สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิ “ปากพิง” ณ เมืองสองแคว
แม่ของฉันท่านเคยบอกว่า “จงภูมิใจที่เกิดเป็นคนจังหวัดพิษณุโลก” เพราะพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีประวัติเก่าแก่มาช้านาน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ผู้คนที่เกิดที่นี่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธชินราช เป็นลูกเป็นหลานพระนเรศวร ฉะนั้นนอกจากความภาคภูมิใจแล้ว เรายังต้องตระหนักถึงความสำคัญของสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ ที่ไม่ว่ามาเยือนครั้งใดก็ยังคงความงดงามอยู่เสมอ
ในจังหวัดพิษณุโลกมีสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นทางการรบ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระราชวังจันทน์หรือวัดใหญ่เลย สถานที่นั้นคือ “บ้านปากพิง” นั่นเอง
อะไรคือ ปากพิง??
(แผนที่สังเขป : ภาพจาก //www.iseehistory.com) (คลองปากพิง : ภาพโดย เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์)
มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาโดยชาวบ้านชุมชนปากพิงจากรุ่นสู่รุ่น ประมาณ ๓-๔ ชั่วอายุคนว่า “ปากพิง” คือ ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำน่านทั้งตะวันตกและตะวันออก มีคลองที่เชื่อมแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมเอาไว้ก็คือ “คลองพิง” หรือ “คลองปากพิง” อยู่ในเขตตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง ผ่านไปยังตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ ไปจนถึงแม่น้ำยม ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกอีกชื่อว่า ปากคลองกรับพวง หรือปากคลองกระพวง
คลองปากพิงมีระยะทางประมาณ ๗-๘ กิโลเมตร เป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของเมืองสองแคว (จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน) และเป็นพื้นที่ที่มีจุดยุทธศาสตร์การรบก่อนจะเข้าตีเมืองสองแควของฝ่ายข้าศึก นั่นคือจะต้องเข้ามาตัดกำลังพลหรือเสบียงที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ในสมัยนั้นมีการสร้างสะพานกลเพื่อใช้ในการสงคราม เช่น หลอกล่อศัตรูให้หลงกล
ประวัติศาสตร์การสู้รบที่ปากพิงในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
– ศึกอะแซหวุ่นกี้
พระเจ้ามังระมีความประสงค์จะตีสยามให้ได้โดยเด็ดขาด เมื่อมีโอกาสอันเหมาะแล้ว พระเจ้ามังระจึงมอบหมายให้อะแซหวุ่นกี้จัดกองทัพเคลื่อนมาทางด่านแม่ละเมา เข้าทางเมืองตาก ที่หมายคือเมืองสองแควเป็นอันดับแรก แล้วขยายผลเพื่อเข้าตีเมืองหลวง (กรุงธนบุรี) ต่อไป ทัพหน้าเป็นทัพที่ ๑ มีจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ คน ซึ่งมีกะละโป่ มังแยยางู ผู้เป็นน้องชายเป็นแม่ทัพ และอะแซหวุ่นกี้กับตะแคงมาหนองเป็นทัพหลวงเพื่อเดินทัพเข้าสยาม ตามรายทางเจ้ากรมเมืองต่าง ๆ ต่างหลบหนีหลีกเลี่ยงการรบ
ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งให้พระยาสุรสีห์ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสองแคว และขณะที่ข้าศึกยกทัพมานั้น เจ้าเมืองสองแควและเจ้าพระยาจักรีผู้เป็นสหายร่วมรบอยู่ระหว่างการทำศึกเข้าทำลายขุมกำลังพม่าเชียงแสน และเมื่อรู้ข่าวว่าอะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาหมายจะยึดเมืองสองแคว ทั้งสองพระองค์จึงรีบยกทัพกลับมาต่อสู้ป้องกันเมืองเพื่อรอทัพหลวง
– สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรับทราบจากหน่วยข่าวกรองว่า พม่าจะยกทัพเข้ามาทางเหนือ เคลื่อนมาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก พระองค์จึงรับสั่งให้เคลื่อนทัพมาที่เมืองสองแควเพื่อช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ (เจ้าเมืองพิษณุโลกสองแคว) และเจ้าพระยาจักรี (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพมาถึงแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านเพื่อตั้งสกัดกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ที่บ้านปากพิง แล้วทรงตั้งค่ายหลวงอยู่ที่ปากพิงด้วย จากนั้นทรงสั่งให้แม่ทัพนายกองจัดทัพไปตั้งอยู่อีก ๒ ฟากแม่น้ำ ตั้งแต่กองทัพหลวงขึ้นไปเป็นระยะ ๆ จนถึงเขตเมืองสองแคว (ระยะทางประมาณ ๒๐ กม.) ระยะที่ ๑ ตั้งอยู่ที่บางทราย พระยาราชสุภาวดีเป็นนายทัพ ระยะที่ ๒ ตั้งที่ท่าโรง เจ้าพระยาอินทรอภัยเป็นนายทัพ ระยะที่ ๓ ตั้งที่บ้านกระดาน พระยาราชภักดีเป็นนายทัพ ระยะที่ ๔ ตั้งที่วัดจุฬามณี ให้หมื่นเสมอใจราชเป็นนายทัพ ระยะที่ ๕ ตั้งที่วัดจันทร์ตะวันออก ให้พระยานครสวรรค์เป็นนายทัพ
