มีอะไรในหนึ่งคำหมาก

143595

มีอะไรในหนึ่งคำหมาก 

เกร็ดงานวิจัย
โครงการสืบค้นตลาดพื้นเมืองกับวิถีชีวิตคนชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก

      เดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้ไปอำเภอแม่สอดเป็นครั้งแรก โดยไปเพื่อนทำการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาหารของแต่ละชาติพันธุ์ในอำเภอแม่สอด ซึ่งผมก็พบว่าในอำเภอแม่สอดนั้นมีความหลากหลายในด้านต่างมากมาย ทั้งด้านเชื้อชาติ เช่น ไทย พม่า อินเดีย กะเหรี่ยง ภาษา เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง ไทใหญ่ หรือแม้แต่ในเรื่องของอาหารการกินก็ยังมีความหลากหลาย ในตลาดแม่สอดนั้นมีอาหารมากมายหลายประเภท ทั้งทีคุ้นตาก็มี หรือที่แปลกและแตกต่างไปเลยก็มี แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจก็คือ หมาก เพราะเมื่อผมเข้าไปที่ตลาดแม่สอดก็เห็นผู้คนต่างพากันเคี้ยวหมากอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปมมีความสนใจเกี่ยวกับหมาก และสนใจโดยเฉพาะด้วยว่าเพราะอะไรคนส่วนใหญ่ที่กินหมากจึงเป็นคนพม่าและหมากนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวพม่า และหมากนั้นเกี่ยวข้องกับชาวพม่าอย่างไร

   เมืองไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากแล้วที่เราจะเห็นคนกินหมาก เพราะผู้ที่ยังคงกินหมากอยู่นั้นก็เห็นจะมีแต่ผู้สูงอายุทีมีอายุมาก ๆ แล้ว (๗๐ – ๘๐ปีขึ้นไป) และถ้าหากเราต้องการที่จะเห็นคนกินหมากก็คงต้องไปดูตามสถานที่ ๆ มีพวกทรงเจ้า เข้าผี หรือไม่ก็บรรดาพระที่เป็นเกจิอาจารย์ หลวงปู่ทั้งหลาย เพราะในปัจจุบันการกินหมากในเมืองไทยนั้นไม่เป็นที่นิยมเหมือนในอดีตแล้ว โดยเหตุที่ทำให้หมากถูกลดความนิยมก็คงจะเป็นผลมาจากนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งมีนโยบายที่จะปรับปรุงสยามให้เจริญก้าวหน้าทันอารยประเทศตามที่ท่านได้ไปดูงานมาในหลายประเทศ จึงออกกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงชีวิตหลายอย่างของประชาชน ห้ามการกระทำหลายอย่าง รวมทั้งการกินหมาก ซี่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแนะนำประชาชนให้เลิกกินหมากอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยชี้แจงโทษของการกินหมากไว้ดังนี้
– ทำให้สถานที่สกปรกเปรอะเปื้อน
– เศษหมากเศษพลูตามซอกฟันทำให้เชื้อโรคเพาะเชื้อได้ง่าย
– กินหมากเสมอทำให้ปลายประสาทชา ความรู้สึกลดน้อยลง จึงรับประทานอาหารปร่า เป็นเหตุให้รับประทานอาหารได้น้อยกว่าที่ควร
– สงสัยว่าการกินหมากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งกรามข้าง อันเป็นโรคร้ายแรงและยังไม่มีทาง รักษาให้หายได้

     โดยรัฐบาลในยุคนั้นเอาจริงเอาจังเรื่องการห้ามกินหมากมากถึงขั้นส่งเจ้าหน้าที่ไปตัดต้นหมากเครือพลูตามบ้านของประชาชนทั้งในเมืองและนอกเมือง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การกินหมากในยุคนั้นเป็นเรื่องต้องห้าม ต่อมาในภายหลังเมื่อหมดยุคของจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้วผู้คนก็กลับมากินหมากกันเหมือนเดิม แต่ได้รับความนิยมน้อยลง

กินหมากวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์
     นอกจากในประเทศไทยแล้ว การกินหมากยังเป็นวัฒนธรรมร่วมที่แพร่หลายมายาวนานในภูมิภาคเอเชีย ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะที่ไต้หวัน จีนตอนใต้ เอเชียใต้ เช่น อินเดียใต้ ปากีสถาน ศรีลังกา พม่า รวมไปถึงหลายหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

   ต้นกำเนิดของหมากนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจมีแหล่งอยู่ในแถบเอเชียนี้เอง การกินหมากที่แพร่หลายในอินเดียใต้และจีนตอนใต้ โดยถูกนำเข้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบเกาะชวา และเกาะสุมาตราที่ดูแล้วจะเป็นแหล่งผลิตและตลาดรายใหญ่ในอดีต มีหลักฐานของจีนกล่าวว่า การกินหมากพลูแพร่เข้ามาทางตอนใต้ของจีนในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยเอกสารชิ้นหนึ่งในปลายสมัยราชวงศ์ถัง ได้มีการระบุถึงการนำเข้าหมากมาจากพม่า

