พบปะชาวไทอาหม ณ รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

2

1

พบปะชาวไทอาหม ณ รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
ศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือด้านชาติพันธุ์

      เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนตรี กรรพุมมาลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน เดินทางไปยังรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย เพื่อศึกษาและสร้างความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาหม อันเป็นผลสืบเนื่อง มาจากการที่ชาวไทอาหมเดินทางมาร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติด้านชาติพันธุ์ในเอเชีย ครั้งที่ ๑ “ชีวิต อำนาจ ชาติพันธุ์” ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

     เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นหนี่งกิจกรรมในโครงการศึกษาชาติพันธุ์ในเขตลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดจนชาติพันธุ์ไท ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และเป็นภารกิจสำคัญของสถานอารยธรรมศึกษา โขง- สาละวิน ในการพัฒนา ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำเผยแพร่ในระดับนานาชาติ

การศึกษา สืบค้นและสร้างความร่วมมือกับไทอาหม ณ รัฐอัสสัม ประเทศอินเดียในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. เข้าร่วมงานปอยแม่ด้ำแม่ผี ประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวไทอาหม
2. มีส่วนร่วมในการอบรมการท่องเที่ยวชุมชน
    – กระบวนการค้นหาภูมิปัญญาดั้งเดิมทางด้านศิลปวัฒนธรรมไท
    – การจัดเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชน
    – การพัฒนาสินค้าจากภูมิปัญญาของกลุ่มชนชาติไท โดยนำผ้าพื้นเมืองมาประดิษฐ์เป็นงิเหงาคำ ตราสัญลักษณ์ของอาณาจักรไทอาหม นับเป็นการพัฒนาองค์ความรู้จากผ้าพื้นเมืองสู่สินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวไทอาหมทั้งผู้หญิงและผู้ชายเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก
3. สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยดิบรูกาห์ (Dibrugarh University) มหาวิทยาลัยที่มีการ เปิดสอนภาควิชาภาษาไทแบบล้านนาผสมกับไทปัจจุบัน พร้อมเข้าชมพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของวิถีชีวิต ประเพณี และเครื่องแต่งกายของชาวไทอาหม โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน การเดินทางครั้งนี้ก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเรื่องผ้าทอชนชาติไทระหว่างกัน เกิดความร่วมมือในเชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านชาติพันธุ์ในเอเชีย ครั้งที่ ๒ ตลอดจนทำบันทึกความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านชาติพันธุ์ต่อไป

ข้อมูลโดยนายนิติวัฒน์ พวงเงิน
นิสิตฝึกงาน ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ใส่ความเห็น