บทความพิเศษ…ตามรอยเวียงจันทน์ งดงาม ซาบซึ้ง…ณ หอพระแก้ว หนึ่งตำนานเล่าขานประวัติศาสตร์ชาติลาว

บทความพิเศษ…ตามรอยเวียงจันทน์

งดงาม ซาบซึ้ง…ณ หอพระแก้ว หนึ่งตำนานเล่าขานประวัติศาสตร์ชาติลาว

270360

      การเยือนเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประธิปไตยประชาชนลาวเป็นครั้งแรก ในช่วงระยะเวลาเพียง ๓ วัน คือวันที่ ๓ – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ตามโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช่างเป็น ๓ วันที่มีคุณค่ายิ่ง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ คือความแปลกตา ชวนค้นหา ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ดังเช่น เรื่องของหอพระแก้ว ที่เต็มไปด้วยตำนาน ละลานตาด้วยวัตถุโบราณอันมีมนต์ขลัง

     “เมื่อเข้าไปด้านในแล้ว ห้ามถ่ายรูปนะคะ และต้องถอดหมวก แว่นตาดำ แต่งตัวสุภาพห้ามใส่ขาสั้น เสื้อแขนกุดค่ะ” คำเตือนของชบา ไกด์สาวชาวลาว เล่นเอาดับฝันเราในบัดดล ฉันจึงได้เพียงฟังคำบอกเล่าของชบาบนรถบัส มโนภาพก่อนนำมาผนวกกับของจริงภายในหอพระแก้วขณะเดินชม จากนั้นสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์และถูกต้องที่สุด

รูปปั้นที่คนลาวไม่พึงประสงค์

     “เมื่อเลี้ยวเข้าไปภายในหอพระแก้ว ด้านขวามือจะมีรูปปั้นผู้หญิงกับผู้ชายที่ยกพานดอกไท้ธูปเทียนไว้ ซึ่งนายช่าง (ช่างปั้น) เป็นคนฝรั่งเศสชื่อว่า เปย์รูอินกวาง เป็นคนหล่อรูปปั้นสองรูปนี้ขึ้นมาด้วยทองสัมฤทธิ์ มีความหมายว่า ยกประเทศให้ผู้อื่นปกครอง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา เราไม่เคยยกประเทศให้ผู้อื่นปกครอง” ชบากล่าวเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

     ชบาเล่าต่ออีกว่าก่อนหน้านี้มีรูปปั้นของโอกุสต์ ปาวี ผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ทำให้ลาวตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสถึง ๖๑ ปีจัดแสดงอยู่ด้วย แต่หลังจากที่ลาวประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว ได้ตัดรูปปั้นนี้ไปทิ้งในลุ่มแม่น้ำโขง ภายหลังทางสถานทูตฝรั่งเศสได้ดำน้ำนำเอารูปปั้นขึ้นมาตั้งไว้ ณ บริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน

ไหหิน…ใส่เหล้า ศพ ข้าวของเครื่องใช้?

     “เมื่อเดินต่อไปจะพบกับไหหิน ซึ่งมีมานานกว่า ๒๕๐ ปีแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นไหใส่เหล้าสมัยขุนเจือง ในสมัยนั้นขุนเจืองเป็นคนลาวที่มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้นตระกูลของลาวพวน หลังจากที่รบชนะแล้วได้พาทหารมาฉลองกันที่ทุ่งไหหิน โดยมีการนำหินมาสกัดเป็นไหเพื่อใช้หมักเหล้า ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งคือเป็นสุสานหินใส่คนตายหรือทุ่งไหหินคนตาย เพราะบางไหมีกระดูกคนตายอยู่ บ้างก็มีข้าวของเครื่องใช้อยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศลาวมีทุ่งไหหินอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งทุ่งจะมีประมาณ ๒๕๐ ใบ มีน้ำหนักถึง ๒ ตัน” คำอธิบายของชบา

    เมื่อฉันสืบค้นข้อมูลจาก //th.wikipedia.org/wiki พบว่า ปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานกำเนิดทุ่งไหหิน ๓ ประการ คือ

     ตัดมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทำไว้เพื่อบรรจุคนตายในสมัยก่อน เมื่อพันปีมาแล้ว (ก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปี) ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้นที่ว่า สถานที่ฝังศพคนตายต้องรักษาไว้ในที่สูง เพื่อหลีกเว้นการเซาะพังทลายจากน้ำต่างๆ ดังนั้นจึงเห็นไหหินอยู่ในสถานที่เป็นเนินสูง

