเป็นระยะเวลากว่า ๑,๐๐๐ ปี ทำให้ประเทศยากจน ไม่พัฒนา เพิ่งจะพ้นคำสาปเมื่อไม่นานมานี้เมื่อมี ๔ ปัจจัยเข้ามา ได้แก่ หินฟูน้ำ พญางูใหญ่ ช้างเผือก และฆ้องสันติภาพโลก”
เสียงบรรยายของชบา ไกด์สาวชาวลาวบนรถบัสขณะมุ่งสู่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อส่งพวกเรา ในนามของสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเดินทางมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่วันที่ ๓ – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ กลับสู่ฝั่งไทย ณ จังหวัดหนองคาย ได้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของฉันขึ้นมาในบัดดล...เรื่องของคำสาปอาจจะเป็นหนึ่งประวัติศาสตร์ ตำนาน หรือเพียงความเชื่อ เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา แต่นี่คืออีกหนึ่งรูปแบบ วิธีคิดอันน่าสนใจ ไม่แตกต่างจากคนไทย ซึ่งดูแล้วจะให้คุณมากกว่าโทษ
ด้วยเวลาอันน้อยนิด ไม่สามารถสอบถามรายละเอียดจากไกด์ชบาได้มากกว่านี้ ฉันจึงต้องกลับมาศึกษา สืบค้น ประมวลและสรุป ออกมาเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวคำสาปของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ย้อนรอยตำนานคำสาปของท้าวศรีโคตรตะบอง
กาลครั้งหนึ่งเมืองเวียงจันทน์เกิดความเดือดร้อน มีช้างป่าจำนวนล้าน ๆ ตัว มาบุกรุกทำลายเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือน เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงประกาศหาคนดีมาปราบช้าง โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า หากผู้ใดปราบช้างได้จะได้รับพระราชทานพระราชธิดาแห่งเวียงจันทน์เป็นคู่ครอง
ครานั้นเอง ท้าวศรีโคตรผู้มีอาวุธวิเศษเป็นพระตะบองเพชร ผู้มีวิชาเก่งกล้าหาผู้ใดเปรียบ รับอาสาปราบช้าง สำหรับท้าวศรีโคตรนี้สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวกูย ซึ่งเป็น ๑ ในกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่เก่งเรื่องช้าง ปราบช้างมาแต่โบราณ มาจากแถบดินแดนศรีโคตรบูรณ์ จึงเรียกว่า ท้าวศรีโคตร และยังมีประวัติศาสตร์บอกเล่าอีกว่า ท้าวศรีโคตรทรงฤทธานุภาพ ฆ่าไม่ตาย และสามารถลากท่อนซุงขนาดใหญ่มาทำกระบอง เพื่อปราบช้างป่านับล้านตัวให้กับ “อาณาจักรเวียงจันทน์” จนเป็นที่มาของ “อาณาจักรล้านช้าง”
เมื่อท้าวศรีโคตรปราบช้างสำเร็จ เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงพระราชทานพระราชธิดา พร้อมสร้างปราสาทให้ ต่อมาเจ้าเมืองเวียงจันทน์ระแวงกลัวว่า ท้าวศรีโคตรจะแย่งบัลลังก์ จึงใช้อุบายต่าง ๆ เพื่อที่จะกำจัดท้าวศรีโคตร แต่ไม่สำเร็จ ท้าวศรีโคตรฟันแทงไม่เข้า จึงคิดอุบายหลอกให้พระราชธิดาไปถามท้าวศรีโคตร ในที่สุดท้าวศรีโคตรก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ด้วยคมหอกทางทวารหนัก ก่อนเสียชีวิตท้าวศรีโคตรได้ร่ายมนต์สาปแช่งนครเวียงจันทน์ให้พบกับความพินาศล่มจม หากจะเจริญก็ให้เป็นแค่ “ให้ฮุ่งเพียงช้างพับหู ฮุ่งเพียงงูแลบลิ้น” และจะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อมีหินฟูน้ำ งูใหญ่ และช้างเผือก
ไขปริศนาคำสาป
ปัจจุบันคนลาวเชื่อว่าคำสาปของท้าวศรีโคตรถูกลบล้างลงแล้ว โดยมีเรื่องราวความสัมพันธ์กับประเทศไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอันสำคัญ
“หินฟูน้ำ” ถูกตีความว่า หมายถึงสะพาน เป็นการเปรียบถึงการที่หินซึ่งอยู่ใต้น้ำได้ฟูลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ และสะพานที่กล่าวถึงก็คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งสร้างขึ้นแห่งแรกที่จังหวัดหนองคาย
“ช้างเผือก” ถูกบางคนตีความว่า หมายถึงฝรั่งหรือชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศลาวเป็นจำนวนมาก มีโครงการลงทุนของประเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายโครงการ
แต่สำหรับช้างเผือกในความหมายของไกด์ชบาลึกซึ้งกว่านั้น ช้างเผือกในที่นี้หมายถึง ผู้มีบุญบารมีหรือมีบุญญาธิการเข้ามาในประเทศลาว นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญและมีนัยหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของลาว ดังข้อมูลจาก http://info.gotomanager.com/news/details. aspx?id=78808 ที่กล่าวไว้ว่า
มองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในพระราชพิธีเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานร่วมกับหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศ แห่ง สปป. ลาว (ในขณะนั้น) ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์และเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง ๒ ประเทศในบริบทใหม่ จากที่เคยระแวงซึ่งกันและกันในช่วงสงครามอินโดจีน กลายเป็นมิตรประเทศคู้ค้าและหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
พระราชพิธีเปิดสะพานจัดขึ้นบริเวณกึ่งกลางสะพาน ซึ่งถือเป็นเขตแดนร่วมกันของทั้ง ๒ ประเทศ
