ทำไมต้องเป็นโรตีโอ่ง
เกร็ดงานวิจัย
โครงการสืบค้นตลาดพื้นเมืองกับวิถีชีวิตคนชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก
ก่อนเดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาหารชาติพันธุ์ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผมได้ยินพี่ ๆ ที่ทำงานอยู่ห้องเดียวกันพูดถึงโรตีโอ่งแม่สอด ผมก็นึกขึ้นมาในใจว่า “โรตี กับ โอ่ง มันจะไปเกี่ยวกันได้ยังไง” จนกระทั่งเช้าวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙ ผมและพี่ ๆ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลที่ร้านโรตีโอ่งซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าปศุสัตว์แม่สอด ภาพแรกที่ผมเห็นเมื่อลงจากรถก็คือ ร้านเล็ก ๆ ชั้นเดียวขนาดสองคูหาที่เจาะผนังให้ทะลุหากันได้ คลาคล่ำไปด้วยลูกค้า ทั้งที่นั่งรอ ยืนรอเพื่อสั่งกลับบ้าน บ้างก็กำลังมีความสุขกับการรับประทานโรตีโอ่งร้อน ๆ กับกาแฟ นมสด และโอวัลติน
เมื่อได้โต๊ะนั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกพี่ ๆ สั่งโรตีโอ่งให้คนละหนึ่งแผ่น พร้อมด้วยเครื่องดื่มตามชอบ ตัวผมเองนั้นสั่งเป็นนมสดร้อน ระหว่างรอโรตีกับเครื่องดื่มที่สั่งไป ผมก็สังเกตเห็นว่าทุกโต๊ะจะมีกาน้ำร้อนและแก้วเล็ก ๆ วางอยู่ทุกโต๊ะ ด้วยความสงสัย พี่โจ๊กที่นั่งอยู่ด้วยกันจึงเปิดกาดูและดมพิสูจน์ ผลสรุปก็คือในกานั้นใส่ชาร้อนไว้ให้ลูกค้าได้ดื่มระหว่างรอโรตี
หลังจากดื่มชากันคนละนิดละหน่อยแล้ว โรตีกับเครื่องดื่มก็มาเสิร์ฟพอดี ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ลงตัวมาก กับการดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ ในตอนเช้ากับขนมปังจุ่มนมข้นหวาน ๆ เพราะส่วนตัวแล้วคิดว่าโรตีนั้นก็ไม่ต่างอะไรไปจากขนมปังแผ่น อยู่ที่กระบวนการและวิธีทำ รสชาติแรกที่ได้รับจากการรับประทานโรตีก็คือ ความหนานุ่มของโรตีบวกกับความหวานของนมข้น ซึ่งผมว่ามันลงตัวกันเป็นอย่างมาก
ในส่วนของวิธีการทำโรตีโอ่งนั้นแตกต่างจากการทำโรตีธรรมดาอย่างที่ผมคิดจริง ๆ เริ่มจากการนำแป้ง ซึ่งเป็นแป้งแบบเดียวกับที่ใช้ทอดปาท่องโก๋มานวดให้เป็นแผ่นขนาดเท่า ๆ กับจานข้าว แล้วนำไปแปะไว้ที่ด้านในของโอ่งที่ใส่ถ่านไว้ด้านใน (คล้าย ๆ กับการอบพิซซ่า) ทิ้งไว้สักพักจนแป้งสุก โดยสังเกตได้จากการพองของแป้ง จากนั้นก็จะใช้เหล็กแหลมขนาดเท่า ๆ กับตะเกียบเขี่ยโรตีออกมาวางขาย
ระหว่างการรับประทานนั้นลูกค้าในร้านก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเรื่อย ๆ อย่างไม่ขาดสาย สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทางร้านจะเสิร์ฟให้ลูกค้าที่นั่งรับประทานในร้านก่อน และให้ลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านยืนรอ เพราะผมและพี่ ๆ ในโต๊ะสังเกตเห็นว่ามีลูกค้าบางรายยืนรออยู่นานมากแล้ว ด้วยความสงสัย พี่เจี๊ยบจึงได้ไปถามคนขายและได้คำตอบกลับมาว่า ถ้าเค้ามาซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านแสดงว่าเค้ารอได้ แต่ลูกค้าที่มานั่งในร้านเค้ามาแล้วก็ต้องไปทำธุระที่อื่นต่อ จึงต้องให้ลูกค้าที่นั่งร้านก่อน พวกเราจึงคลายความสงสัยไปได้
ลูกค้าร้านโรตีโอ่งนั้นมีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม รวมไปถึงพม่า และนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย หลังจากรับประทานทานเสร็จ ก็พอดีกับลูกค้าเริ่มซา จึงทำให้ผมและพี่ ๆ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณยายพรทิพย์พอดิบพอดี
“ร้านโรตีโอ่งนี้ยายและสามีซึ่งเป็นแขกมาจากประเทศอินเดียเปิดขายมา ๓๐ กว่าปีแล้ว ขายทุกวัน ตั้งแต่ ๐๔.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. แต่ประมาณ ๐๙.๐๐ น. ก็ใกล้จะหมดแล้ว พอสามีเสียชีวิต เลยส่งต่อให้น้องชายและลูก ๆ หลาน ๆ ดูแล”
“เมื่อก่อนเริ่มขายที่แผ่นละ ๑ บาทเท่านั้นเอง ต่อมาก็ต้องเพิ่มราคาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะค่าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจนเป็นแผ่นละ ๕ บาทในปัจจุบัน ในการรับประทานโรตีนั้นนอกจากจะจิ้มกับนมข้นแล้วก็ยังมีแกงไว้กินเคียงกับโรตีด้วย แต่ในวันนี้ทางร้านไม่ได้ทำไว้เนื่องจากมีหลาน ๆ มาจากกรุงเทพฯ จึงไม่ว่างทำ”
ก่อนกลับคุณยายทิ้งท้ายกับเราว่า “ถ้ามาคราวหน้าโทรมาบอกก่อนนะ จะทำแกงเตรียมไว้ให้กิน”
จากการเดินทางเพื่อไปสำรวจและเก็บข้อมูลในครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้ถึงความเป็นมาและได้ลองลิ้มชิมอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นทั้งอาหารหลักและของทานเล่นในจานเดียวกันได้ ซึ่งอาหารชนิดนั้นก็คือ โรตีโอ่งนั่นเอง
นายธีรวัฒน์ ศรีจันทร์
นิสิตฝึกงานสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ความเห็นล่าสุด