ครั้นเมื่อทัพหลวงตั้งค่ายเสร็จ จากนั้น ๓ วัน อะแซหวุ่นกี้จึงจัดทัพมาเผชิญหน้าค่ายไทย (ดังข้อความในหนังสือไทยรบพม่า : พระนิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) การศึกครั้งนี้ยังได้มีตำนานเล่าอีกด้วยว่า ที่ปากพิงไทยเราได้สร้างสะพานกลหรือสะพานหกกระดกไว้เพื่อหลอกให้ทหารพม่าเดินข้ามและตกลงไปในแม่น้ำ ฝ่ายไทยจึงได้ใช้ปืนยิงระดม และจมน้ำตายจำนวนมาก (เมื่อคราวที่ขุดคลองชลประทานเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองได้พบท่อนซุงขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งอยู่ใต้ดินจึงสันนิษฐานว่า เป็นท่อนซุงที่เหลือจากการสร้างสะพานกล เมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่ทราบว่าท่อนซุงดังกล่าวหายไปอยู่ที่ใด) สำหรับผลการรบในครั้งนี้ ถึงแม้ฝ่ายไทยเราจะมีกำลังน้อยกว่าข้าศึกถึง ๓ เท่า แต่ข้าศึกก็ไม่สามารถกำชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งในภายหลังเราสามารถขับไล่ข้าศึกและตามจับเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก
เมื่อได้ไปเยือนสถานที่จริงครั้งอดีต
ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมานี้ ฉันได้มีโอกาสติดตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน เดินทางไปยังวัดปากพิงตะวันตก หมู่ ๒ ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเข้าร่วมพิธีบวงสรวงและบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะวันนี้ของทุกปีถือเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าพระองค์ท่านมีบุญคุณกับพวกเราชาวไทยและแผ่นดินไทยมากเพียงใด
(ป้ายศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก : ภาพโดย เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์)
เมื่อเข้ามาภายในงานบวงสรวง สิ่งแรกที่เข้ามาในสายตาของฉันก็คือ ป้ายศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากนั้นเมื่อมองเลยไปจะเห็นศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งตระหง่านอยู่ ในพิธีมีผู้คนมากมาย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ข้าราชการระดับสูง ไปจนถึงชาวบ้านที่มาร่วมงาน พิธีบวงสรวงเป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อฉันได้ฟังพระสงฆ์และเจ้าพิธีในงานท่องบทสวดต่าง ๆ ที่มีไว้สำหรับบวงสรวง ทำให้ฉันเกิดอาการขนลุกชันไปทั่วทั้งกาย และจะด้วยมนต์ขลังหรือสิ่งใดก็ตามแต่ ทำให้ฉันต้องการที่จะเข้าไปเห็นบรรยากาศภายในพิธีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จึงค่อย ๆ เดินเข้าไปถ่ายรูปพิธีเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก ว่าในครั้งหนึ่งฉันเคยมาร่วมพิธีบวงสรวงอันศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก
(ภายในงานพิธีบวงสรวง : ภาพโดย เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์)
นอกจากนี้ในงานยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชื่อโครงการ ค่ายสอนประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งจะมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการศึกและการรบของพระองค์ท่าน มีทั้งแผนที่การเดินทางยามไปรบในแต่ละครั้ง ตลอดจนพระแสงดาบจำลอง (สั่งตีขึ้น ณ เมืองอุตรดิตถ์ บ่อเหล็กน้ำพี้ บ้านทองแสงชัน โดยครูเข้ม) เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมบารมีของพระองค์ท่าน อีกทั้งมุ่งปลุกจิตสำนึกความเป็นไทยและความภาคภูมิใจของคนในชาติอีกด้วย
(ภาพบรรยากาศในนิทรรศการ : ภาพโดย เสาวลักษณ์ ภู่พงษ์)
จากที่เคยได้ฟัง กลับกลายเป็นผู้ที่ต้องเล่าขานให้ผู้อื่นได้ฟังสืบต่อไป ด้วยความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ฉันเป็นเพียงชนรุ่นหลังที่ได้ยินได้ฟังเพียงเรื่องเล่ามาเท่านั้น ไม่ว่าจะเล่าโดยคนรุ่นก่อน หรือหนังสือที่เก็บเรื่องราวประวัติศาสตร์เอาไว้ ไม่ว่าจะฟังหรืออ่านกี่ครั้งก็ยังรู้สึกภูมิใจ และฉันคิดว่าแต่นี้ต่อไปฉันจะต้องเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ลูก ให้หลานฟังสืบไป แม้จะต้องเล่าเรื่องเดิม ๆ เหตุการณ์เดิมซ้ำ ๆ แต่ฉันก็อยากเล่า เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะที่เรามีประเทศอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เนื่องด้วยเรามีพระมหากษัตริย์ที่มีความสามารถทางด้านการรบและการศึกสงครามเช่นท่าน บุรุษผู้ยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูในวันที่ผู้อื่นท้อถอย ประเทศไทยโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์มากความสามารถไม่ว่าจะเป็นยุคสมัย
“พวกเรามีอยู่..เพื่อเชื่อมต่ออดีตอันไกลโพ้นกับอนาคตอันแสนไกล”
ความเห็นล่าสุด