มองในมิติเศรษฐกิจ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ ถือปฐมบทที่ทำให้นโยบายในการปรับยุทธศาสตร์ประเทศของ สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ไปสู่ประเทศ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Land Link) เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะหลังจากได้มีการเปิดใช้สะพานดังกล่าวเป็นต้นมา ภายใน สปป.ลาวได้มีการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมทางบกที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งแนวเหนือ-ใต้และตะวันออก-ตะวันตกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสะพานมิตรภาพแห่งแรกที่หนองคาย ได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ ๒ ที่จังหวัดมุกดาหาร เชื่อมกับแขวงสะหวันนะเขต ในอีก ๑๐ กว่าปีต่อมา
มีการเปิดเส้นทางหมายเลข ๙ เชื่อมระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และเมืองเว้ของเวียดนาม
มีการเปิดใช้เส้นทางสาย R3a ที่เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ต่อขึ้นไปถึงเมืองโม่หานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีเส้นทางอย่างดีวิ่งขึ้นไปถึงเมืองคุนหมิง มลฑลหยุนหนัน
รวมถึงมีการประกาศโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๓ และ ๔ ที่ จ.นครพนม และ จ.เชียงราย ฯลฯ
แต่หากมองในมิติของความเชื่อ การเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพและเส้นทางรถไฟเส้นนี้ถือเป็นการล้างคำสาปที่คนลาวเชื่อและยึดถือมาตลอดกว่าพันปีลงไปได้อย่างสิ้นเชิง
“พญางูใหญ่” ไกด์ชบาเล่าว่า “งูใหญ่เข้าเมืองคือมีรถไฟเข้ามา จากหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดงาน” ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ฉันได้สืบค้น รายละเอียดคือ
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสถานีรถไฟท่านาแล้ง และฉายพระรูปร่วมกับท่านบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศ และคณะ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างไทย-ลาว เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้แก่ สถานีรถไฟท่านาแล้ง ตั้งอยู่บ้านดงโพสี หาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกของประเทศลาว อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางของสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ ๑ เป็นระยะทาง ๓.๕๐ กิโลเมตร สร้างขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย-ลาว เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้าออก (ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org)
เติมเต็มด้วยปริศนาข้อที่ ๔
หินฟูน้ำ งูใหญ่ และช้างเผือก คือคำสาปของท้าวศรีโคตรตะบองที่ฉันสืบค้นพบจากเอกสารข้อมูลต่าง ๆ แต่นอกเหนือจากนี้ ไกด์ชบาได้กล่าวถึงการไขปริศนาคำสาปข้อที่ ๔ นั่นคือ ฆ้องสันติภาพโลก
“ลาวล้างคำสาปข้อที่ ๔ ข้อสุดท้าย คือการได้รับฆ้องสันติภาพโลก โดยลาวเป็นประเทศที่ ๔ ถัดจากเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาเคยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ แต่เราสามารถรักษาเสถียรภาพและความสงบของประเทศไว้ได้” ไกด์ชบากล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
ส.ป.ป.ลาวได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองแห่งสันติภาพประจำปี ๒๕๕๑ โดยทางคณะกรรมการสันติภาพโลกของประเทศอินโดนีเซียได้มอบฆ้องสันติภาพโลกให้กับประเทศลาว เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ปัจจุบันฆ้องสันติภาพโลกตั้งอยู่บริเวณเดียวกับประตูชัย ติดกับสวนสาธารณะ นึกแล้วให้รู้สึกเสียดาย ทั้งที่ฉันได้มีโอกาสไปถ่ายรูปกับประตูชัย แต่ด้วยยังไม่รู้ข้อมูลจึงไม่ได้สนใจเดินไปยลฆ้องสันติภาพโลกนี้
วันนี้เมืองเวียงจันทน์และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหลุดพ้นจากคำสาปแล้ว จะด้วยความเชื่อหรือเหตุผลกลใดก็ตาม ภาพที่ปรากฏแก่ชาวโลกคืด ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลาวมีความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า บนรากฐานแห่งอัตลักษณ์ชนชาติลาวอย่างรวดเร็วและชัดเจน
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร
ละอองดาว โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
๘ มีนาคม ๒๕๖๐
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.travellerfreedom.com
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=78808
http://www.baanjompra.com/webboard/thread-3008-1-1.html
http://palungjit.org/threads
https://www.facebook.com/laomongthai
http://www.baanmaha.com/community/threads/36625
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000036217
http://www.ounon19.com/Aide_de_camp52_1.htm
ความเห็นล่าสุด