“ทานาคา”…แป้งของคนท้องถิ่น
เกร็ดงานวิจัย
โครงการสืบค้นตลาดพื้นเมืองกับวิถีชีวิตคนชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก
หากคุณเคยไปเที่ยวแถวชายแดนไทย – พม่า คุณคงเห็นภาพชาวพม่าหรือคนไทยจำนวนหนึ่งนิยมนำผงสีเหลืองมาทาบริเวณใบหน้าและนำมาวางขายกันเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่นที่นำธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลาหนึ่งผู้เขียนได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่าการใช้แป้งทานาคาของแม่ค้าตามชายแดน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณตลาดริมเมยหรือบริเวณเมืองเมียวดี ประเทศพม่า มีวัฒนธรรมการใช้แป้งทานาคาที่เหมือนกัน
นับตั้งแต่บรรพกาลนานมา
มนุษย์กับความรักสวยรักงามถือเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะกับความงามทางร่างกายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรือนร่าง ผิวพรรณ หน้าตา ที่ดูเหมือนว่าทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่ในโลกต่างให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ แต่ละสังคม วัฒนธรรม ต่างก็มีรสนิยมด้านความงามแตกต่างกันออกไป ในเมืองไทยนอกจากความงามตามจารีตของกุลสตรีไทยที่ นุมนวล อ่อนโยน หน้าหวานชดช้อยแล้ว ความงามแบบ “ผิวพม่า นัยน์ตาแขก” นับเป็นคำพังเพยที่แฝงคตินิยมด้านความงามที่ชาวไทยมีต่อสาวพม่าและสาวแขก สำหรับผู้หญิงพม่าแล้ว ผิวที่ดีเต่งตึงและใบหน้าที่เนียนผ่องมาจากการดูแลรักษา โดยสาวพม่าดำรงวิธีการดูแลรักษาผิวพรรณด้วยเนื้อไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมสืบทอดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน เป็นวิธีอันเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน นั่นก็คือ ทานาคา
ความงามที่ได้จาก….. ธรรมชาติ
นาคาเป็นเครื่องประทินผิวโบราณและได้พัฒนากลายมาเป็นเครื่องสำอางที่ขายทั้งในประเทศพม่าและประเทศใกล้เคียง สาวพม่าใช้แป้งชนิดนี้ทาหน้ามายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี เป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ ทานาคามีที่มาจากต้นทานาคา ซึ่งมีมากในแถบตอนกลางของพม่า ส่วนที่มีกลิ่นหอมและเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ คือ ส่วนที่เป็นเปลือก การนำทานาคามาใช้จะเลือกต้นทานาคาที่มีอายุราว ๆ ๓๕ ปี ตัดเป็นท่อน ๆ ขนาดพอดีมือแล้วใช้ส่วนของเปลือกไม้บดกับหินขัดพร้อมพรมน้ำเป็นระยะ จะได้ออกมาเป็นผงสีออกขาวเหลือง ใช้ทาหน้า ทาตัว ถือเป็นวิธีดั้งเดิมของคนสมัยก่อน ลักษณะของลำต้นจะตั้งตรง สูงประมาณ 10เมตร เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง กิ่งและก้านตั้งฉากกับลำต้น มีหนามยาวเล็กคล้ายกิ่งสั้น ๆ ดอกเป็นช่อสีขาว ผลกลมสีเหลืองสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการขยายเมล็ด ซึ่งในประเทศไทยก็มีต้นไม้ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับต้นทานาคาคือต้นพญายา นอกจากจะใช้เป็นแป้งทาหน้าแล้วยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เช่น ใบแก้โรคลมบ้าหมู ผลแห้งแก้พิษ แก้ไข้ ท้องอืดเฟ้อ บำรุงร่างกาย รากเป็นยาระบาย ขับเหงื่อ และลำต้นใช้ฝนกับน้ำสะอาดทาหน้าแก้สิวฝ้า ป้องกันการอักเสบของผิวหนังบำรุงผิว