     เป็นไหเหล้าของนักรบโบราณ คือตามตำนานกล่าวไว้ว่าระหว่างศตวรรษที่ ๘ นักรบผู้กล้าหาญของลาวผู้หนึ่ง ชื่อว่าท้าวขุนเจือง ได้ยกกำลังพลไปทำสงครามแล้วก็ได้ชัยชนะอยู่ที่เชียงขวาง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ก็ได้ทำการฉลองชัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๗ เดือน ไหที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นไหเหล้าสำหรับเลี้ยงไพร่พลในการฉลองชัยชนะของท้าวขุนเจือง ในคราวนั้น ดังนั้นคนลาวทั่วไปมักเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง”

     เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ

พญานาคกับตำนานความเชื่อ

     “เดินต่อไปจะพบกับรูปปั้นพญานาค เนื่องจากคนลาวนับถือพญานาค โดยมีรูปมังกรอยู่ด้วย ซึ่งมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า พระอินทร์เห็นว่าพญานาคมีอิทธิฤทธิ์ทั้งบนบกและในน้ำ เลยจะแต่งตั้งให้พญานาคเป็นเจ้าถิ่น แต่มังกรไม่ยอมจึงมีการสู้รบกันระหว่างพญานาคกับมังกร พญานาคมีอิทธิฤทธิ์เสมอกันกับมังกร แต่ปรากฏว่ามังกรได้กลืนพญานาคจากหางจนถึงคอ เหลือแต่หัวพญานาค ซึ่งเป็นแบบนี้อยู่ ๓ วัน จนมังกรยอมให้กับพญานาค พญานาคจึงได้เป็นเจ้าถิ่น”

     ด้วยเหตุนี้เองเมื่อถึงวันออกพรรษาจะมีการลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคาและมีการไหลเรือไฟเพื่อบูชาพญานาค ซึ่งตามโบราณสถานจะมีจิตรกรรมฝาผนังรูปพญานาค ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคที่แปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมาขอบวชเป็นพระภิกษุ ด้วยความเลื่อมใสในพระธรรม แต่ไม่สามารถทำได้ จนกลายเป็นตำนานเรื่องเล่ามาจนถึงปัจจุบัน

พระพุทธรูปสำคัญ และบานประตูที่รอดพ้นจากการถูกไฟไหม้

     ไกด์ชบาเล่าต่อว่าด้านบนจะมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติอยู่ในท่ายืนแล้วยกมือหนึ่งข้างพร้อมแบมือเสมือนให้เราหยุด ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ สังเกตบนยอดปลายแหลมพระเกศได้ถูกตัดไปในสมัยสงคราม พระพุทธรูปนี้มีอายุเก่าแก่กว่า ๒๐๐ ปี อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศใดตกเป็นเมืองขึ้น ทรัพย์สมบัติจะถูกยึดเอาไป พระพุทธรูปบางองค์ถูกยกไปทั้งองค์ เหลือแต่ฐาน”

     หอพระแก้วมีพระประทานคือ พระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบางจำลองทำด้วยไม้แล้วเคลือบด้วยทองคำเปลว เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของคนลาว พระบางองค์จริงเป็นพระพุทธรูปทองคำ มีน้ำหนัก ๕๔.๔ กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบาง

     เมื่อเดินออกมาด้านหลังหอพระแก้ว พวกเรานั่งถ่ายรูปกับบานประตูไม้ที่แกะสลักอย่างสวยงาม ชบาจึงเล่าว่า “ประตูหอพระแก้วมีมาแต่โบราณ อายุกว่า ๔๐๐ ปี และเป็นเพียงสิ่งเดียวของหอพระแก้วที่ไม่ถูกทำลาย เพราะเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีหลังเมืองเวียงจันทน์กลายเป็นเมืองร้าง เหลือแต่ดินกับน้ำ บรรดาพระราชวังเก่าแก่ ตลอดจนหอพระแก้วถูกทำลายหมด เหลือแต่บานประตูทางทิศตะวันออก เนื่องจากขณะถูกไฟเผา บานประตูเกิดคว่ำลงมาจึงไม่ถูกไฟไหม้ ปัจจุบันใส่กรอบอนุรักษ์ไว้ ส่วนบานประตูจริงได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปีที่แล้ว”