หมากสยามหายไปแต่ในพม่ายังคงนิยม
    ในพม่านั้นวัฒนธรรมการกินหมากยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมฮิตติดตลาด ซื้อง่ายขายคล่อง มีขายทุกถนน ทุกแห่งเลยก็ว่าได้ หมากในภาษาพม่าเรียกว่า กุนยา กวินหย่า หรือคุนยา ในปัจจุบันร้านขายหมากในพม่านั้นมีมากเหมือนกับร้านขายขนมหรือแผงลอยขายของที่ตั้งอยู่ริมทางเท้าของบ้านเรา และราจะพบเห็นป้ายต่าง ๆ ที่เขียนว่า “ห้ามบ้วนน้ำหมาก” ติดอยู่ตามถนนจนชินตา ร้านขายหมากในพม่านั้นมีขนาดค่อนข้างกะทัดรัด มีอุปกรณ์สำคัญคือโต๊ะเล็ก ๆ บนโต๊ะมีขวดและกระปุกเครื่องปรุงรสหลากหลายให้เลือก สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือใบพลูที่ถูกวางเรียงเป็นชั้น ๆ เมื่อลูกค้ามาสั่งซื้อใบพลูจึงถูกนำมาวางเรียงทีละใบแล้วปรุงรสตามความต้องการของลูกค้า หมากนั้นมีชนิดเรียกว่า “หมากหวาน” และ “หมากเมา” หมากหวานจะมีรสหวานและไม่ใส่ใบยาสูบ ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญที่ใส่ใน “หมากเมา” อาการเมาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่เพิ่งทดลองกินหมากครั้งแรก

   การกินหมากเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวพม่ามายาวนาน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในอดีตชาวพม่าต้อนรับแขกที่มาเยือนด้วยหมาก บุหรี่ และเมี่ยง ซึ่งหมากนี่เองที่ทำให้การพบปะพูดคุยสนุกสนานมากขึ้น วัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ต้องการให้แขกได้รับ 3 สิ่งดังกล่าว ไม่ว่าเจ้าบ้านจะเสิร์ฟสิ่งอื่นไปแล้วก็ตาม หมากจะเป็นสิ่งที่ภูมิใจเสนอที่สุดในบรรดาสามสิ่งที่ได้กล่าวมานั้น ปัจจุบันในหลาย ๆ บ้านยังนิยมใช้เชี่ยนหมากต้อนรับแขกที่มาเยือน เพราะชาวพม่าเชื่อว่ามิตรภาพของชาวพม่าจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากการเสิร์ฟหมากพลู
ความหลากหลายในหนึ่งคำหมาก

   คำหมากคือใบพลูทาด้วยปูนขาว ใส่หมากชิ้นเล็ก ๆ สีเสียดเล็กน้อย และยาเส้น ตามด้วยเครื่องปรุงที่ช่วยเพิ่มเติมรสชาติ เช่น อบเชย กระวาน ยี่หร่า การบูร กานพลู ชะเอม สีเสียด และมะพร้าวแห้ง ส่วนผสมทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณทางยาในตัวเองทั้งหมด เช่น
– ใบพลู ช่วยกระตุ้นน้ำลาย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด มีฤทธิ์เป็นยาชา และดับกลิ่นปาก
– หมาก ทำให้เหงือกแข็งแรง เป็นยาสมานแผล ปากเปื่อย รักษาอาการท้องเดิน ท้องเสีย แก้บิดปวดเบ่ง แก้ปวดแน่นท้อง ฆ่าพยาธิ ขับปัสสาวะ
– กระวาน มีฤทธิ์ในการขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
– สีเสียด แก้ปากเป็นแผล
– ชะเอม มีรสหวานชุ่มคอ ขับเสมหะ

บอกรักผ่านคำหมาก
   พม่าในอดีตนั้นการยื่นหมากให้แก่กันแสดงถึงความพึงพอใจที่ผู้ยื่นมีให้ต่อผู้รับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเห็นได้จากการจีบกันกันระหว่างหนุ่มสาว หากหญิงสาวถูกใจชายหนุ่มคนใดก็จะจัดแจงบรรจงจีบหมากมอบให้แก่ชายผู้นั้นเพื่อเป็นความนัยว่าตนเองนั้นมีใจชอบพออยู่ หนุ่ม ๆ พม่านั้นจะพากันไปจีบสาวเป็นกลุ่ม ๆ ไม่มีการฉายเดี่ยวไปคนเดียว แต่ถ้าหนุ่มคนใดเกิดเข้าตา ฝ่ายหญิงก็จะบรรจงจีบหมากส่งให้กับชายหนุ่มผู้โชคดีคนนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้เพื่อนที่มาด้วยกันรู้ว่าหมดสิทธิ์แล้วและไปบ้านอื่นแทน

  มีเรื่องตลกเล่าว่า ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ พ่อค้าชาวอังกฤษคนหนึ่งนำของกำนัลมาเข้าเฝ้านางสนม และเขาได้รับมอบหมากเป็นการขอบคุณ หลังจากรับหมากที่นางสนมคนนั้นหยิบออกมาจากเชี่ยนหมากแล้วเขากลับนำไปเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นที่ขบขันของพวกนางกำนัลที่ได้เห็นฝรั่งไม่รู้ธรรมเนียมและความหมายของการมอบหมากของคนพม่า

   เห็นได้ว่าวัฒนธรรมการกินหมากนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังมีให้พบเห็นได้แทบจะทั่วทั้งภูมิภาคเชีย ถึงแม้ว่าความนิยมในการกินหมากในบางพื้นที่ บางชุมชน บางประเทศกำลังค่อย ๆ เลือนหายไป แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ หลายประเทศที่วัฒนธรรมการเคี้ยวหมากนี้ยังคงฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวพม่า

นายธีรวัฒน์ ศรีจันทร์
นิสิตฝึกงานสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา
http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=540488426087783&id=175638745906088
http://newslifeclub.blogspot.com/2012/09/acho-kunhsay-laphet-piper-betel-bagan.html