ดินแดนพม่ามีการใช้สมุนไพรธรรมชาตินี้มานานและยังคงใช้กันจนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไปแล้วก็ว่าได้ และทานาคาเองก็ยังบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีชาติใดเหมือนในโลก เพราะเห็นใบหน้าแบบนี้รู้ได้ทันทีว่าเป็นประชากรประเทศพม่า แม้ว่าจะมีเครื่องสำอางที่ทันสมัยเข้ามาเผยแพร่ในพม่ามากเท่าใด ก็ไม่สามารถทำให้การใช้ทานาคาลดลงไปได้เลย ทานาคายังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย เพราะเหมือนเป็นสมบัติประจำบ้านที่ทุก ๆ บ้านจะต้องมีทานาคาไว้บนโต๊ะเครื่องแป้ง แม้จะเขียน คิ้ว ทาปาก ใช้เครื่องสำอางอื่น ๆ ผสม สุดท้ายก่อนออกจากบ้านก็ต้องทาทานาคาอยู่ดี
ตลาดริมเมยกับวัฒนธรรมทานาคา แม่สอด มีความหลากหลายทางเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นคนไทย พม่า กะเหรี่ยง มุสลิม ฯลฯ ที่สามารถผสมกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี ทำให้แม่สอดมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมชวนให้มาลองสัมผัสในเสน่ห์ความงามของแม่สอด หนึ่งในนั้นคงไม่พ้น “ตลาดริมเมย” ตลาดซื้อขายสินค้าชายแดนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมย หรือที่ชาวพม่าเรียกแม่น้ำตองยิน อันเป็นเส้นแบ่งพรมแดนของไทยและพม่า ตลาดแห่งนี้คงได้รับวัฒนธรรมจากพม่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสภาพที่ตั้งอยู่ใกล้พม่าด้วยแล้วทำให้การรับวัฒนธรรมพม่าของคนไทยเป็นที่นิยมและคัดสรรเฉพาะที่แปลกใหม่ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เครื่องประทินผิวแบบพม่า เช่น ทานาคา ที่เป็นที่นิยมของคนไทยและคนพม่าเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งแม่ค้าตามร้านค้าต่าง ๆ ในตลาดริมเมยก็ยังทาทา
นาคาเต็มใบหน้า ถ้านึกถึงพม่าไม่ว่าไปทางไหนจะพบเห็นผู้หญิงแก่ หญิงสาว และเด็กหญิง หรือแม้แต่เด็กชายและชายหนุ่ม ทาหน้าด้วยทานาคากันอย่างภาคภูมิใจ ทานาคาถือว่าเป็นสมุนไพรที่สร้างประโยชน์ให้กับคนพม่ามาช้านานสร้างตัวตนให้ผู้คนภายนอกได้รู้จักกับชาวพม่าได้อย่างดี ความเป็นสมุนไพรของทานาคาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในแบบของตัวเอง
ปัจจุบันหลังจากพม่าเปิดประเทศอย่างจริงจังได้ประมาณ ๓ ปี มีเครื่องสำอางสมัยใหม่จากต่างประเทศทะลักเข้าประเทศ พร้อมกับป้ายโฆษณาความสวยแบบสมัยใหม่ที่ใช้สารพัดเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเฉพาะหญิงบ้านนอกเท่านั้นที่เขาใช้ทานาคากัน หญิงสมัยใหม่หันมาใช้เครื่องสำอางสมัยใหม่กันแล้ วอย่างไรก็ดีมีผู้ผลิตทานาคาสมัยใหม่ออกมาสู้เพื่อความสะดวกและเพื่อลด ‘ความเป็น บ้านนอก’ ด้วยการผลิตครีมทานาคาในหลอดหรือเป็นกระปุกโดยตั้งใจเอาใจผู้คุ้นเคยทานาคาและรักความเป็นสมัยใหม่ด้วย
นายนิติวัฒน์ พวงเงิน
นิสิตฝึกงาน ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ขอบคุณที่มา
http://yingchom.blogspot.com/2011/05/blog-post.html
http://www.rtc.ac.th/www_km/03/032/125603.pdf
http://www.oknation.net/blog/borderline/2012/06/11/entry-1
http://www.varakorn.com/page.php?id=253
ความเห็นล่าสุด