พระพุทธรูปตัวแทนความรักของพ่อ

     เมื่อชมบานประตูไม้เก่าแก่แล้ว เลี้ยวซ้ายพบกับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเรียงรายกันอยู่ ก่อนที่เราจะเดินผ่านพระพุทธรูปองค์แรกไป ไกด์ชบาชี้ชวนให้ชมแล้วให้สังเกตว่า มีอะไรแตกต่างจากองค์อื่น เมื่อทุกคนตอบไม่ได้ ชบาจึงเฉลยให้ฟัง

    “พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวแทนพระราชธิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ล่องเรือไปบ่อแก้ว แล้วปรากฏว่าเรือล่ม แต่ไม่ใครสามารถช่วยได้ ด้วยกฎห้ามแตะเนื้อต้องตัว”

     เมื่อชบาเล่าถึงตอนนี้ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม พระบรมราชเทวีพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันนี้คือ วัดกู้) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตร ในระหว่างการตามเสด็จฯ พระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอินโดยในขณะที่เรือล่มนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร ทั้งนี้ โศกนาฏกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นหน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านละแวกนั้นจึงร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยชาวบ้านได้เรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า “พระนางเรือล่ม” มานับแต่นั้นเป็นต้นมา

     ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ

     กลับมาที่พระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระราชธิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ชบาเล่าต่อว่า “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงรักพระราชธิดามาก จึงสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมาแทน สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ สัวเกตดีดีจะเห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้แตกต่างจากองค์อื่นคือ นิ้วมือจะเรียวอ่อนช้อย มีความงดงามเหมือนผู้หญิง แต่เศียรถูกตัดไปเมื่อครั้งศึกสงคราม”

     นับว่าโชคดีที่พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ด้านนอกหอพระแก้วเช่นเดียวกับบานประตูไม้โบราณ ฉันจึงมีโอกาสถ่ายรูปมาให้ได้ชื่นชมกัน

     อย่างไรก็ตาม ฉันอดแปลกใจไม่ได้ว่า สามารถสร้างพระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนหรืองดงามเหมือนผู้หญิงได้ด้วยหรือ?

2703601

รู้จักหอพระแก้ว

     จากการสืบค้นข้อมูลหอพระแก้ว (ลาว: ຫໍພະແກ້ວ) พบว่า แต่เดิมหอพระแก้วนั้นเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๘ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากนครเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับประเทศสยาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๒ นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯ มากมาย

      สำหรับหอพระแก้วที่นักท่องเที่ยวเห็นอยู่ในปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๓ ภายใต้การควบคุมดูแลการก่อสร้างของเจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับเอกราชอีกด้วย แม้หอพระแก้วปัจจุบันจะไม่ใช่วัดอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังนครเวียงจันทน์ก็ยังเดินทางมาสักการะบูชากันเป็นจำนวนมาก

ตำนานพระแก้ว (พระแก้วมรกต) และพระบาง

     หากกล่าวถึงพระพุทธรูปที่สำคัญสำหรับชาวล้านช้าง คือ พระแก้วมรกตและพระบาง (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชื่อหลวงพระบาง เดิมนั้นชื่อเมืองเชียงทอง ปัจจุบันพระบางประทับอยู่ที่หอพระบาง) ซึ่งหลายคนกล่าวว่า พระแก้วมรกตและพระบาง หากอัญเชิญอยู่ในเมืองเดียวกันแล้วมักจะเกิดอาเพศ เช่น ในอดีตกาล เมืองหลวงพระบางมีพระพุทธรูปทั้งสององค์อยู่ก็เกิดกบฏเชียงใหม่และพม่าเข้ารุกราน เมื่ออยู่เมืองเวียงจันทน์ ก็โดนกรุงธนบุรีเข้าโจมตี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงได้รับฟังตำนานดังกล่าว และเห็นว่าศิลปะของพระบางควรอยู่คู่กับชาวล้านช้าง (ลาว) มากกว่า จึงทรงพระทานคืนแก่หลวงพระบาง

     ก่อนกลับ แต่ละคนต่างหามุมถ่ายภาพเพื่อเก็บบันทึกความงดงามของสถาปัตยกรรม ที่แน่ ๆ สำหรับฉันแล้วการชมหอพระแก้วครั้งนี้ อัดแน่นด้วยเรื่องราว ประวัติศาสตร์ ตำนาน และยังสัมผัสได้ถึงหัวใจอันอดทน แข็งแกร่งของคนลาว

 

พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ละอองดาว   โฉมสี
นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม

๒๗ มีนาคม ๒๕๖๐

ขอบคุณข้อมูล
//hilight.kapook.com/view/71274
//travel.mthai.com/world-travel/62737.html
//th.wikipedia.org